ผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อแรงงานกลุ่มเปราะบาง

ผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อแรงงานกลุ่มเปราะบาง

คาดกันว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวลงไม่น้อยกว่า 0.14%1 คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 54,000 ล้านดอลลาร์  สำหรับประเทศไทยนั้น  หน่วยงานด้านเศรษฐกิจหลายแห่งมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะมีค่าติดลบ เนื่องจากการลดลงของมูลค่าการส่งออก  การหดตัวของภาคการท่องเที่ยว  การชะลอของการลงทุน  รวมถึงการลดลงของกำลังซื้อในประเทศ โดย Economic Intelligence Center (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่าอัตราการขยายตัวจะมีค่าประมาณ -0.3%2 และการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นไปได้ว่าอัตราการการขยายตัวจะกลายเป็น -5.3%3

การประเมินผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ที่เกิดจาก COVID-19 นั้น  ควรพิจารณาในบริบทสำคัญ 2 เรื่อง  เรื่องแรก คือ การที่เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวต่ำต่อเนื่องมานานกว่า 5 ปี เป็นการบั่นทอนความเข้มเข็งของธุรกิจจำนวนหนึ่งมาอย่างต่อเนื่อง เรื่องที่สอง คือ เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุค 3.0 ไปสู่ 4.0  (Disruption) ดังนั้น  การจะพิจารณาผลกระทบจาก COVID-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย  โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดแรงงงาน จึงต้องนำมาวิเคราะห์ร่วมกับบริบทสำคัญทั้ง 2 เรื่องนี้ด้วย  จึงอาจกล่าวได้ว่า

สถานการณ์ที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบันคือ Covid-Disruption  ที่อาจทำให้แรงงานกลุ่มเปราะบางของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง  ซึ่งรวมถึงประเทศไทย  ต้องตกงานเพิ่มขึ้นรวมกันราว 1.7 ถึง 7.4 ล้านคน 

โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่า  กลุ่มที่เปราะบางในกรณีนี้ ได้แก่  1) กลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้มีปัญหาสุขภาพ  2) กลุ่มแรงงานเยาวชน (Youth) ที่มักจะเป็นกลุ่มที่มีความเสียงสูงต่อการถูกเลิกจ้างหรือลดชั่วโมงการทำงาน  โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ (ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วช่วงการแพร่ระบาดของโรค MERS)  3) แรงงงานหญิง 4) แรงงานนอกระบบ และ 5) แรงงานข้ามชาติ  สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น  แรงงานเยาวชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง  หมายถึง  เยาวชนที่มีวุฒิการศึกษาไม่เกิน ม.6 ที่กำลังทำงาน และมีรายได้ไม่เกิน 6,500 บาทต่อเดือน

ภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด คือ ภาคการท่องเที่ยว และภาคเศรษฐกิจที่ทำการผลิตเพื่อส่งออก  แล้วจึงส่งผลสืบเนื่องไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน  เช่น  ผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวไปสู่ภาคเกษตรและภาคขนส่งเป็นต้น  เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับข้อเท็จจริงที่ว่า  เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำต่อเนื่องกันมากว่า 5 ปี  และธุรกิจกำลังปรับตัวสู่ยุค 4.0 ที่จะนำเทคโนโลยีมาแทนคนมากขึ้น  จึงสามารถสรุปผลกระทบต่อแรงงาน  ได้ดังนี้

 

8 ผลกระทบต่อแรงงาน

  1. จะเกิดการเลิกจ้างแรงงาน  โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ  และมีการปรับรูปแบบการทำธุรกิจควบคู่กันไปด้วย  ซี่งทำให้แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นมา  การจ้างงานของแรงงานในกลุ่มนี้ก็จะไม่ได้กลับมาเพิ่มขึ้นมาก  เนื่องจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลภาวะการทำงานของประชากร  พบว่า  อาชีพที่ 20 อันดับแรกที่แรงงานเหล่านี้ทำอยู่  ล้วนแต่เป็นงานที่ใช้ทักษะไม่ซับซ้อน  จึงสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้แทนได้  หรือสามารถใช้แรงงานข้ามชาติมาแทนได้เช่นกัน โอกาสจะได้กลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมจึงมีน้อยลง  ยกเว้นแรงงานในภาคเกษตรที่อาจมีงานทำ  เนื่องจากการทำเกษตรส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการผลิตมากนัก
  2. แรงงานที่เดินทางจากต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในเมือง  แล้วต้องเดินทางกลับบ้านหลังถูกเลิกจ้าง  มีแนวโน้มจะไปช่วยงานของครัวเรือน  ซึ่งจากข้อมูลในภาคผนวก ทำให้คาดได้ว่า แรงงานส่วนใหญ่จะกลับไปสู่ภาคเกษตร
  3. แรงงานที่ยังอยู่ในเมืองและต้องหางานทำ  จะมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างน้อยลง  จึงอาจต้องทำงานที่หนักขึ้น  ได้รับค่าตอบแทนน้อยลง  และเป็นการจ้างงานชั่วคราวหรือการจ้างงานนอกระบบ  ทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคม  ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวของตนเอง และครอบครัว
  4. เนื่องจากการศึกษาไม่สูง  และงานที่ทำส่วนใหญ่เป็นงานที่ไม่ซับซ้อน  แรงงานจึงไม่ได้พัฒนาทุนมนุษย์ในตัวให้มีมากขึ้นตามระยะเวลาการทำงาน  การจะ Reskill หรือ Upskill จึงทำได้ยาก  และเป็นการยากที่จะส่งเสริมให้แรงงานเหล่านี้สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อเสริมทุนมนุษย์ให้มีมากพอจะสร้างโอกาสในการทำงาน
  5. เมื่อถูกเลิกจ้างนานไป  ไม่สามารถหางานที่เหมาะสมทำได้  จะทำให้ถูกตัดขาดจากตลาดแรงงาน  ยิ่งว่างงานมาก  โอกาสจะได้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานยิ่งน้อยลง
  6. แรงงานที่ยังไม่ถูกเลิกจ้าง  อาจจะได้ร้บเงินเดือนเท่าเดิมแต่ภาระงานเพิ่มขึ้น  หรือได้รับเงินเดือนน้อยลง  ลดชั่วโมงการทำงาน  หรือมีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพและรายได้ลดลงกว่าเดิม
  7. แรงงานที่ตกงานหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง  อาจเลือกทำงานในธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการระบาดของ COVID-19 เช่น  การรับจ้างขับรถส่งอาหาร  การขายของออนไลน์ เป็นต้น  ซึ่งงานเหล่านี้เป็นงานที่เกิดขึ้นในระยะเปลี่ยนผ่าน  (Transitional Jobs) และจะหายไปในอนาคต เช่น เมื่อมีรถยนต์หรือโดรนส่งอาหาร  เมื่อมี AI มาช่วยในการขายสินค้าให้กับลูกค้า เป็นต้น  การมีงานทำในปัจจุบันจึงไม่ได้เป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิต
  8. สมาชิกในครอบครัวของแรงงานที่ได้รับผลกระทบที่ยังอยู่ในวัยเรียน อาจไม่สามารถเรียนรู้จากการสอนออนไลน์ได้  เนื่องจากความไม่พร้อมด้านทรัพยากร  และพื้นฐานความรู้  ซึ่งจะส่งผลในระยะยาวต่อโอกาสการเรียนต่อและชีวิตการทำงาน

 

4 ข้อเสนอแนะ
บรรเทาผลกระทบกลุ่มแรงงาน

  1. ประเมินชุดทักษะปัจจุบัน (Current Skill Profile) ของแรงงานกลุ่มเป้าหมาย  โดยดูจากการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน  ลักษณะงานที่ทำ  ความถนัด  และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง  เพื่อจัดกลุ่มแรงงานตามลักษณะเหล่านี้  แล้วออกแบบระบบการยกระดับทักษะให้สูงขึ้น  หรือสร้างทักษะใหม่ (Future Skill Profile)  ที่สอดคล้องกับโอกาสของงานในอนาคต
  2. นำข้อมูลจากการวิเคราะห์ชุดทักษะปัจจุบันเพื่อมาออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมกับแรงงาน  โดยพิจารณาจากอุตสาหกรรมที่แรงงานนั้นมีความสามารถจะหางานได้ในอนาคตอันใกล้ (6 เดือน – 1 ปี)
  3. จัดเงินอุดหนุนค่าครองชีพให้กับแรงงานที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทักษะ  โดยพิจารณาจากเศรษฐานะและปัจจัยแวดล้อมอื่น  ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1) Universal Basic Income Supplement ซึ่งเป็นรายได้ฐานที่จะได้รับตามขนาดของครัวเรือนและระดับเศรษฐานะ  และ 2) Income Contingent Supplement ที่เป็นรายได้ส่วนเพิ่ม  เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แรงงานที่ตกงานยอมเข้ามาพัฒนาทักษะ  และจะมีการจ่ายคืนในอนาคตเมื่อได้มีรายได้สูงขึ้นถึงระดับหนึ่งแล้ว  โดยอาจจะให้แรงงานจ่ายเองทั้งหมด หรือให้นายจ้างที่รับแรงงานเข้าไปทำงานร่วมจ่ายด้วยก็ได้
  4. ในโลกของงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ควรมีการจัดทำธนาคารเครดิต (Credit Bank) เพื่อให้แรงงานมีบันทึกการสะสมทักษะ  และใช้เป็นข้อมูลในการติดตาม  ให้คำแนะนำ  และจัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมให้ทันท่วงที  ตรงกับความถนัดของแรงงานแต่ละคน (Individualized Skill Portfolio Development) เพื่อให้แรงงานมีทักษะเพียงพอกับการหางานหรือสร้างอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทในโลกของงานที่เปลี่ยนไปได้

 


1 เสาวณี จันทะพงษ์ และ ทศพล ต้องหุ้ย (2563). ผลกระทบวิกฤต COVID-19 กับเศรษฐกิจโลก: This Time is Different ธนาคารแห่งประเทศไทย
2 Economic Intelligence Center (2563). EIC ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 2020 เป็นการหดตัวที่ -0.3% (%YOY) จากเดิมคาดขยายตัว 1.8% จากผลกระทบของ COVID-19 ที่รุนแรงกว่าคาด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปี
3 Techsauce. (2563). แบงก์ชาติ คาดปี 63 เศรษฐกิจไทยหดตัว 5.3% รับผลกระทบ COVID-19 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75%