ดันชุมชนเป็นฐาน ยกระดับฝีมือแรงงานขาดแคลน

ดันชุมชนเป็นฐาน ยกระดับฝีมือแรงงานขาดแคลน

ในเวทีการประชุมปฏิบัติการเพื่อเสริมหนุนข้อเสนอโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแค
ลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ระหว่างวันที่ 22-23 ต.ค. ณ โรงแรมเซนทรา บายเซนทาราฯ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ซึ่งมีประเด็นหัวข้อน่าสนใจอย่าง “แนวคิดการพัฒนากลุ่มประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสของกสศ.” จาก นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

นพ.สุภกร แชร์ถึงประสบการณ์ส่วนตัว จากการลงพื้นที่เขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งนำมาเป็นบทเรียนปรับใช้กับโครงการในครั้งนี้ โดยบอกว่า ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า หมู่บ้านแถวบริเวณนั้นมีความลำบากและอันตรายมาก ผู้ใหญ่จึงได้เริ่มต้นจากเชิญชวนให้ชาวบ้านพัฒนาท้องถิ่น เช่น มีการเก็บข้อมูล สำรวจหมู่บ้านว่าอาชีพของชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอะไรบ้างในแต่ละฤดูกาล เช่น หมู่บ้านบริเวณนั้น มีการเพาะปลูกสัปปะรดเป็นจำนวนมาก แต่สินค้าขายไม่ค่อยดี จึงได้นำข้อมูลเหล่านี้มาปรับปรุง เพื่อทำอาชีพเสริมให้กับชาวบ้าน ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาเป็นสินค้าสัปปะรดกวน ซึ่งช่วยทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรไม่เน่าเสีย เป็นการนำมาแปรรูป ให้เกิดอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

โดยสรุป แนวคิดนี้เริ่มจากผู้นำชุมชนทำการวิเคราะห์ชุมชน เชิญชวนสมาชิกในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกัน เช่น ให้บ้านข้างๆ จับคู่กัน ช่วยกันสอดส่องดูแล ทั้งเรื่องของความปลอดภัย เรื่องของความลำบาก และให้มีการช่วยหลือกันและ ซึ่งกระบวนการพัฒนาแบบชุมชน อาจทำให้ได้ผลที่ยั่งยืนกว่าการที่พัฒนาแรงงานเป็นรายบุคคล

ขณะเดียวกัน หลักคิดของกสศ. ไม่ใช่แค่เฉพาะสำหรับโครงการนี้ การทำงานของกสศ. เป็นหน่วยงาน ของรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของการศึกษา ที่มีปัญหาจากความยากจน ความด้อยโอกาส เช่น ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาความพิการ ผู้ที่ถูกคุมขัง ผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ บุคคลเหล่านี้ล้วนอยู่บนพื้นฐานของการขาดโอกาส ใครที่เดือดร้อนมาก เราพยายามที่จะช่วยเหลือให้มาก

โดยกสศ. จะทำงานลักษณะที่ว่าใครที่เดือดร้อนมาก เราพยายามที่จะช่วยเหลือให้มาก กสศ. จะทำงานลักษณะที่ว่า หากลุ่มที่ยากลำบากที่สุด และทุ่มเทกับกลุ่มคนเหล่านั้นก่อน เราไม่ได้ช่วยเหลือในการนำเด็กมาเรียนแค่ในห้องเรียน แต่เราช่วยเหลือให้เด็กสำเร็จยิ่งไปกว่านั้น

“แต่กสศ. ก็ไม่ใช่องค์กรที่ใหญ่โตมากนัก เมื่อเทียบกับปัญหาความยากลำบากและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม เราเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ การที่จะเราจะไปถึงประชาชนได้ ต้องอาศัยทุกคนช่วยกัน ในวันนี้จึงอยากจะเชิญชวนให้ทุกคน เรียกตัวเองว่า กสศ. เพราะลำพังแค่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเรา อาจไปไม่ถึงประชาชน แต่ทุกคนในที่นี้สามารถเข้าถึงประชาชนและเข้าถึงคนที่ยากลำบากในหลายๆ พื้นที่ได้ อยากให้ตระหนักว่า พวกเรา คือ คนที่รวมขบวนการในการช่วยเหลือประชาชน และตั้งใจทำความดีให้แก่สังคม” นพ.สุภกรกล่าวย้ำ

ผู้จัดการ กสศ. กล่าวบนเวทีอีกว่า กสศ.มีโครงการที่ใหญ่ที่สุด คือ การช่วยเหลือนักเรียนกว่า  6 แสนคน ซึ่งคิดเป็นหนึ่งใน 3 ของนักเรียนทั้งหมดที่ขาดโอกาสทางด้านการศึกษา อีกโครงการหนึ่ง คือ การสนับสนุนเด็กนักเรียนสายอาชีพ จำนวนรุ่นละสองพันกว่าคน ซึ่งทั่วประเทศแต่ละรุ่นมีประมาณกว่าแสนคน คิดได้เพียงแค่ 1 % จากทั้งหมด ดังนั้น ปัญหาของประเทศใหญ่มาก แต่กองทุนกสศ. ยังช่วยเหลือได้เพียงนิดเดียว

สอดคล้องกับอุดมการณ์ในการทำงาน ที่อยากให้ทุกคนยึดร่วมกัน คือ  ในการทำงานนั้นเราจะต้องทำงานแบบให้ได้กำไร คือ เราจะต้องทำโครงการให้ได้ผลลัพธ์ ไม่ใช่มีเพียงแต่รายงาน หรือมีเพียงแค่การจัดกิจกรรม หากเป็นเพียงแค่กิจกรรมจะไม่ใช่การทำงานของ กสศ. เราจะต้องบรรลุผลลัพธ์และเป้าประสงค์ของกิจกรรมด้วย เพื่อที่จะได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรม นำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขต่อไป

“ทั้งประเทศเรามีผู้ที่เป็นแรงงานจำนวนกว่า 16 ล้านคน เราช่วยเหลือได้เพียง 6,000 คน ซึ่งมีความตั้งใจในการขยายโอกาสจำนวนในการช่วยเหลือต่อไป เพราะปัญหาของประเทศมีความยิ่งใหญ่มาก ถ้าสิ่งที่เราทำได้ผลลัพธ์ที่ดี และมีประโยชน์อาจจะมีหน่วยงานอื่นเข้ามาร่วมสนุบสนุนด้วยมากขึ้น

การพัฒนาอาชีพมีในหลายทั่วโลก เราได้มีประสบการณ์ มีความรู้ที่องค์การระหว่างประเทศ (ILO) ได้มารวบรวม อย่างเช่น ธนาคารโลกได้กล่าวไว้ว่า สิ่งที่ทำแล้วไม่ได้ผลในการพัฒนาทักษะแรงงาน คือ การสอนแค่อาชีพเฉพาะให้แก่แรงงาน เช่น การสอนทักษะด้านการเกษตรเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้แรงงานมีความรู้ในการไปประกอบอาชีพไม่รอบด้าน แต่ต้องมี 2 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ อย่างเรก การสอนในห้องเรียนควบคู่กับการฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการจริง อย่างที่สอง ความรู้ของโลกสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 21 เช่น เรื่องการคิด และวางแผนกิจการของตนเอง รู้จักยกระดับและพัฒนาความคิดของตนเอง

ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จะได้มาช่วยเราในการทำกิจกรรม Workshop เพื่อชวนให้เราคิดในการทำกิจการ หรือธุรกิจของตนเอง มีการร่วมกันตั้งโจทย์ และร่วมกันหาคำตอบเพื่อได้เห็นถึงศักยภาพ และลู่ทางของตนเอง ว่าเรามีแนวทางในการที่เข้าสู่เส้นทางการประกอบอาชีพอื่นๆ ที่มีความน่าสนใจได้อย่างไรบ้าง

อีกทั้งยังมีกิจกรรมที่ช่วย Follow Up แรงงานที่เข้าร่วมโครงการทดลอง ว่าสามารถประกอบอาชีพ และสร้างรายได้ได้จริงหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง โครงการนี้มีจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างไรบ้างที่ควรปรับปรุง  โครงการในครั้งนี้ มี Concept หลัก คือ ความคิดที่ยึดโยงกับชุมชน เนื่องจากแรงงานไทยมีจำนวนมาก และเป็นไปไม่ได้ที่แรงงานเหล่านี้จะเป็นแรงงานที่มีฝีมือ หรือแรงงาน 4.0 ทั้งหมด จะมีแรงงานกลุ่มที่ไร้ฝีมือที่ควรได้รับการยกระดับเป็นพิเศษ เช่น แรงงาน 1.0 กลุ่มอาชีพเกษตรกรรม และแรงงงานระดับ 2.0 กลุ่มอาชีพช่าง ซึ่งล้วนเป็นแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในสถานประกอบการ แต่อยู่ในเขตชุมชนและท้องถิ่น ดังนั้น ชุมชนจึงมีความเกี่ยวข้องกับแรงงานเหล่านี้ นำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตของชุมชน เช่น การสร้างอาชีพใหม่ๆ เพื่อสอดคล้องและตอบสนองความต้องการของชุมชน

อย่างไรก็ตาม นพ.สุภกร ยังยกตัวอย่างข้อความของอัจฉริยะระดับโลกอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ด้วยคำคมว่า Insanity is doing the same thing over and over again and expecting different results ซึ่งมีความหมายว่า “ทำอะไรซ้ำ ๆ อย่าหวังว่ามันจะแตกต่างจากเดิม”  เพราะทุกอย่างดีขึ้นไปกว่าเดิมได้ด้วยวิธีการใหม่ ๆ  ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับโครงการได้ว่า อยากให้มีการต่อยอดโครงการ โดยสร้างเครือข่ายผู้นำที่มีความเข้มแข็ง ในแต่ละชุมชน เพื่อที่จะได้ประสานในการพัฒนาการทำระบบทดลอง และขยายโอกาสต่อไป