จากไร่กาแฟที่รกร้างจนกลายเป็นป่า ออกผลออกดอกตามมีตามเกิด เพราะไม่รู้ว่าจะนำผลผลิตไปขายให้ใคร
มาในวันนี้ไร่กาแฟที่ บ้านห้วยขมิ้น และ บ้านแม่แฮเหนือ ต.บ้านนาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กลับมาดูงดงามสะอาดตา เต็มไปด้วยผลกาแฟสีแดงเล็กๆ รวมกันเป็นช่ออยู่เต็มต้น
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยมือของ “คนเฒ่าคนแก่” ที่ลุกขึ้นมาดูแลไร่กาแฟอีกครั้ง หลังจากเข้าโครงการการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตไม้ผลเมืองหนาวอินทรีย์ บ้านห้วยขมิ้นและบ้านแม่แฮเหนือ ของวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ต.บ้านนาจร หนึ่งในโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ก่อนหน้านี้สาเหตุที่ต้องปล่อยให้ไร่กาแฟรกร้างเพราะเจอปัญหาเพราะไม่มีผู้มารับซื้อเมล็ดกาแฟ โดยข้อจำกัดอยู่ตรงที่กลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่สามารถนำผลผลิตไปขายที่อื่นได้ ต้องรอให้มีคนมาซื้อในพื้นที่อย่างเดียวเท่านั้น เมื่อไม่มีคนซื้อ ก็ต้องปล่อยให้ไร่กาแฟถูกปล่อยทิ้งไว้อย่างน่าเสียดาย
โรงสีกาแฟชุมชน จุดเริ่มต้นให้ดูแลสวนตัวเอง
จนกระทั่งมีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น และนำไปสู่การตั้ง “โรงสีกาแฟ” ของชุมชน “ผู้เฒ่าผู้แก่” จึงได้เริ่มกลับมาเก็บเมล็ดกาแฟป้อนโรงสีของชุมชน
เช่นเดียวกับผู้ว่างงาน และแรงงานนอกระบบ ที่ปกติจะไปรับจ้างรายวัน ทั้งตัดหญ้า และไปเป็นแรงงานก่อสร้าง ก็ได้หันกลับมาดูแลสวนของตัวเองมากขึ้น เพื่อจะได้นำผลผลิตไปแปรรูป
โดยผลผลิตที่จะนำมาขายให้กับโครงการได้นั้น จะต้องเพาะปลูกแบบอินทรีย์ และจะต้องเข้าฝึกอบรมทักษะและองค์ความรู้ในการดูแลผลไม้เมืองหนาวที่ตนเองปลูกอยู่
เยาวชนเริ่มสนใจ “ต้นทุน” ในชุมชนตัวเอง
ขณะที่เด็กและเยาวชน ที่แม้จะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของโครงการ แต่ก็ยังจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มารับจ้างคัดเลือกเมล็ดกาแฟด้วย
นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปของชุมชนบ้านห้วยขมิ้น และ บ้านแม่แฮเหนือ ที่คนในชุมชนหันหลับมาสนใจ “ต้นทุน”ในชุมชนของตัวเอง
เรียนรู้ทักษะแปรรูป ต่อยอด เพิ่มรายได้
“วัฒนา ทรงพรไพศาล” ผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งผันตัวเองจากการเป็นเจ้าหน้าที่นักส่งเสริมโครงการหลวงอมก๋อย จ.เชียงใหม่ กลับมาพัฒนาบ้านเกิด บอกด้วยว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีที่คนปลูกกาแฟ จะได้ลิ้มชิมรสกาแฟที่ตัวเองปลูกครั้งแรก
“ที่ผ่านมาเก็บมา ส่งขายแบบดิบ เก็บเมล็ดมาล้างมาตากแดดแล้วขาย ตอนนี้เราจะโรงคั่วของตัวเอง เขาจะได้กินกาแฟที่ตัวเองปลูกเป็นครั้งแรกในชีวิต เขาจะเรียนรู้ทักษะการแปรรูป และได้ทำตั้งแต่การปลูก ดูแล เก็บผลผลิต นำไปคั่ว และบด นี่เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่เรามีอยู่ และยังได้รายได้ที่เพิ่มมากขึ้น”
“วัฒนา” ยอมรับว่า ในชุมชนของเขา มีต้นทุนมาก แต่เมื่อก่อนไม่มีใครเห็นคุณค่าสิ่งที่อยู่รอบตัว ที่สำคัญการเพาะปลูกในที่พื้นที่ยังคงใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำให้คนในชุมชนเจ็บป่วยโดยไม่รู้สาเหตุ
“เกษตรอินทรีย์” จึงเป็นคำตอบของคนบนดอยห้วยขมิ้นแห่งนี้
เปลี่ยนค่านิยมเรียนจบกลับมาพัฒนาบ้านเรา
นอกจากการแปรรูปเมล็ดกาแฟแล้ว ที่นี่ยังมีการแปรรูปผลไม้เมืองหนาวอื่น ผ่านกรรมวิธีการอบแห้ง และกวน ไม่ว่าจะเป็นพลับ พลัม บ๊วย เคปกูสเบอรรี่ และลูกไหน รวมถึงผลไม้เมืองหนาวๆอื่นๆที่ปลูกในชุมชน ซึ่งจะส่งขายให้กับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ รวมถึง ร้านค้าของโครงการหลวง
“ตรงนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนของคนในชุมชน จากเดิมที่ต้องไปทำงานในเมือง ตอนนี้มีคนที่เปลี่ยนความคิดว่าเรียนจบแล้วก็กลับมาพัฒนาบ้านเรา และตอนนี้มีกลุ่มคนที่ถูกเลิกจ้าง กลับมาบ้านก็เยอะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เราก็มีกิจกรรมเล็กๆน้อยๆให้เขาทำ หรือ บางคนกลับมาครอบครัวเขาก็เป็นสมาชิกในโครงการอยู่แล้ว เขาก็อาจจะช่วยที่บ้านดูแลผลผลิต บางทีเขาอาจจะตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านเลยก็ได้”
นอกจากให้ความสำคัญกับผลผลิตเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปแล้ว ในชุมชนแห่งนี้ยังมีความเข้มแข็งในการปกป้องผืนป่าและต้นน้ำด้วย เพราะพวกเขาตระหนักดีกว่าสองสิ่งนี้คือเส้นเลือดที่จะหล่อเลี้ยงพวกเขาอย่างยั่งยืน
โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค