เมื่อไวรัสโควิด-19 กำลังพลิกโฉมระบบการศึกษาโลก

เมื่อไวรัสโควิด-19 กำลังพลิกโฉมระบบการศึกษาโลก

ที่มา  Jenny Anderson
ผู้สื่อข่าวอาวุโส และบรรณาธิการ How to be Human เว็บไซต์ Quartz
https://bit.ly/2wdRmbi
แปลและเรียบเรียงโดย นงลักษณ์ อัจนปัญญา

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ ไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความหวาดผวาให้แก่ผู้คนทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ไม่เพียงส่งผลกระทบเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น แต่ยังส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อระบบการศึกษาทั่วโลก เมื่อสถานที่ที่เป็นแหล่งอบรมให้ความรู้แก่เด็กนักเรียน อย่าง “โรงเรียน” ต้องปิดทำการลง อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อช่วยสกัดกั้นยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส

การปิดโรงเรียนอย่างกระทันหันด้วยเหตุจำเป็นดังกล่าว ภายในระยะเวลาเพียงชั่วข้ามคืน ทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่ทั่วโลก ตกอยู่ในสภาวะสูญญากาศ ที่ทั้งครูและนักเรียนต่างตระหนักและเข้าใจดีว่า การเรียนหนังสือไม่อาจสะดุดหยุดชะงักได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร และใช้อะไร

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า อย่างน้อยในยุคที่การสื่อสารไร้พรมแดน และสมบูรณ์ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่หลากหลาย ทำให้โรงเรียนหลายแห่ง สามารถดำเนินการเรียนการสอนของตนต่อไปได้ ซึ่งรวมถึง โรงเรียนนานาชาติมอนซา ในแคว้น Lombardy ของอิตาลี ที่ต้องเผชิญกับมาตรการล็อคดาวน์ภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังมีการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวจากรัฐบาลท้องถิ่น 

ทั้งนี้ Iain Sachdev ครูใหญ่ของโรงเรียนนานาชาติมอนซา สั่งเรียกระดมพลคุณครูแทบจะในทันที เพื่อจัดทำคลิปวีดีโอสั้นๆ สำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง โดยทีมคุณครูมีระยะเวลาเพียง 1 วัน ในการจัดทำเพื่อให้สามารถเปิดชั้นเรียนออนไลน์ให้ได้ภายในวันถัดไป

เป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย กระนั้น ตลอดระยะเวลากว่า 5 สัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การเรียนการสอนทั้งหมดของโรงเรียนนานาชาติแห่งนี้ ก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ

เรียกได้ว่า เด็กๆ ได้เรียนหนังสือเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือวิธีการเรียนการสอนที่แตกต่างออกไป กล่าวคือ คุณครูสอนผ่านระบบประชุมวีดีโอทางไกลในทุกวัน เด็กเข้าร่วมชั้นเรียนผ่าน Padlet ระบบโพสอิทโน้ตที่ให้นักเรียนร่วมแบ่งปันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โปรแกรม Flipgrid ที่ช่วยให้ครูและนักเรียนร่วมสร้างวีดีโอสั้นๆ มาแบ่งกัน และอีกสารพัดวิธีการออนไลน์ ที่เปิดทางให้เด็กแต่ละคนได้ทำการบ้าน ทำงานกลุ่ม และปรึกษาสอบถามคุณครูได้ทุกเมื่อที่ต้องการ 

Jenny Anderson ผู้สื่อข่าวอาวุโสของเว็บไซต์ Quartz ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนนานาชาติมอนซาแห่งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองภาคสนามครั้งใหญ่ที่สุดของโลกในด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Technology) หรือ Edtech ที่ตามปกติไม่อาจเกิดขึ้น แต่เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งเร้าให้บรรดาคุณครู ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา นักเรียน และพ่อแม่ผู้ปกครอง ได้นั่งคิดทบทวน วิเคราะห์ปัญหา และร่วมมือหาหนทางที่ดีและสร้างสรรค์ที่จะทำให้การเรียนการสอนดำเนินงานต่อไปได้

และคำตอบที่ได้ก็คือการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

Andreas Schleicher หัวหน้าฝ่ายการศึกษาขององค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่สำหรับการศึกษา ที่ทุกฝ่ายพร้อมใจเพิกเฉยต่อระบบกฎเกณฑ์ที่แสนคร่ำครึเทอะทะ เพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาที่ในอดีตพวกเขาพยายามเลี่ยงมาโดยตลอดอย่างการเรียนการสอนออนไลน์

ทั้งนี้ หัวหน้าฝ่ายการศึกษาของ OECD เสริมว่า แนวทางการเรียนการสอนแบบใหม่ผ่านโลกออนไลน์ เปิดทางให้เด็กนักเรียนมีบทบาทกำหนดการเรียนการสอนด้วยตนเอง เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่ตนต้องเรียน รู้ในสิ่งที่ตนชอบ และรู้ว่าอะไรจะช่วยสนับสนุนการเรียนหนังสือของตนเองได้ 

“การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติรุนแรง คุณไม่สามารถหยุดยั้งความเคลื่อนไหวที่กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นได้” Schleicher กล่าว 

อย่างไรก็ตาม แม้การพลิกโฉมระบบการเรียนการสอนจะเป็นมุมมองด้านบวกที่หลายฝ่ายมองเห็นจากวิกฤติแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนให้เห็นข้อจำกัดและอุปสรรคท้าทายที่สำคัญในแวดวงการศึกษาเช่นกัน 

ความท้าทายที่ว่านี้ หมายรวมถึง ความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยี ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเล่าเรียน ความพร้อมของพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะอยู่ร่วมด้วยช่วยลูกเล่าเรียนหนังสือที่บ้าน และความพร้อมของครูบาอาจารย์ที่จะทำการอบรมสั่งสอน รวมถึงให้คำแนะนำแก่เด็กนักเรียนของตนผ่านเทคโนโลยีเหล่านี้ 

ทั้งนี้ เมื่อพายุที่ชื่อว่า ไวรัสโควิด-19 ผ่านพ้นไป โรงเรียนหลายแห่งอาจมีการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงจากประสบการณ์ในช่วงเวลาวิกฤติที่ว่านี้ หรือบางโรงเรียนอาจจะเลือกกลับสู่การเรียนการสอนตามธรรมเนียมปกติที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย 

กระนั้น ท่ามกลางสถานการณ์ของโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ด้วยจำนวนว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย “การศึกษา” ก็มีเหตุให้ต้องเปลี่ยนแปลงปฏิรูปอยู่ดี เพื่อให้สอดคล้องและตอบโจทย์กับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนับต่อจากนี้ไปจนถึงอนาคต 

Anderson ผู้สื่อข่าวอาวุโสของ Quartz ผู้ตั้งประเด็นและเขียนบทรวบรวมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ได้ร่วมแสดงความเห็น โดยระบุถึง ประเด็นสำคัญ 4 ประการที่ต้องคำนึงถึง หากจะต้องเดินหน้าปฎิรูปพลิกโฉมระบบการศึกษาทั่วโลกบนโลกออนไลน์ไร้พรมแดน ภายใต้เทคโนโลยีด้านการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะนำมาใช้ในอนาคตข้างหน้า

 

โดย ประเด็นทั้ง 4 ประการประกอบด้วย

1) ความเสมอภาคเท่าเทียม
2) ห้องเรียนและโรงเรียน

3) เทคโนโลยี
4) ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

 

1.ความเสมอภาคเท่าเทียม

 

 

สำหรับประเด็นแรก อย่าง ความเสมอภาคเท่าเทียม (Equity) Anderson กล่าวว่า ระบบการศึกษาออนไลน์ ทำให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันอย่างมากของระบบการศึกษาทั่วโลก ที่เด็กนักเรียนส่วนหนึ่งจะเข้าไม่ถึงการศึกษา เพราะไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีอินเตอร์เน็ต

ข้อมูลจาก OECD พบว่า ในประเทศพัฒนาแล้ว อย่าง เดนมาร์ก สโลวีเนีย นอร์เวย์ โปแลนด์ ลิธัวเนีย ไอซ์แลนด์ ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ นักเรียนกว่า 95% มีคอมพิวเตอร์ใช้งานเพื่อเล่าเรียน เมื่อเทียบกับเด็กนักเรียนในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย ที่มีเพียง 34% เท่านั้นที่มีคอมพิวเตอร์ ขณะที่ในสหรัฐฯ เด็กนักเรียนวัย 15 ปีจากบ้านที่มีฐานะทุกคนล้วนมีคอมพิวเตอร์ใช้ แต่เกือบ 1 ใน 4 ของเด็กที่มีฐานะยากจนกลับไม่มีใช้ 

Schleicher หัวหน้าฝ่ายการศึกษา OECD ยอมรับว่า แม้จะเห็นข้อดีมากมายของการเรียนออนไลน์ แต่ตนก็มองเห็นข้อเสียด้วยเช่นกัน เพราะ การเรียนออนไลน์ทำให้เส้นแบ่งความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมชัดเจนยิ่งขึ้น 

เพราะเด็กที่บ้านมีฐานะดีย่อมสามารถเข้าถึงเครื่องมือที่ต้องการภายใต้ความช่วยเหลือของพ่อแม่ หรือแม้แต่ทางโรงเรียนเอง ขณะที่เด็กที่มีฐานะยากจนกลับจะต้องเผชิญปัญหามากมาย เริ่มต้นจากปัญหาพื้นฐานอย่าง ปากท้อง ที่ระบบการศึกษาแบบมีโรงเรียน สามารถช่วยสนับสนุนแก้ไขตรงนี้ได้แต่ระบบออนไลน์ทำไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น โครงการอาหารกลางวัน หรือ การมอบทุนการศึกษา  

ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาความไม่เท่าเทียมนี้ ยังครอบคลุมถึง การที่เด็กบางคนอาจไม่รู้ว่าต้องเรียนด้วยตนเองอย่างไร จะจัดสรรบริหารเวลาอย่างไร หรือขาดแรงจูงใจผลักดันในการเรียน ส่งผลให้การเรียนออนไลน์ไม่สามารถประสบความสำเร็จตามที่เด็กนักเรียนตั้งใจไว้ได้

ขณะเดียวกัน ความไม่เสมอภาคเท่าเทียมนี้ ยังหมายรวมถึง บรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ที่สมควรได้รับการฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอเพื่อพัฒนาทักษะของคนเอง และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้ครูสามารถมุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่การประสิทธิ์ประสาทความรู้แก่ลูกศิษย์ตัวน้อยอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลต่อเรื่องปากท้องของตนเอง ซึ่งหมายความว่า คุณครูสมควรได้รับเงินเดือนที่เหมาะสม หรืออย่างน้อยก็ควรมากกว่าหรือเทียบเท่าบรรดานายธนาคารทั้งหลาย

เพราะงานของคุณครูคือการสร้างคน ทรัพยากรที่มีคุณค่าและมูลค่ามากที่สุดของประเทศ

 

2.ห้องเรียน และ โรงเรียน

 

 

ในส่วนของประเด็นประการที่สองคือ ห้องเรียน และ โรงเรียน เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ยังไม่พร้อมที่จะเรียนผ่านระบบออนไลน์ 

ทั้งนี้ สำหรับโรงเรียนเอกชนที่เพียบพร้อมอย่างโรงเรียนนานาชาติมอนซา การจัดเตรียมอุปกรณ์เทคโนโลยีเพื่อทำการสอนทางไกลเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยาก เพราะด้วยอุปกรณ์ที่ครบครัน ทำให้เป็นเรื่องที่ง่ายที่คุณครูในการสอนหนังสือเด็กๆ ภายในห้องของตน อีกทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ยังช่วยให้ติดตามและเข้าหาเด็กที่ยังมีปัญหา ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่จะเพียบพร้อมเหมือนมอนซา และไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่คุณครูจะทำหน้าที่เพียงแต่การสอน เนื่องจากคุณครูยังมีหน้าที่ ต้องคอยหาทางแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของลูกศิษย์ รวมถึงงานจิปาถะอื่นๆ

ดังนั้น เมื่อไม่มีความหวังที่จะให้เด็กนักเรียนหลายล้านคนทั่วโลกได้สัมผัสการเรียนผ่านระบบออนไลน์ สิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกควรทำก็คือการหาแนวทางที่สร้างสรรค์ที่จะเปิดทางให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

3.เทคโนโลยี

 

 

สำหรับประเด็นที่สามก็คือ เรื่องของเทคโนโลยี โดยสิ่งสำคัญแรกสุดก็คือคุณภาพและประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ว่า ดีหรือไม่ เป็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหน และสอดคล้องกับบริบททางสังคมนั้นๆ มากมายเพียงใด

แม้ผลการสำรวจของ HolonIQ บริษัทด้านการตลาดในแวดวงการศึกษา ที่สำรวจความเห็นของบรรดานักลงทุนและผู้บริหารเกี่ยวกับการศึกษา 2 ครั้งต่อปี จะพบว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เทคโนโลยีทางการศึกษาทั้งหลายได้รับความสนใจอย่างมาก กระนั้น ส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงวันว่า หลังจากที่การระบาดยุติลง เทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับความสนใจจากโรงเรียนส่วนใหญ่เท่าที่ควร

เหตุผลหลักๆ เป็นเพราะ เทคโนโลยีการศึกษาเหล่านี้ ไม่สามารถทดแทนสิ่งที่โรงเรียนและห้องเรียนให้ได้ นั่นคือ สายสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน โดยเทคโนโลยีเป็นได้เพียงแค่สื่อกลางระหว่างครูกับนักเรียนได้ติดต่อหากัน แต่สุดท้ายก็ไม่เหมือนกับการที่ทั้งสองฝ่ายได้พบหน้าพูดคุยกันโดยตรงในห้องเรียนอยู่ดี

 

4.ปฎิสัมพันธ์ทางสังคม

 

 

ด้านประเด็นสุดท้ายอย่างปฎิสัมพันธ์ทางสังคม เป็นสิ่งที่พิสูจน์ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงปฎิรูประบบการศึกษาอย่างไร โรงเรียน คือสิ่งที่จำเป็นต้องมีและควรมีอย่างที่สุด เพราะการมีอยู่ของโรงเรียน ไม่ได้หมายถึงการเป็นแค่สถานศึกษาให้ความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ทักษะด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

เป็นการสอนที่นอกเหนือไปจากวิชาการเรียนตามหล้กสูตรภาคบังคับ ไม่ว่าจะเป็น การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา การมีมารยาท รู้กาลเทศะ รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ ตลอดจนการดูแลสวัสดิภาพของเด็กและครอบครัว 

โดย Anderson ได้ยกตัวอย่างกรณีการเรียนการสอนออนไลน์ของโรงเรียนนานาชาติมอนซาในอิตาลี ที่ช่วงแรกๆ บรรดานักเรียนต่างกระตือรือร้นและเข้าร่วมการเรียนการสอนอย่างแข็งขัน ทว่า เมื่อเด็กเหล่านี้ต้องเผชิญกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวเพราะไวรัสโควิด-19 สิ่งที่ครูต้องทำมากกว่าการสอนออนไลน์ก็คือการปลอบประโลมจิตใจของเด็กๆ ที่ระบบออนไลน์อาจไม่สามารถตอบโจทย์ได้ดีมากนัก