‘ลำปาง’ เป็นอีกหนึ่งจังหวัดต้นแบบใน โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือเด็กนอกระบบอย่างต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์การล็อคดาวน์จากภาวะการระบาดของ COVID-19 จนทำให้แผนงานต่างๆ ต้องหยุดชะงัก
ที่ผ่านมา ทางทีมจังหวัดลำปางได้ใช้ทีมงานครู กศน. และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน(อพม.) เข้าสำรวจพื้นที่ใน 4 อำเภอต้นแบบ และพบจำนวนของเด็กและเยาวชนนอกระบบซึ่งต้องได้รับการช่วยเหลือชุดแรก 676 คน
สุภาภรณ์ มาชัยวงศ์ ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าว่า ก่อนการมาถึงของภาวะระบาดของไวรัสโคโรน่า กลไกทำงานด้านการช่วยเหลือเด็กนอกระบบของทีมงานจังหวัดลำปาง กำลังอยู่ในช่วงประสานงานกับ 4 อำเภอต้นแบบ เพื่อสร้างทีม CM(Case Manager) ในระดับตำบล เพื่อประกบดูแลกลุ่มเป้าหมายอย่างใกล้ชิดและสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง โดยทีมงานต้องเข้าใจปัญหาในพื้นที่และให้ความช่วยเหลือได้เหมาะสมกับปัญหาของเด็กแต่ละคน
แต่การประสานงานก็ต้องชะงักลงเมื่อสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ทุกหน่วยงานต้องหยุดการพบปะ “ทุกอย่างต้องปิดตามประกาศให้คนกักตัวของจังหวัด ระบบการทำงานต้องเปลี่ยน ขณะที่การประสานงานระดับตำบลกับอำเภอยังเชื่อมประสานกันไม่สนิทดี”
ที่ทำได้คือ ‘ประสานงานสร้างทีมให้เข้มแข็ง’
หากในช่วงเวลาของการล็อคดาวน์นี้เอง ที่ทางทีมจังหวัดลำปางได้ปรับแผนงาน จากที่จะมุ่งส่งความช่วยเหลือพุ่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมาย มายังการให้ความสำคัญกับการประสานงานของฝ่ายต่าง ๆ ตั้งแต่จุดยอดสุดคือจังหวัด ลงมาที่อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยใช้ระบบออนไลน์และโทรศัพท์ติดต่อ เพื่อเชื่อมเครือข่ายทีมงานผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งจังหวัด ให้ดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน
“ตอนนี้เราได้ใช้เวลาทั้งหมดไปกับการสื่อสารโครงการ เริ่มจากชี้แจงให้หัวหน้าส่วนราชการของจังหวัดทั้งหมด 13 อำเภอรับทราบเรื่อง เพื่อความลื่นไหลเมื่อเราประสานลงไปในระดับอำเภอ เพราะอำเภอจะเป็นผู้นำทีมงานทุกฝ่ายไปเชื่อมต่อกับฝ่ายปกครองท้องถิ่นระดับตำบลและหมู่บ้าน ว่าหลังจากนี้หากหมู่บ้านหรือตำบลไหนพร้อม เราจะเริ่มงานส่วนปฏิบัติการกันทันทีหลังสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น”
เตรียมทุกอย่างให้พร้อม รอวันปลดล็อค
ผู้รับผิดชอบโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดลำปาง เล่าต่อไปว่า จุดมุ่งหมายของงานในช่วงเวลาคือการชี้แจงรายละเอียดโครงการทุกมิติขั้นตอนให้ทุกฝ่ายรับทราบตรงกัน เพื่อประโยชน์ต่อการกระจายงานอย่างเป็นระบบ ลงลึกในพื้นที่และส่งต่อความช่วยเหลือได้เป็นลำดับ ตั้งแต่การค้นพบ ช่วยเหลือเบื้องต้น และเตรียมเด็กสู่การเรียนและการฝึกอาชีพ
“เราใช้เวลาช่วงที่ทุกคนพบกันไม่ได้เพื่อวางรากฐานโครงการ เพราะเมื่อทุกคนทุกฝ่ายเข้าใจรูปแบบงานทั้งระบบไปในทิศทางเดียวกัน การทำงานจะราบรื่นและเร็วขึ้น ตอนนี้เราประสานงานกับทั้ง 13 อำเภอให้เขารับรู้ขอบข่ายความร่วมมือ หากเขาต้องการรายละเอียดส่วนไหนเพิ่ม เราก็มีเวลาชี้แจง แล้วเราได้วางแนวทางร่วมกับฝ่ายบริหารของแต่ละอำเภอ ทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ว่าต้องจัดการความช่วยเหลืออย่างไร หรือหากกำนันผู้ใหญ่บ้านหรือ อสม. มีข้อแนะนำใด ๆ เราก็รับมาปรับปรุงเพิ่มเติม จากนั้นเราจะแบ่งหน้าที่ของทุกฝ่ายให้ชัดเจน แล้วเมื่อทุกอย่างพร้อม ไฟเขียวสว่างเมื่อไหร่ ทีมตำบลจะลงพื้นที่ปฏิบัติการทันที”
เป็นอีกรูปแบบการทำงานหนึ่งของภาคีจังหวัด ในการปรับระบบการทำงานเพื่อรับมือกับ COVID-19 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้อุปสรรคจะทำให้เกิดความล่าช้าขัดข้องในกระบวนการทำงาน แต่คณะทำงานทุกฝ่ายก็ยังพร้อมที่จะหาทางขยับขับเคลื่อนโอกาสทางการศึกษา เข้าไปหาเด็กและเยาวชนที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด เพราะไม่ว่าจะก่อนหน้า หรือหลังวิกฤติ COVID-19 ผ่านพ้นไป ก็ไม่ควรจะมีใครแม้แต่คนเดียว ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง