จากจุดเริ่มต้นที่ชอบ “ตกปลา” ในวัยเด็ก เมื่อจับได้ก็อยากรู้ว่าปลาที่จับได้คือปลาอะไร ผลักดันให้ต้องลงมือค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับปลาชนิดนั้นๆ ยิ่งรู้เยอะก็ยิ่งรู้สึกว่ามีอะไรให้ค้นหาอีกมาก ทำให้ในที่สุด ”ณน” ณนสพงษ์ พรายสิน เดินหน้าตามฝันสมัครเข้าเรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบไม่มีไขว้เขว
“ตอนนั้นกำลังจะ จบม.ต้น ผมก็ชัดเจนแล้วว่าชอบทางด้านนี้ก็สมัครเรียนต่อที่เดียวเลยคือเรียน ปวช.วิทยาลัยประมงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ไม่ได้อยากเรียนสายสามัญเหมือนคนอื่น แต่อยากเรียนสายอาชีวะ เพราะจะได้ลงมือปฏิบัติจากของจริง มากว่าเรียนทฤษฎี และสายงานนี้ยังขาดแคลน คนเรียนน้อยตำแหน่งงานมีมาก จบออกไปมีงานทำแน่นอน”
เริ่มต้นจากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์
ยิ่งได้มาฝึกงานที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร ในตำแหน่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ห้องปฏิบัติการ ยิ่งทำให้ “นณ” รู้ว่าตัดสินใจถูกที่เลือกเรียนในสาขานี้เพราะยังมีเรื่องให้เรียนรู้อีกมาก เมื่อได้เรียนทฤษฎีมาแล้ว การได้มาสัมผัสของจริงจึงถือเป็นการเก็บเกี่ยวสะสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ทำให้เราเริ่มรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นปลาตัวไหนมีไข่ ไม่มีไข่ ตัวไหนเคาะไข่ได้ ผสมเทียมได้
“งานด้านนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ประสบการณ์และที่ศูนย์วิจัยฯ ก็เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานที่ทำให้ได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้รับการถ่ายทอดเทคนิควิธีการทำงาน ยิ่งรุ่นพี่แต่ละคนที่อยู่กันมานานเขาจะมีความรู้ เทคนิคส่วนตัวของเขาที่เราได้เรียนรู้”
ทั้งหมด เป็นเหมือน “ความท้าทาย” ที่ ณน ต้องก้าวข้ามไปให้ได้ เริ่มตั้งแต่หัด “เพาะพันธุ์” เมื่อเพาะได้ออกมาเป็นลูกปลาแล้วขั้นตอนต่อไปที่ยากกว่าคือการ “อนุบาล” ซึ่งจะต้องทำให้ลูกปลาอยู่รอดตัวใหญ่ขึ้น โดยจะต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่เรื่องอาหารที่ต้องรู้ว่าปลาตัวไหนกินอะไร ไม่กินอะไร ต้องควบคุมน้ำ คุมอุณหภูมิ คุมออกซิเจนในน้ำ เป็นปัจจัยที่สัมพันธ์กันไปหมดถึงจะทำให้ลูกปลาอยู่รอดได้
ส่วนผสมเติมเต็ม “ทฤษฎี” และ “ปฏิบัติ”
แม้จะเรียนสายอาชีวะแต่ “ณน” ก็ตั้งเป้าแต่แรกแล้วว่าหลังจากจบ ปวช. แล้ว จะเรียนต่อ ปวส. และ ปริญญาตรี ตามลำดับเพื่อให้มีความรู้ที่ครบถ้วนทั้ง ทฤษฎี และ ปฏิบัติ ปัจจุบัน น้องณน เรียนอยู่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จ.สงขลา ในชั้นปีสุดท้าย ด้วยเกรดเฉลี่ย 4.00 ในทอมที่ผ่านมา
ณน เล่าให้ฟังว่า ยิ่งเรียนสูงขึ้นก็จะมีความรู้ที่มากขึ้น ยากขึ้น จบออกไปก็จะนำไปประกอบอาชีพที่สร้างงานสร้างรายได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นเรียน ปวช. ก็จะได้เรียนเพาะพันธุ์ปลาดุก ปลานิล ที่ไม่ยากมาก พอเรียน ปวส. ก็จะขยับขึ้นมาพวกปลาทะเล แต่เมื่อเข้าสู่ระดับปริญญาตรีก็จะเป็นเรื่องการเพาะพันธุ์กุ้งที่ยากแต่ก็เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง
โกอินเตอร์ ฝึกงาน “บรูไน”
อีกจุดเด่นของ “ณน” คือเรื่องภาษาอังกฤษ โดยหลักสูตรในระดับ ปวส. ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ เป็นหลักสูตร Mini English Program ที่กำหนดให้ต้องไปฝึกงานที่ประเทศบรูไน เป็นเวลา 2 เดือน จุดนี้ถือเป็นอีกประสบการณ์ที่มีคุณค่า ให้ได้เรียนรู้ทั้งเทคนิคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างประเทศ รวมไปถึงการได้ฝึกใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารทำงานจริง
ทว่าเส้นทางการศึกษาของ “ณน” ดูจะไม่สิ้นสุดเพียงเท่านั้น ล่าสุดเขาผ่านการคัดเลือกให้ได้รับทุนจากโครงการ “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” (ทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ) ที่ได้รับพระราชทานชื่อทุนจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งเป็นทุนต่อเนื่องเรียนปริญญาตรีถึงปริญญาเอก
ตำแหน่งขาดแคลน ถูกจองตัวตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ
จากเดิมที่วางแผนว่าจบปริญญาตรีแล้วจะออกไปทำงานเพราะสายงานนี้มีคนเรียนน้อยแต่มีตำแหน่งงานที่ต้องการในตลาดเป็นจำนวนมากรวมไปถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารที่ประสานมามาจองตัวนักศึกษาที่วิทยาลัยตั้งแต่ยังไม่ทันได้เรียนจบ
“แต่เมื่อได้ทุนเรียนต่อก็นับเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้มีความรู้ก้าวข้ามไปอีกขั้น เพราะเรามีความรู้จากการได้ฝึกปฏิบัติมาเยอะ เมื่อมาต่อยอดปริญญาตรีก็ทำให้มีความรู้มากขึ้น ยิ่งหากได้ไปเรียนต่อปริญญาโทก็จะทำให้มีความรู้ที่ลึกเจาะลงไปที่ด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ”
เดินหน้าตามเป้าหมายสู่นักวิจัยแพลงตอน
ปัจจุบัน “ณน” ยังต้องเรียนต่อจนจบปริญญาตรีอีก 1 ปี จากนั้นวางแผนที่จะเรียนต่อระดับปริญญาโทสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล ไม่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งตั้งใจจะเน้นศึกษาเจาะลึกในเรื่องแพลงตอน
“แพลงตอนเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำการจะอนุบาลสัตว์น้ำให้เจริญเติบโตได้ดีก็ต้องใช้แพลงตอน เราต้องไปวิเคราะห์ดูว่าแพลงตอนชนิดไหนเป็นอย่างไร สัตว์น้ำชนิดไหนกินแพลงตอนแบบไหน ต้องไปผ่ากุ้ง ผ่าปลาดูว่าในท้อง ในอวัยวะภายในมีแพลงตอนชนิดไหน”
ก้าวต่อไป ปริญญาโท เพิ่มโอกาสและรายได้
การที่ได้เรียนปริญญาโทก็จะเพิ่มโอกาสเพิ่มทางเลือกในการทำงานที่ในตำแหน่งระดับสูงขึ้นและเงินเดือนที่สูงขึ้น ซึ่งตำแหน่งงานด้านนี้ยังเป็นตำแหน่งที่ยังขาดแคลนบุคลากรจำนวนมาก
ย้อนไปที่ต้องตัดสินใจเรียนด้านประมงคนยังคิดว่าเราเพี้ยนหรือเปล่า บางคนคิดว่าเรียนไปตกปลาหรือเปล่า เรียนไปจับปลา วางอวน หรือใช้แรงงานอยู่บนเรือ แต่ที่จริงไม่ใช่ยังมีงานทั้งราชการ หรือทำงานในบริษัทใหญ่ ๆ ทำงานในห้องแล็บ ตอนนี้ก็ตั้งเป้าว่าจะเรียนให้จบปริญญาโทก่อน ส่วนเรื่องปริญญาเอกคงต้องรอดูผลจากการเรียนปริญญาโทก่อน
โอกาสที่ต้องตอบแทนด้วยความรู้ความสามารถ
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ ณน เห็นคุณค่าของการศึกษาเป็นเพราะได้รับการปลูกฝังจากคุณแม่ที่ต้องทำงานหาเลี้ยงเขาลำพังหลังจากคุณพ่อเสียชีวิต แม้จะต้องทำงานหนักเหมือนผู้ชายทั้งตัดหญ้า ตัดปาล์ม แต่ก็เพื่อให้ ณน ได้เรียนสูง ๆ จะได้ไม่ต้องมาทำงานลำบาก ทำให้เขาเห็นคุณค่าของการเรียน คุณค่าของเงินที่กว่าจะได้มาแต่ละบาทที่ส่งให้เขาเรียนมาจนถึงทุกวันนี้
“ ไม่เคยคิดว่าจากเด็กอาชีวะคนหนึ่งจะก้าวมาสู่เส้นทางการศึกษาที่ระดับสูงถึงขั้นนี้ แต่เมื่อเรามาสู่จุดนี้ได้เราก็จะเห็นว่าการที่เรียนสายอาชีพมาก่อนทำให้เรามีประสบการณ์มากกว่าและเมื่อได้มาต่อยอดเรียนในระดับสูงที่มีความลึกเฉพาะด้านยิ่งทำให้เราได้อะไรมากกว่าคนอื่น เมื่อได้โอกาสตรงนี้มาแล้วก็อยากจะตอบแทนสังคมใช้ความรู้ความสามารถที่มีพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับสัตว์เศรษฐกิจ ไม่แน่วันข้างหน้าเขาอาจจะพัฒนาแพลงตอนสายพันธุ์ใหม่ที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยได้” ณนกล่าวทิ้งท้าย
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค