รัฐบาลอังกฤษปันงบพิเศษ จัดหาติวเตอร์สอนเด็กนักเรียนที่ขาดเรียนไปในช่วงปิดโรงเรียนเพราะ COVID-19

รัฐบาลอังกฤษปันงบพิเศษ จัดหาติวเตอร์สอนเด็กนักเรียนที่ขาดเรียนไปในช่วงปิดโรงเรียนเพราะ COVID-19

ที่มาภาพ : unsplash-CDC

แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

 

รัฐบาลอังกฤษปันงบพิเศษมูลค่า 650 ล้านปอนด์ (ราว 25,400 ล้านบาท) ให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศเพื่อจัดหา ติวเตอร์ หรือ ครูพิเศษ ไว้สอนเด็กนักเรียนที่ขาดเรียนไปในช่วงปิดโรงเรียนเพราะ COVID-19

สื่อท้องถิ่นในอังกฤษ รายงานว่า งบประมาณพิเศษนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนช่วยเหลือสนับสนุนด้านการศึกษามูลค่า 1,000 ล้านปอนด์ และเป็นส่วนหนึ่งของแผนเรียนพิเศษแห่งชาติ 1 ปี (One-year National Tutoring Programme) โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนด้อยโอกาสและยากจน ให้สามารถเรียนพิเศษได้ในราคาถูก โดยที่ทางโรงเรียนจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐในการจัดหาติวเตอร์และจัดทำคาบเรียนพิเศษ

ตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษกล่าวว่า งบประมาณดังกล่าว เป็นหลักประกันว่า เด็กนักเรียนทุกคน ไมว่าจะมีอายุเท่าไร และอาศัยอยู่ที่ไหน จะได้รับการศึกษา โอกาส และผลสำเร็จทางการศึกษา ตามที่สมควรได้รับ ซึ่งการสอนพิเศษ โดยติวเตอร์ผู้ชำนาญการเป็นวิธีแก้ไขที่ได้รับการพิสูจน์ยืนยันแล้วว่ามีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ จากครอบครัวยากจนและด้อยโอกาส

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า แผนการติวเตอร์ จะเริ่มต้นขึ้นภายในภาคเรียนการศึกษาหน้าคือ เดือนกันยายนเป็นต้น และเป็นโครงการระยะยาวครอบคลุมปีการศึกษา 2020-2021 และตั้งเป้าให้เกิดการปฎิรูประบบการศึกษา ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กนักเรียนรุ่นนนี้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 

สำหรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐที่ให้กับทางโรงเรียนจะทำให้โรงเรียนรัฐจ่ายเงินเพื่อการเรียนพิเศษของเด็กๆ ลดลงอยู่ที่ 12 ปอนด์ต่อชั่วโมง (ราว 470 บาท) จากราคาเฉลี่ยของค่าติวพิเศษในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ประมาณ 50 ปอนด์ต่อชั่วโมง (ราว 1,956 บาท) 

ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ได้จัดงบ 1,000 ล้านปอนด์สำหรับช่วยเหลือด้านการศึกษา โดยเป็นไปตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้ว่า รัฐบาลจะดำเนินทุกวิถีทาง เพื่อให้เด็กนักเรียนหลายแสนคนทั่วประเทศจากครอบครัวยากจน เรียนหนังสือตามทันเพื่อนๆ ที่สามารถเรียนออนไลน์ หรือเรียนทางไกลได้ในช่วงปิดโรงเรียนหลายเดือนที่ผ่านมา 

“ผมจะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อให้เด็กๆ ได้กลับมาเรียนที่โรงเรียนอีกครั้งตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นไปต้นไป และรัฐบาลจะเดินหน้าผลักดันแผน ชั้นเรียนพิเศษให้เกิดขึ้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน กล่าว 

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ได้รับเสียงสนับสนุนจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะ จากทางโรงเรียนและสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ที่มองว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เด็กนักเรียนเข้าถึงติวเตอร์มืออาชีพ ในการทำความเข้าใจบทเรียนที่ขาดหายไปเพราะโรงเรียนปิด

ที่มาภาพ : The Guardian

ขณะที่ กองทุนเพื่อการศึกษาอย่าง Education Endowment Fund (EEF) ให้คำมั่นว่า จะช่วยเป็นสื่อกลางในการคัดสรรจัดหาติวเตอร์คุณภาพดีให้กับทางเรียน พร้อมเตรียมให้ความช่วยเหลือในด้านอืนที่จำเป็นต่อการสนับสนุนการเรียนของเด็กนักเรียนทั่วอังกฤษ

ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยหลายฉบับก่อนหน้่านี้พบว่า การเรียนพิเศษ แบบ 1:1 หรือ จัดกลุ่มติวขนาดเล็ก ถือเป็นหนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าที่สุดในการยกระดับทักษะและความรู้ความสามารถของผู้เรียน กระนั้น ด้วยต้นทุนการเรียนพิเศษที่ค่อนข้างสูง โดยในแต่ละปี  อุตสาหกรรมติวเตอร์ของประเทศมีมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านปอนด์ (ราว 78,000 ล้านบาท) ทำให้เด็กน้กเรียนยากจน และด้อยโอกาสส่วนใหญ่ ไม่สามารถเข้ารับการเรียนเสริม หรือ ติวพิเศษได้

Sir Peter Lampl หนึ่งในคณะกรรมการของ EEF กล่าวว่า ความช่วยเหลือจากภาครัฐในการจัดหาติวเตอร์มืออาชีพให้แก่นักเรียนยากจนของอังกฤษนับตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนนี้เป็นต้นไป นับเป็นความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ อีกทั้ง โครงการนี้ยังถือเป็นโอกาสสำคัญที่ไม่เพียงแต่จะช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากการปิดโรงเรียนเพราะ COVID-19 เท่านั้น แต่ยังจะมีส่วนในการสร้างระบบการศึกษาที่เสมอภาคเท่าเทียมในอนาคตอีกทางหนึ่งด้วย  

อย่างไรก็ตาม บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ The Guardian เขียนแสดงความเห็นระบุว่า แม้จะเป็นแนวคิดนโยบายด้านการศึกษาที่น่าชื่นชม เนื่องจากส่งผลดีต่อเด็กนักเรียนยากจน แต่ก็อดแสดงความวิตกกังวลไม่ได้ว่า การเร่งรีบเกินไปก็อาจเสี่ยงทำให้โครงการดังกล่าวประสบความล้มเหลวได้

โดยบทบรรณาธิการ มองว่า การตัดสินในของรัฐบาลอังกฤษสะท้อนให้เห็นความเอาใจใส่ของภาครัฐที่มีต่อเด็กนักเรียนจากครอบครัวยากจนและด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งมีรายงานหลายฉบับออกมายืนยันแล้วว่า กลุ่มเด็กนักเรียนเหล่านี้เป็นผู้ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการที่ต้องปิดโรงเรียนเพราะ COVID-19

ดังนั้น การจัดสรรติวเตอร์ หรือ ครูสอนพิเศษ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ สามารถเรียนทันตามเพื่อนๆ ในชั้นเรียนที่สามารถเรียนออนไลน์จากบ้านในช่วงที่ต้องปิดโรงเรียนได้

กระนั้น การจัดการจัดสรรและสรรหา ติวเตอร์ ให้ทั่วถึงไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องใช้เวลาในการวางแผนโครงการให้ดีๆ ไม่ว่าจะเป็น ระยะเวลาในการเรียนเสริม หรือจำนวนติวเตอร์ที่ควรจัดเป็น 1:1 หรือ 1: กลุ่มเล็กๆ โดยมีกุญแจสำคัญอยู่ที่ การที่ภาครัฐฯ ต้องเร่งหารือกับทางโรงเรียนเพื่อมองหาสถานที่ จำนวนเด็ก และช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ การใช้เงินภาษีในครั้งนี้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด

 

ที่มา :