แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา
ธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยผลการศึกษาชี้ วิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ทำให้ประชากรทั่วโลกราว 100 ล้านคนตกอยู่ในสถานะยากจนขั้นสุด (Extreme Poverty)
เว็บไซต์ World Economic Forum รายงานว่า อ้างผลการศึกษาของธนาคารโลก ซึ่งออกมาพิจารณาทบทวนการคาดการณ์ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่มีต่อสภาวะความยากจนทั่วโลก โดยพบว่า ในกรณีที่สถานการณ์เลวร้ายรุนแรง จะทำให้มีประชากรโลกมากถึง 100 ล้านคน ที่ตกอยู่ในสภาพยากจนขั้นสุด
เหตุผลหลักเป็นเพราะ การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกต้องออกมาตรการล็อคดาวน์ จำกัดการเดินทางเพื่อสกัดกั้นการระบาด จนส่งผลต่อกิจกรรมความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม กลายเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง
ก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ประมาณการณ์ว่า COVID-19 จะทำให้มีประชากรโลกยากจนขั้นสดมากขึ้นระหว่าง 40-60 ล้านคน
ทว่า เนื่องจากศูนย์กลางของการระบาดได้ขยายตัวและเคลื่อนย้ายจากภูมิภาคยุโรป ไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ ก่อนเคลื่อนลงมาทางตอนใต้ของทวีป เพิ่มยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในประเทศรายได้ต่ำและปานกลางของภูมิภาคเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ทำให้ผลกระทบจาก COVID-19 ที่มีต่อภาวะความยากจนมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ทางธนาคารโลก จึงได้ตัดสินใจ รวบรวมข้อมูลและประเมินผลกระทบจากโรค COVID-19 ต่อภาวะความยากจนอีกครั้ง โดยใช้ข้อมูลคาดการณ์การเติบโตจากรายงาน Global Economic Prospects (GEP) ฉบับล่าสุด คือเดือนมิถุนายน เพื่อปรับปรุงข้อมูลผลกระทบการระบาดต่อภาวะยากจนทั่วโลกให้ทันสมัยมากขึ้น
รายงานระบุว่า การคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก เป็นไปภายใต้สมมติฐานของ 2 สถานการณ์ที่แคกต่างกัน คือ (Baseline) และ (Downside) เพื่อค้นหาว่า ความแตกต่างดังกล่าวจะกระทบต่อภาวะความยากจนอย่างไร
สำหรับ (Baseline) นี้ หมายถึง สถานการณ์การระบาดสามารถควบคุมได้ตามที่คาดการณ์ไว้ ทำให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ (Downside) ก็คือการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ กินระยะเวลายาวนานกว่าที่คาด ทำให้ต้องขยายเวลาบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ หรือ มีคำสั่งนำมาตรการล็อคดาวน์กลับมาใช้อีกครั้ง
ทั้งนี้ ธนาคารโลกระบุว่า หากกรณีที่สถานการณ์ที่ 2 หรือ (Downside)เกิดขึ้น บริษัทที่ตกอยู่ในความเสี่ยง ส่วนใหญ่คือบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีสภาพคล่องไม่หนาแน่นพอ อาจต้องปิดกิจการลง กระทบต่อรายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ จนต้องลดปริมาณความต้องการบริโภค หันมาประหยัดมากขึ้น ซึ่งประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประเทศที่มีรายได้ต่ำ หรือ รายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ
ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีของ (Baseline) จะทำให้ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ หดตัวลง 5% ส่วน (Downside) จะทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวลง 8%
ขณะเดียวกัน เมื่อใช้การคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศทั่วโลกล่าสุด เพื่อประเมินผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อภาวะความยากจน พบว่า ในกรณีของ (Baseline) จะทำให้มีประชากรทั่วโลก 71 ล้านคนตกอยู่ในภาวะยากจนขั้นสุด โดยมีรายได้ต่อวันอยู่ที่เพียง 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 58 บาท) ขณะที่ กรณี Downside จะทำให้มีประชากร 100 ล้านคนทั่วโลกยากจนขั้นสุด
นอกจากนี้ การคาดการณ์ภาวะความยากจน และสถานกาณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปีหน้า หรือ 2021 ก็เต็มไปด้วยปัจจัยไม่แน่นอนที่สั่นคลอนเศรษฐกิจมากมาย โดยแม้รายงานของ GEP คาดการณ์ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 4% ในปีหน้า แต่ภาวะความยากจนกลับมีแนวโน้มย่ำแย่ โดยเฉพาะ จำนวนคนยากจนขั้นสุดจะยังคงมีจำนวนมาก และไม่ขยับลดลงระหว่างปี 2020-2021
เหตุผลที่ตัวเลขคนยากจนขั้นสุดไม่มีแนวโน้มลดลง เป็นผลมาจากอัตราการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มยากจนที่มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่ภาวะชะงักงัน จนถึงขั้นถดถอยเพราะโรค COVID-19 ซึ่ง รายงานของธนาคารโลก คาดว่า ไนจีเรีย อินเดีย และสาธารณรัฐคองโก จะเป็นประเทศที่มีประชากรยากจนมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรยากจนทั้งหมดของโลก ด้วยอัตราการเติบโตของ GDP ที่ -0.8%, 2.1% และ 0.3% ตามลำดับ
ที่สำคัญด้วยอัตราการขยายตัวของประชากรของทั้ง 3 ประเทศ ไนจีเรียที่ 2.6% อินเดีย 1.0% และ คองโก ที่ 3.1% ก็ยิ่งทำให้เป็นเรื่องยากที่รัฐบาลของประเทศจะลดจำนวนประชากรยากจน
ในรายงานผลกระทบ COVID-19 ที่มีต่อความยากจนของประเทศฉบับล่าสุด หลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกายังคงเป็นประเทศที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รุนแรงที่สุด เหมือนกับที่ระบุไว้ในรายงานก่อนหน้า ขณะที่ อินเดีย ถือเป็นประเทศที่น่าจับตามองมากที่สุดในครั้งนี้ หลังจากมีรายงานพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 เป็นจำนวนมากจนน่าหวั่นใจ
สถานการณ์ COVID-19 ของอินเดียในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารโลกหวั่นใจว่า จำนวนคนยากจนที่มีมากอยู่แล้วในอินเดีย จะยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น กดดันให้สถานการณ์ความยากจนเลวร้ายหนักอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยขณะนี้้ ธนาคารโลกไม่สามารถคาดการณ์ตัวเลขคนยากจนที่จะมีมากขึ้นหลัง COVID-19 ได้ เพราะข้อมูลคนยากจนในอินเดียที่มีล่าสุดอยู่ในปี 2011-2012
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากเส้นแบ่งความยากจน โดยยึดเกณฑ์รายได้ต่อวันที่คนละ 3.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 99 บาท) พบว่า โรค COVID-19 จะทำให้มีประชากรตกอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจนมากถึง 176 ล้านคนทั่วโลก ในจำนวนนี้ 2 ใน 3 อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งรวมถึง อินเดีย ขณะที่ ประชากรราว 177 ล้านคน จะมีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 5.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 170 บาท) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแถบแปซิฟิก ส่วนหนึ่งอยู่ในแถบ ซับ-ซาฮาราของแอฟริกา
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์โรค COVID-19 ในปัจจุบันยังไม่ยุติ แม้หลายประเทศจะเริ่มคลายมาตรการล็อคดาวน์แล้วก็ตาม ทำให้ธนาคารโลกยอมรับว่า อาจจำเป็นต้องมีการพิจารณาทบทวนผลกระทบของโรค COVID-19 ที่มีต่อภาวะความยากจนของประชากรทั่วโลกอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้
ที่มา : COVID-19 could push 100 million people into extreme poverty, says World Bank