นายกฯหนุนเพิ่มค่าอาหารกลางวันโรงเรียน
นายกรัฐมนตรีหนุนปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันในโรงเรียน เห็นด้วยโอนงบจากมหาดไทยให้กระทรวงศึกษาธิการบริหารจัดการเพื่อความคล่องตัวทันเปิดภาคเรียน
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ การตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กระทู้ถามที่ ๑๒๑/ร. เรื่อง การแก้ไขปัญหางบประมาณค่าอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ของ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย การแก้ไขปัญหางบประมาณค่าอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา
กระทู้ถามของครูมานิตย์ ระบุว่า ปัจจุบันโรงเรียนระดับประถมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั่วประเทศ ได้รับเงินสนับสนุนค่าอาหารกลางวันจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่โดยผ่านทาง องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอน การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 โดยเริ่มจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน
แต่อย่างไรก็ตามพบว่า ประสบปัญหาการเบิกจ่ายล่าช้า โรงเรียนจะได้รับ งบประมาณค่าอาหารกลางวันไม่ทันเปิดเทอมหรือมีการเปิดทำการเรียนการสอนไปแล้วกว่า 2 สัปดาห์ จึงได้รับการจัดสรรงบประมาณ โดยขึ้นอยู่กับการบริหารของหน่วยงานท้องถิ่นแต่ละแห่ง หากโรงเรียนใด ยังไม่ได้รับการเบิกจ่ายงบประมาณก็ต้องจัดหาเงินสำรอง เพื่อจัดทำอาหารกลางวันให้นักเรียนให้ทัน ต่อวันเปิดการเรียนการสอน ซึ่งปัญหานี้เกิดจากงบประมาณค่าอาหารกลางวันนี้ต้องผ่านกระทรวงมหาดไทย และโอนต่อมายังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีทั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่โรงเรียน ตั้งอยู่ ซึ่งมีหลายขั้นตอนและมีความล่าช้าทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างสถานศึกษาและท้องถิ่น ต่างจากเมื่อก่อนที่มีกระทรวงศึกษาธิการคอยสนับสนุนงบประมาณส่วนนี้ให้กับโรงเรียนในสังกัดโดยตรง
จึงขอเรียนถามว่า
1.รัฐบาลมีนโยบายในการโอนเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณค่าอาหารกลางวันของ โรงเรียนให้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กลับไปเป็นของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด
2.ปัจจุบันงบประมาณค่าอาหารกลางวันของโรงเรียนประถมยังมีไม่เพียงพอ รัฐบาลมีนโยบาย ที่จะเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้หรือไม่ อย่างไร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ถาม ดังนี้
คำตอบข้อที่ 1 จากข้อมูลกระทรวงมหาดไทย ขอเรียนว่า เมื่อพิจารณางบประมาณค่าอาหารกลางวันแล้ว หากจะให้นำกลับไปเป็นของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อสนับสนุนงบประมาณส่วนนี้ให้กับโรงเรียนในสังกัด โดยตรง ย่อมจะเป็นผลดี ซึ่งจะเป็นการลดขั้นตอนที่อาจจะเกิดความล่าช้า หรือความไม่เข้าใจกัน ระหว่างโรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้
แต่ข้อกฎหมายในปัจจุบันตามพระราชบัญญัติ กำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดเงินค่าอาหารกลางวันเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปและเป็นรายได้ที่รัฐบาลต้องจัดสรรให้กับองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น จึงทำให้เงินค่าอาหารกลางวันต้องผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นไป ตามกฎหมายที่กำหนดไว้
หากจะเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวันให้กับโรงเรียน ระดับประถมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจากกระทรวงมหาดไทยที่ต้อง ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปลี่ยนเป็นกระทรวงศึกษาธิการที่จัดสรรให้กับโรงเรียนในสังกัดโดยตรง จะต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน จะต้องไม่ถือเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาล จะต้องจัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอน การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงจะสามารถเปลี่ยนแปลง วิธีบริหารจัดการค่าอาหารกลางวันดังกล่าวได้
ดังนั้น จึงควรที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่มี ส่วนเกี่ยวข้องก่อน เพื่อให้รองรับกับวิธีการปฏิบัติที่จะก่อให้เกิดผลดีที่สุดกับนักเรียนต่อไป
คำตอบข้อที่ 2 กระทรวงมหาดไทย รายงานว่า เงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันในปัจจุบัน จำนวนคนละ 20 บาท หากเทียบกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งวัตถุดิบต่าง ๆ มีราคาแพง อาจจะทำให้ งบประมาณค่าอาหารกลางวันไม่เพียงพอ โดยปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับโรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งที่มี จำนวนนักเรียนน้อย เมื่อนำเงินค่าอาหารกลางวัน จำนวนคนละ 20 บาท ซึ่งนำมาบริหารจัดการ แบบถัวเฉลี่ยแล้ว ทำให้จัดหาอาหารได้ปริมาณที่ไม่เพียงพอแต่เมื่อเทียบกับโรงเรียนขนาดกลางหรือ ขนาดใหญ่จะไม่พบปัญหานี้ เนื่องจากมีนักเรียนจำนวนที่มากพอสำหรับการจัดสรรตามโครงการอาหาร กลางวัน เมื่อบริหารจัดการแบบถัวเฉลี่ยแล้ว ทำให้จัดหาอาหารได้ปริมาณที่เพียงพอต่อจำนวนเด็ก ที่มีทั้งหมด
ซึ่งขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณาศึกษาการเพิ่มเงินค่าอาหารกลางวันรายหัวของนักเรียน โดยจะให้เพิ่มขึ้นในโรงเรียนขนาดเล็กหรือเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดตามขนาด ของโรงเรียน (ขนาดเล็ก/ขนาดกลาง/ขนาดใหญ่) หรือเพิ่มขึ้นตามค่าครองชีพในปัจจุบัน เพื่อให้เกิด ภาวะทางโภชนาการที่ดีของนักเรียนต่อไป
อนึ่ง ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบไปถึงทุกภาคส่วน แม้แต่โรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทอมออกไป กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดทำโครงการรณรงค์ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง” เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจนพิเศษที่ประสบปัญหาจากสถานการณ์การเลื่อนเปิดเทอมนานขึ้น
ร่วมบริจาคช่วยเหลือน้องๆ ไปกับโครงการ#สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม กับ กสศ.ตั้งแต่วันนี้ – 18 มิถุนายน 2563 ผ่านบัญชี ธนาคารกรุงไทย เลขที่ 172-0-30021-6ชื่อบัญชี “กสศ.-มาตรา 6(6) – เงินบริจาค”บริจาควันนี้ นำไปลดภาษีได้ 2 เท่า
www.eef.or.th/donate-covid/ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-079-5475