เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา นักศึกษา สวปอ. มส. SML รุ่นที่ 1 สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรไทย ซึ่งประกอบด้วย นายเอกพล พงศ์สถาพร กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทิปโก้ฟูดส์ นายอาร์ม ทิพยจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมจิกมูน จำกัด นายกิตติพงษ์ สุมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอริส กรุ๊ป จำกัด นายธีรชาติ จิรจรัสพร สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย พล.ท.มนัส แถบทอง(นัส) ที่ปรึกษา วปอ.(สำนักงาน ผอ.วปอ.) นายเสนีย์ สมมา Vice Pressident Samart Communication Service Co.Ltd. เข้าเยี่ยมชมและศึกษาการบริหารงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา( กสศ.) โดยมี นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกสศ. ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. ดร.ภูมิศรันย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาค กสศ. ให้การต้อนรับและร่วมบรรยาย
กลุ่มนักศึกษา สวปอ. มส. SML รุ่นที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารภาคธุรกิจเอกชน ต้องการพบปะแลกเปลี่ยน กสศ. เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่การทำงานในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อได้เสนอเป็นแนวทางการปฏิรูปการศึกษาต่อไป
ทั้งนี้ นพ.สุภกร อธิบายถึงการจัดตั้ง กสศ. ริเริ่มจาก ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ให้มีองค์กร ดังกล่าวโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กองทุนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี และมีการบริหารงานที่เป็นอิสระ
“ที่ผ่านมา หลายท่าน ถ้าไม่รู้จัก กสศ. ก็จะคิดว่า กสศ. เป็นหน่วยงานที่ทำงานสังคมสงเคราะห์ แจกทุนการศึกษา แต่นั่นไม่ใช่ เรากำลังทำงานเพื่อชี้แนวทางการปฏิรูปการศึกษาจะไปในทิศทางใด ตลอดสองปีที่ผ่านมา กสศ.ได้ดำเนินโครงการหลายโครงการ ซึ่งรวมถึงงานวิจัยและพัฒนา ค้นหาสาเหตุความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา “ ผู้จัดการ กสศ. กล่าว
ดร.ไกรยศ ได้หยิบยกเครื่องมือในการสืบค้นกลุ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ที่เรียกว่า ระบบ iSEE ซึ่งเป็นการลงไปเก็บข้อมูลจากพื้นที่จริงนำมาวิเคราะห์เจาะลึก หาตัวชี้วัดความยากจนในการเข้าถึงกลุ่มเด็กนักเรียนยากจน และนักเรียนยากจนพิเศษอย่างแท้จริง
ดร.ไกรยศ บอกว่า การวางระบบดังกล่าว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพราะบริษัท หรือหน่วยงานต่างๆสามารถนำข้อมูลชุดนี้ไปใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อวางแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อได้อีกด้วย
“ระบบ iSEE คือ Data Visualization หรือการแสดงผลข้อมูล เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการบูรณาการการมีส่วนร่วมจากทั้งภาครัฐภาคเอกชน การระดมทุนให้เข้ามาทำงานร่วมกัน การมีข้อมูลตรงนี้อยู่ ช่วยให้การระดมทรัพยากรต่างๆนั้นง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และไปได้ตรงจุดมากขึ้นทุกอย่างจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีข้อมูลและเทคโนโลยีหรือการแสดงผลข้อมูล เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการบูรณาการการมีส่วนร่วมจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน การระดมทุนให้เข้ามาทำงานร่วมกัน” ดร.ไกรยศ กล่าว
ทั้งนี้ คณะวปอ. ได้ให้ความสนใจการวางระบบ iSEE. ของกสศ. ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นองค์กรทางการศึกษาแรกๆ ในการวางระบบเทคโนโลยีเพื่อการวิจัยเส้นแบ่งระดับของความเหลื่อมล้ำ หรือแม้แต่การค้นหาปัญหาความยากจนจริงและสามารถนำไปแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
พร้อมกันนี้ วปอ. ได้รับทราบถึง การดำเนินโครงการเร่งด่วนของกสศ. คือ การจัดทำโครงการ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือเพื่อมื้อน้อง” ซึ่งขณะนี้ มีภาครัฐ ประชาชน เอกชน จำนวนมาก ร่วมกันบริจาคเงิน และเครื่องอุปโภคบริโภค ส่งมอบไปถึงนักเรียนยากจนพิเศษที่ประสบภาวะทุพโภชนาการ ในช่วงปิดเทอมยาวนาน โดยผู้บริจาคสามารถนำใบเสร็จไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ทางคณะวปอ.เปิดเผยด้วยว่าพร้อมให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างเต็มที่