เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดแถลงข่าวเปิดตัวระบบ “iSEE 2.0 นวัตกรรมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” พร้อมจัดเวทีเสวนา “EdTech และการขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูล (Data Activism) กรณีศึกษาระบบ iSEE กับการระดมความร่วมมือเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ.ได้วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education : iSEE) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (BIG Data) รายบุคคล ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสมากกว่า 4 ล้านคน
โดยเชื่อมโยงข้อมูลเด็กและครอบครัวกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของ 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงงาน และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงข้อมูลจากระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS)เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ทำนโยบาย “มองเห็น” สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตลอดจนเป็นเครื่องมือให้กับหน่วยงาน ภาคีต่างๆ ที่มีภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ในอนาคต
ทั้งนี้ระบบ iSEE นับเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการศึกษา ที่จะช่วยยกระดับการค้นหา คัดกรองเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษาอย่างละเอียด โดยจะสำรวจตั้งแต่ระดับประเทศ ภูมิภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล โรงเรียน จนถึงรายบุคคล ทำให้ติดตามสถานการณ์การศึกษา อัตราการมาเรียน รายได้เฉลี่ยของครัวเรือน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กในอนาคต ฯลฯ เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือได้เข้าถึงตัวเด็กอย่างทันท่วงที
“จุดเด่นของระบบ iSEE คือ การแสดงข้อมูลสุขภาวะและทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชน ข้อมูลสถานะครัวเรือนและสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน ข้อมูลการเดินทางระหว่างไปโรงเรียน ข้อมูลสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของโรงเรียน และจากการประมวลผลข้อมูลพบปี 2562 มีนักเรียนในระบบการศึกษาหายไปครึ่งหนึ่งหลังจบ ม.3 ยังพบว่า 3 จังหวัด ได้แก่ ตาก กรุงเทพ แม่ฮ่องสอน มีเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษามากที่สุด” รองผู้จัดการ กสศ.กล่าว
ดร.ไกรยส กล่าวว่า กสศ.ต้องการจัดทำระบบ iSEE ให้เป็น user- centered data Visualization Tools หรือนำเสนอข้อมูลที่ซับซ้อนในรูปแบบที่ง่ายและสอดคล้องกับการใช้จริงของภาคีเครือข่าย ในการทำให้สังคมไทยมองเห็นเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ผ่าน 5 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 1) มีระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลในหลายกระทรวง 2) Virtual Live ข้อมูล ให้เป็น user center design มีการทำกราฟ/ตารางที่ง่ายต่อการใช้งาน เพื่อนำไปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างง่าย 3) ปฏิรูปกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เช่น การระดมทุน หรือ การจัดค่ายอาสาพัฒนาชนบท ที่สามารถมองเห็นเด็กหรือโรงเรียนได้ชัดมากที่สุด
4) ขับเคลื่อนทรัพยากรและเครือข่ายในสังคมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 5) สนับสนุนผู้ที่ต้องการเป็นนักวิจัย start up ผู้ประกอบการทางสังคม และสื่อมวลชน ให้มีพลังในการขับเคลื่อนวาระทางสังคมมากขึ้น ด้วยข้อมูลที่ทันสมัย เพื่อช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ทุกที่ ทุกเวลา นอกจากนี้ระบบ iSEE ยังมีระบบการตอบกลับที่เป็นวงจร สามารถนำข้อมูลกลับมารายงานได้ว่ามีจำนวนเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือ เด็กที่จบการศึกษา รวมถึงเด็กที่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้วกี่คน
“กสศ. หวังว่าระบบ iSEE จะมีผู้ใช้งานเข้ามาใช้ฐานข้อมูลของเราอย่างต่อเนื่องจนเกิดความยั่งยืน เพื่อให้กรอบการทำงานระยะยาวของ กสศ. ที่มองว่า Data เป็นการทำงานเชิงยุทธศาสตร์นำไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษาในอนาคต” ดร.ไกรยส กล่าว
นายเรืองโรจน์ พูนผล หรือ “กระทิง” ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ในฐานะมือปั้น Startup มือหนึ่งของไทย กล่าวถึง ed tech และการขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูล ว่า จากการที่ตัวเองทำงานด้านสตาร์ทอัพ มาหลายปี และตอนนี้มีสตาร์ทอัพที่ลงทุนอยู่ด้วย 78 ราย และในฐานะผู้ปั้นสตาร์ทอัพในประเทศไทย ทำให้รู้ว่า ฐานข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการแจ้งเกิดสตาร์ทอัพอย่างมาก และระบบisee 2.0 ของกสศ.ทำให้เราทราบว่า จะต้องพัฒนาระบบ ที่สตาร์ทอัพ สามารถนำไปใช้ได้ และแก้ปัญหาได้ตรงจุด
ทั้งนี้ อยากชวน สตาร์ทอัพ มาใช้ข้อมูล iSEE2.o เพื่อจะได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ได้ช่วยเหลือสังคม และช่วยเหลือสตาร์ทอัพให้วิเคราะห์ได้ถูกต้อง ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพมองเห็นปัญหา แต่ไม่สามารถใส่ข้อมูลลงไปได้ พอได้ทำงานกับ กสศ. มาระยะหนึ่งทำให้ทราบว่า จะใส่ข้อมูลอะไรลงไป
นายเรืองโรจน์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด –19 ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษา ทำให้เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน และการไม่ได้รับการศึกษาย่อมส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีงานวิจัยจากแมคเคนซียังชี้ให้เห็นว่าการกระทบต่อจีดีพีสหรัฐไปแล้ว ขณะที่มีเด็กถึง 4 ล้านคนที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ Old normal ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Distrup) ยิ่งทำให้เราไม่มีข้อมูลในการเข้าไปช่วยเหลือ
“สตาร์ทอัพหลายภาคส่วนถามหาข้อมูลอยู่ไหน ซึ่งการที่ กสศ.สร้างระบบ iSEE ขึ้นมาเหมือนมอบพลังอำนาจแห่งเทคโนโลยีมาให้ ในเมื่อเราจะเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยพลังอำนาจของข้อมูล จึงอยากเชิญชวนทุกคน เข้ามาเปลี่ยนแปลงเรื่องการศึกษา เพราะการศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ โดยร่วมกันเปลี่ยนแปลงเด็ก 4 ล้านกว่าคน เพื่อให้ประเทศไทยไปอยู่ข้างหน้าได้โดยเข้าไปใช้ระบบ iSEE” นายเรืองโรจน์ กล่าว
นายเรืองโรจน์ กล่าวว่า ระบบ iSEE ถือเป็นแพลตฟอร์มที่มีชีวิต หากผู้สนใจอยากได้ฟีเจอร์อะไรเพิ่มเติม ก็สามารถเข้ามาร่วมพัฒนากับกสศ.ได้
“ผมขอการันตีได้เลย ผมลงทุนสตาร์ทอัพ 79 บริษัท แต่กสศ. สร้างระบบนี้ได้เร็วกว่าบางบริษัทด้วยซ้ำ ดังนั้น มาช่วยกันได้ แค่คุณคลิก แชร์ ดาต้านี้นำไปบอกเล่า สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในแบบของคุณได้แล้ว” นายเรืองโรจน์ กล่าว
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” ผู้ก่อตั้ง startdee เน็ตฟลิกซ์แห่งวงการการศึกษาไทย กล่าวว่า สตาร์ทดีต้องขอบคุณ กสศ. เพราะ หลายเรื่องต้องตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลของ กสศ. ทั้งสตาร์ทดีและกสศ. มีเป้าหมายต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัจจุบันเด็กไทยเจอความเหลื่อมล้ำสองตลบ ตลบที่หนึ่งเป็นคุณภาพการเรียนการสอนในแต่ละโรงเรียน ไม่เท่ากันระหว่างหัวเมืองกับชนบท และตลบที่สองคือ ช่องทางการเรียนนอกห้องเรียน ก็ถูกปิดกั้นด้วยวัฒนธรรมการเรียนพิเศษที่ราคาค่อนข้างสูง สิ่งที่เล็งเห็นคือสัดส่วนเด็กไทยที่เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพจึงไม่สูงมาก
นายพริษฐ์ กล่าวว่า การใช้งานในส่วนของระบบ iSEE ส่วนแรกมาจากความสงสัยส่วนตัวต้องการตรวจสอบตัวเอง อยากรู้ว่าเด็กที่เข้าถึงแอปพลิเคชั่นของสตาร์ดี เป็นเด็กยากจนมากน้อยแค่ไหน เราจึงเอาข้อมูลโรงเรียนของนักเรียนที่มาใช้แอปพลิเคชั่นไปจับคู่กับข้อมูลใน iSEE ดูว่าโรงเรียนนี้มีสัดส่วนเด็กยากจนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งพบว่ามีโรงเรียนที่มีสัดส่วนเด็กยากจน 80-100% ซึ่งเมื่อรู้กลุ่มเป้าหมายของเราแล้วก็ทำให้เราสามารถออกแบบการเรียนรู้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายเพราะเรารู้ว่าเรากำลังช่วยเหลือใครอยู่ ทำให้สามารถต่อยอดได้เพราะมีเอกชนหลายแห่งพร้อมสนับสนุน เรื่องการศึกษา เรานำข้อมูล กสศ.มาเทียบว่าเด็กคนไหนมีกำลังจ่าย มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีฐานะดีอยู่แล้ว ทุนการศึกษาจะให้คนอื่น ซึ่งเรานำทุกโรงเรียนที่อยู่ในระบบมากางและเทียบสัดส่วนเด็กยากจนจากมากไปน้อย
“โดยเราเห็นว่าจังหวะก้าวการทำงานของ กสศ. เร็วกว่าการทำงานของภาครัฐที่เราคุ้นเคย การช่วยลดความเสมอภาคไม่จำเป็นต้องให้สิ่งเดียวกับทุกคน แต่สามารถให้สิ่งที่ดีที่สุดกับทุกคน ซึ่งเครื่องมืออย่างiSEE ช่วยสตาร์ทอัพอย่างสตาร์ทดีให้ไปสู่เป้าหมายจุดนั้นได้” นายพริษฐ์ กล่าว
ด้าน น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว 3 มิติ กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานข่าวที่ผ่านมาได้เจอปัญหาของเด็ก และโรงเรียนที่ยากจน จึงนำเสนอเรื่องราวต่างๆให้คนทั่วไปได้รับรู้ แต่พอมีคนมาถามว่า จะไปบริจาคให้เด็กยากจนที่ไหนได้บ้าง เราก็บอกได้ไม่หมด บอกได้แค่ที่ไปเจอ แต่พอมีฐานข้อมูล iSEE 2.0 ทำให้เราทราบว่า จริงๆแล้ว มีเด็กยากจน และต้องการความช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมาก และคนเหล่านั้น ต้องการให้ภาครัฐ หรือหน่วยงานต่างๆ เข้าไปให้การช่วยเหลือ