เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2563 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมปฏิบัติการการสนับสนุนการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจถึงกรอบการดำเนินงานของโครงการบริหารจัดการชุดโครงการพัฒนาครูและโรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ซึ่งมีจำนวน 11 เครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มูลนิธิลำปลายมาศ มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม มหาวิทยาลัยนเรศวร มรภ.กาญจนบุรี มรภ.ภูเก็ต มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม มูลนิธิสยามกัมมาจล และสพป.1 สุรินทร์ โดยมีโรงเรียนขนาดกลางเข้าร่วมพัฒนาตนเองทั้งสิ้น 733 แห่ง ใน 42 จังหวัด
ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และอนุกรรมการกำกับทิศทาง โครงการพัฒนาครูและโรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ตามที่ สพฐ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กสศ. เพื่อดำเนินการโครงการพัฒนาครูและโรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง กับโรงเรียนขนาดกลางในสังกัด สพฐ. ให้เป็นโรงเรียนที่สามารถพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ (Whole School Approach)
ทั้งด้านการบริหารจัดการโรงเรียน และการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ระดับชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนมีทักษะการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 ซึ่งได้ดำเนินไปแล้วในรุ่นที่ 1 จำนวน 290 โรงเรียน ในปี 2562 และกำลังดำเนินการขยายผลการพัฒนาโรงเรียนในรุ่นที่ 2 จำนวน 433 แห่ง ในปี 2563
“การลงไปทำงานของเครือข่ายทั้ง11 แห่ง พบว่ามีปัญหาอุปสรรค ในเรื่องความไม่เข้าใจของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ผู้อำนวยการโรงเรียน และครู ที่ยังไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ส่งผลให้เครือข่ายไม่ได้รับความร่วมมือในการลงไปทำงานในโรงเรียนที่ สพฐ.เป็นผู้คัดเลือกโรงเรียนให้เข้าร่วมโครงการฯซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่(COVID-19) ซึ่งได้วางแผนที่จะจัดประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในโครงการที่ได้ลงนามความร่วมมือกับ กสศ. ดังนั้น จึงต้องปรับแผนโดยใช้การประสานงานไปยังผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา เขต 1 และให้ไปประสานต่อ จึงทำให้อาจเกิดการรับรู้ได้ไม่เพียงพอ
ดังนั้น ในนามของ สพฐ.ขอทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมประสานในเรื่องการทำงานของ 11 เครือข่าย และจำนวนสถานศึกษาที่ สพฐ.คัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการฯ ไปยัง ผอ.สพป. และรอง ผอ.สพป. เพื่อรับทราบและให้ความร่วมมือกับการทำงานกับเครือข่ายโครงการ รุ่น 1 และ รุ่น 2 กับสถานศึกษาในพื้นที่ทั้ง 42 จังหวัด” ดร.อโณทัย กล่าว
ดร.อโณทัย กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ โครงการรุ่นที่ 1 ได้ดำเนินการมากว่า 1 ปีแล้ว จึงอยากให้โครงการ รุ่น 1 เป็นต้นแบบวางรากฐานการพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ เพื่อการดำเนินงานต่อเนื่องในรุ่นที่ 2 ที่จะนำรูปแบบไปขยายผลการพัฒนาต่อไป