ดร.ประสาร ชวนทุกภาคส่วน ร่วมสร้างนวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมส่งเสริมเด็กทุกคน กล้าฝัน กล้าเรียนรู้ กล้าลงมือทำและเห็นคุณค่าในตัวเอง
เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2563 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ 2563 “วาดฝัน สร้างสรรค์ อนาคต” โดยมีนักเรียนทุนเสมอภาค และเด็กๆจากชุมชนในพื้นที่รอบกสศ.ร่วมกิจกรรมอย่างอบอุ่น ผ่าน5 ฐานกิจกรรม “Dream Rally มุ่งสู่ฝัน” จากความร่วมมือของหลายภาคส่วน เช่น กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจอาชีพในฝัน โดยอาสาสมัคร นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กิจกรรมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ความคิดวิเคราะห์ ด้วยนวัตกรรมจาก OECD โดยสำนักวิจัยและวิทยบริการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี กิจกรรมวัดความพร้อมก่อนเข้าเรียน โดยสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้า กิจกรรมระเบิดจินตนาการโดยเครือข่ายครูสอนศิลปะจิตอาสา รวมถึงมินิคอนเสิรต์วาดฝันจากชมรมดนตรีและการแสดงมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ SWU BAND
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า วันเด็กปีนี้ กสศ.ขอมอบของขวัญให้เด็กๆ สองเรื่อง เรื่องแรก ถือเป็นครั้งแรกที่กสศ.เปิดบ้านให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ของเด็กๆ ทุกคน เราพัฒนาให้มีพื้นที่ซึ่งเป็นห้องเรียนเสมอภาค พื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กในศตวรรษที่ 21 เน้นกิจกรรมที่สร้างทัศนคติเชิงบวก มองเห็นคุณค่าในตัวเอง กล้าฝัน กล้าเรียนรู้ กล้าลงมือทำ หลังจากนี้กสศ.ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกิจกรรมหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งในระดับครอบครัว ห้องเรียน ชุมชน ท้องถิ่น เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ ทักษะชีวิต ให้กับเด็กๆกลุ่มเป้าหมายต่างๆ อย่างเสมอภาค โดยไม่มีอุปสรรคใดใดขวางกั้น ไม่ว่าจะเป็น ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของคุณครู เครือข่ายนิสิตนักศึกษา ภาคธุรกิจเอกชนเพื่อสังคม ร่วมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยจะมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ www.eef.or.th หรือเฟสบุ๊ค กสศ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ดร.ประสาร กล่าวว่า สำหรับของขวัญชิ้นที่สอง คือ การส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่ เด็กๆ และเยาวชนทุกช่วงวัย โดยในปีการศึกษา 2563 กสศ.จะสามารถเดินหน้างานสำคัญเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ และเยาวชน รวม 4 กลุ่มสำคัญ คือ กลุ่มที่1 ขยายผลการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนอย่างมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาคไปยังกลุ่มเป้าหมาย ประมาณ 949,941 คน ครอบคลุมนักเรียนยากจนพิเศษตั้งแต่ระดับอนุบาลถึง ม.ต้น ในสังกัด สพฐ. อปท. ตชด.และ พศ.ทั่วประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่สำคัญได้แก่ นักเรียนยากจนพิเศษระดับอนุบาล จำนวนราว150,000 คน กลุ่มที่ 2 การช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกนอกระบบกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและการฝึกทักษะอาชีพตามศักยภาพ โดย กสศ. จะสามารถช่วยเหลือเด็กนอกระบบในพื้นที่ 20 จังหวัดและภาคีเครือข่าย จำนวน 55,000คน กลุ่มที่ 3 เด็กปฐมวัย โดยพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตามมาตราฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ในลักษณะศูนย์บริการต้นแบบประมาณ 300 ศูนย์ ใน 17 จังหวัด ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอย่างน้อย 60,000 คน กลุ่มที่ 4 เยาวชนที่ยากจนอายุ 15-17 ปี โดยส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาสายอาชีพ (ปวส./อนุปริญญา) ในส่วนของทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงราว 5,000 คน ประกอบด้วยทุนต่อเนื่อง 2,113 คน และทุนใหม่ 2,500 ทุน โดยนักศึกษาทุนรุ่นแรกจะจบการศึกษาในปี 2564 จำนวน 1,000 คน
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกสศ. กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูล PISA 2018 ของ OECD พบว่าเด็กเยาวชนในครัวเรือนที่ยากจนด้อยโอกาส มีแนวโน้มจะขาดการสนับสนุนพัฒนาการทางอารมณ์จากพ่อแม่ รวมไปถึงการขาดปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของชีวิต เช่น การคิดแบบเติบโต (Growth Mindset), การตระหนักถึงความสามารถของตนเอง (Self-Efficacy) ทัศนคติในเชิงบวกต่อชีวิต (Positive Thinking) ความคาดหวังในการเรียนต่ออุดมศึกษาหรือแม้แต่การตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งในโรงเรียน (Bullying) ยังมีแนวโน้มจะเป็นปัญหาที่สำคัญในกลุ่มเด็กยากจนมากกว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าเด็กที่เกิดมาในครัวเรือนที่ยากจนที่สุดทุกคน จะต้องเผชิญกับชะตากรรมเช่นนี้เสมอ จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกยังพบว่า มีเด็กในกลุ่มยากจนที่สุด (25% ล่างสุด) ถึงประมาณ 13% ที่ยังมีกำลังใจที่ดี มีพ่อแม่ มีโรงเรียนและครูที่สนับสนุนทางอารมณ์ ถึงแม้พ่อแม่ของพวกเขาจะได้รับโอกาสทางการศึกษาน้อย (พ่อแม่มีการศึกษาในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายน้อยกว่า 1%) มีฐานะยากจน ขาดแคลนทรัพยากรทางการศึกษา แต่พวกเขาก็สามารถประสบความสำเร็จในการศึกษา ยังมีทัศนคติที่ดี มีแนวคิดในเชิงบวกต่อชีวิต เด็กกลุ่มนี้ทาง OECD เรียกว่าเด็กกลุ่มช้างเผือก (Resilient Students)
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
“ชีวิตของเด็กยากจนทุกคนยังมีความหวัง หากทุกภาคส่วน ตั้งแต่พ่อแม่ ครู โรงเรียน ชุมชน และภาคส่วนต่างๆ ในสังคมร่วมมือกันเพื่อช่วยให้พวกเขามีโอกาสที่เสมอภาคเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ และส่งเสริมเรื่อง Growth Mindset และการตระหนักถึงความสามารถของตนเอง รวมทั้งทัศนคติในเชิงบวกต่อชีวิต ทั้งในโรงเรียนและในครัวเรือน จะช่วยให้พวกเขาสามารถพัฒนาตนเองเป็นเด็กช้างเผือกได้เช่นกัน กสศ. จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยทำให้เด็กกลุ่มยากจนที่สุดมีโอกาสที่เสมอภาคที่จะพัฒนาคนเองเป็นเด็กช้างเผือกได้” ดร.ไกรยส กล่าว
ขณะที่ น.ส.มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2560 กล่าวว่า รู้สึกเศร้าที่ได้รู้ข้อมูลว่าประเทศมีเด็กยากจนขาดโอกาสทางการศึกษาเป็นจำนวนมาก จึงมองว่าสังคมต้องเริ่มช่วยกันแก้ไขปัญหา หากใครมีเวลาและโอกาสอยากเชิญชวนให้มาช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ หากทุกคนช่วยกัน เชื่อว่า ความมีน้ำใจและความเมตตาจะสามารถเปลี่ยนเป็นพลัง ช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้
น.ส.มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2560
“การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ หากเราได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มากขึ้น ก็จะทำให้ประเทศไทยมีต้นทุนทรัพยากรบุคคลที่เก่งขึ้น ดังนั้นทุกภาคส่วน ควรให้ความสำคัญและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กที่ขาดแคลน ทั้งนี้ ขอชื่นชม กสศ. ที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่าง และสร้างกำลังใจให้กับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม เพราะเราเชื่อว่า เด็กไทยมีความสามารถไม่แพ้เด็กต่างชาติ แต่ขาดเพียงแค่โอกาส ดังนั้นการทำงานของกสศ.ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กไทยมีอนาคตที่สดใส และมีกำลังใจที่จะเติบโต ไปเป็นทรัพยากรที่ดีของประเทศได้” น.ส.มารีญา กล่าว