เฟ้นหา ‘ช้างเผือก’ ตอบโจทย์พัฒนาประเทศ เปลี่ยนวัฒนธรรมการดูแล นศ.สายอาชีพ

เฟ้นหา ‘ช้างเผือก’ ตอบโจทย์พัฒนาประเทศ เปลี่ยนวัฒนธรรมการดูแล นศ.สายอาชีพ

เป็นการบรรจบกันของการป้อนทรัพยากรบุคคลคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน และมอบโอกาสให้กับคนที่มีแนวโน้มหลุดออกจากระบบการศึกษา ให้ได้เรียนรู้ศาสตร์ซึ่งเขาสามารถมองเห็นทิศทางในการทำงาน เห็นอาชีพในอนาคตของตัวเองไปด้วย

ขณะที่ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงได้เวียนมาบรรจบครบรอบ 1 ปี โดยรุ่น 1 จะก้าวขึ้นไปเป็นรุ่นพี่ คอยนำประสบการณ์มาช่วยดูแลน้องๆ ส่วนรุ่น 2 ก็กำลังเตรียมตัวเปิดเทอมเพื่อรับบทบาทนักศึกษาทุนอย่างเต็มตัว

โอกาสนี้ อ.อินทร์ธิรา คำภีระ หรือ ‘อ.จอย’ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิจากทีมหนุนเสริมโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่คลุกคลีกับสถาบันฯ สายอาชีพ คณาจารย์ และน้องๆ เด็กทุนฯ มาตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งในการลงพื้นที่ค้นหานักศึกษา ตลอดจนติดตามการดำเนินการเรียนการสอนและการดูแลนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง มาตลอด 1 ปี เห็นว่าเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสม ที่จะย้ำถึงความสำคัญของทุนนี้อีกครั้ง เพื่อต้อนรับน้องๆ รุ่น 2 ที่เพิ่งเดินเข้ามา

อ.อินทร์ธิรา คำภีระ หรือ ‘อ.จอย’ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

อ.จอย กล่าวว่า แม้จุดเริ่มต้นของทุนจะคล้ายคลึงกับหลักเกณฑ์ของทุนการศึกษาทั่วไป คือการสร้างโอกาสในการเรียนสายอาชีพให้กับเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่หัวใจสำคัญของทุนฯ จริงๆ แล้ว คือการค้นหาเด็กที่มีความรู้ความสามารถและมอบโอกาสให้ได้พัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ ซึ่งนำไปสู่ความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการผลิตบุคลากรสายอาชีพชั้นนำ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

“การเรียนสายอาชีพเป็นหลักสูตรที่เน้นการลงมือปฏิบัติ นศ. จึงต้องใช้ต้นทุนค่อนข้างสูงกับวัสดุอุปกรณ์ จึงเป็นไปไม่ได้เลยว่าเด็กจากครอบครัวที่มีรายได้ระดับล่างสุด คือเฉลี่ยต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน เขาจะสามารถเข้ามาเรียนได้ แต่สิ่งที่ทุนนี้จะสร้างความแตกต่างที่แท้จริงเป็นเรื่องของกระบวนการเฟ้นหา ช้างเผือกหรือเด็กที่เขามีใจ มีทักษะ และต้องการใช้การเรียนสายอาชีพในการขัดเกลาตัวเองไปสู่ความเป็นเลิศ หรือมีทิศทางชัดเจนที่จะประกอบอาชีพจริงๆ”

นั่นหมายถึงนอกจากโอกาสในการเรียนแล้ว นักศึกษาทุนฯ จะต้องมีศักยภาพการเรียนในสาขาที่ได้รับทุนด้วย เขาจำเป็นต้องมีพื้นฐานทั้งด้านวิชาการ มีทักษะวิชาชีพที่พร้อมต่อยอด ทั้งในด้านศาสตร์การคิดวิเคราะห์ขั้นสูง มีทักษะคณิตศาสตร์ที่ดี เพราะบางสาขาในสายอาชีพต้องเรียนรู้ศาสตร์วิศวกรรมเช่นเดียวกับนักศึกษามหาวิทยาลัย หรือในสายงานบริการ ก็ต้องใช้ทักษะสังคมและภาษาในระดับที่เหนือกว่าการสื่อสารขั้นพื้นฐาน

 

‘เห็นปลายทางชัดแล้วว่าจะมุ่งไปทางใด’

อ.จอย กล่าวต่อไปว่า ทุกสาขาวิชาที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาทุน คือสาขาที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มีความต้องการในตลาดแรงงานสูง ดั้งนั้นนอกจากจะเป็นฐานผลิตบุคลากรชั้นนำแล้ว นักศึกษาทุนทุกคนจึงเป็นเสมือนพลังในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันเพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ

“ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เป็นการบรรจบกันของการป้อนทรัพยากรบุคคลคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน และมอบโอกาสให้กับคนที่มีแนวโน้มหลุดออกจากระบบการศึกษา ให้ได้เรียนรู้ศาสตร์ซึ่งเขาสามารถมองเห็นทิศทางในการทำงาน เห็นอาชีพในอนาคตของตัวเองไปด้วย

“เกือบ 100% ของคนเรียนสายอาชีพ คือคนที่รู้ว่าเรียนแล้วตนเองต้องการจะทำงานอะไร มันมองเห็นประตูทางออกตั้งแต่เริ่มเปิดประตูเข้าไปจึงถือเป็นช่องทางที่เหมาะสม สำหรับคนที่ต้องแบกรับภาระเรื่องการดูแลครอบครัว ต้องช่วยเหลือเรื่องเศรษฐกิจทางบ้าน เพราะเมื่อเขาเข้าเรียน เส้นทางสายอาชีพก็เหมือนกับปรากฏเป็นภาพให้เห็นแล้ว” อ.จอย กล่าว

 

‘ปลุกพลัง’ เติมไฟให้ครูและสถาบัน สร้างมาตรฐานการดูแลนักศึกษาสายอาชีพที่ยั่งยืน

ที่ผ่านมา ค่านิยมหรือมุมมองต่อการดูแลนักศึกษาอาชีวะ มักถูกมองว่าเป็นการเรียนที่เด็กมีอิสระสูง ครูอาจารย์ค่อนข้างห่างเหินไม่ใกล้ชิดลูกศิษย์ หรือมีการสื่อสารที่เหมือนจะน้อยหากเปรียบกับการเรียนสายสามัญหรืออุดมศึกษา หากในมุมมองของ อ.จอย ที่ผ่านร้อนหนาวกับ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง มาตลอด 1 ปี กลับมองว่า 

“จากที่เราได้ร่วมงานกับสถาบันต่างๆ ในการดูแลน้องๆ ทุนฯ รุ่น 1 สามารถบอกได้ว่า เด็กๆ เขาปรับตัวเรียนได้ มีผลงานเป็นรูปธรรมที่น่าประทับใจ ทั้งในการประกวดแข่งขัน หรือการแสดงนวัตกรรมได้ ล้วนเป็นผลมาจากครูที่เอาใจใส่ ดูแลทั่วถึง ไม่ใช่แค่เรื่องเรียน เรื่องงานหรือพัฒนาความสามารถ แต่ยังรวมไปถึงทักษะชีวิตรอบด้านที่จำเป็นทั้งต่อการทำงาน และการเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ ตรงนี้มันไม่ใช่แค่การผลักดันศักยภาพในสาขาที่เรียนแล้ว แต่มันคือการพัฒนามนุษย์ขั้นพื้นฐานที่สุด โดยสถาบันการศึกษาจะช่วยฝึกเขาเรื่องวินัย การรู้จักควบคุมตนเอง ซึ่งมันคือ ทักษะชีวิต

“แล้วเราเชื่อว่าการที่ทุนนวัตกรรมรุ่น 2 ซึ่งเพิ่งก้าวขึ้นมา รวมถึงรุ่นต่อๆ ไปในปีการศึกษาถัดๆ ไป เขาจะยืนอยู่ได้ เติบโตได้อย่างมั่นคงด้วยพลังจากครูกลุ่มนี้ โดยหลังจากที่ กสศ. สถาบันอาชีวะต่างๆ รวมถึงทีมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ของเราที่เป็นฝ่ายหนุนเสริม ได้ทำงานร่วมกัน มันเหมือนเป็นการปลุกไฟให้สถาบันต่างๆ ได้หันมาตื่นตัวในการดูแลเด็กๆ สายอาชีพ

“ที่สำคัญคือถ้าเราสามารถสร้างให้เกิดความต่อเนื่องไปสัก 3-4 รุ่น มันจะกลายเป็นวัฒนธรรมที่เข้มแข็งพร้อมสืบทอดได้ด้วยตัวเอง เป็น การดูแลเด็กสายอาชีวศึกษาแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น และฝังรากลงในระบบอย่างยั่งยืน” อ.จอย กล่าว

 และนี่เป็นเรื่องราวบางส่วน ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมาของ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่ อ.จอย บอกว่า ไม่เพียงเป็นเรื่องของเด็กทุนเท่านั้น แต่ผลที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมการดูแลแบบใหม่ ยังส่งผลต่อไปยังกลุ่มนักศึกษาสายอาชีพที่ไม่ใช่เด็กทุนอีกด้วย