จุดเริ่มต้นจาก “กระติบข้าวเหนียว” ของใช้ที่ทุกคนคุ้นเคย วันนี้เด็กๆ จากโรงเรียนเอราวัณวิทยาคม อ.เอราวัณ จ.เลย ได้ก้าวไปอีกขั้นด้วยการคิดดต่อยอดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคอีสาน ปรับรูปทรง เพิ่มลวดลาย ให้มีความหลากหลาย จนกลายเป็น “กล่องจักสานเอนกประสงค์” ไปวางขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับประเทศอย่าง JD CENTRAL
เสียงตอบรับที่สะท้อนผ่าน ยอดสั่งซื้อและการสอบถามรายละเอียด เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นถึงความสนใจในตัวผลิตภัณฑ์ “แฮนด์เมด-ทำด้วยมือ ผลิตด้วยใจ” ของน้องๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนกันสินค้าอื่นที่วางขายทั่วไป
การผสมผสานระหว่าง ของดีประจำท้องถิ่นกับรูปทรงที่ทันสมัย ทำให้ของ “พื้นบ้าน” กลายเป็นสินค้า “พรีเมี่ยม” ซึ่งมาจากแรงกายแรงใจของเด็กมัธยมกลุ่มหนึ่ง ที่เวลานี้กำลังความสุขอยู่กับการเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ประกอบจากประสบการณ์จริง ซึ่งไม่อาจหาได้จากในตำราเรียนที่ไหน
การผสมผสานระหว่าง “ของพื้นบ้าน” กับ “ความทันสมัย”
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเริ่มตั้งแต่เรียนรู้การสาน “กระติบข้าวเหนียว” ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เด็กนักเรียนทำเป็นกันทุกคนอยู่แล้ว เพราะอยู่ในหลักสูตรของโรงเรียน ซึ่งเปิดเป็นวิชาจักสาน นักเรียนตั้งแต่ ม.1-6 ทุกคนจะต้องเรียน โดยมีวิทยากรที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ในท้องถิ่นมาเป็นผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านให้ด้วยตัวเอง และเมื่อได้ฝึกมือไปเรื่อยๆ เด็กก็จะเก่งขึ้นทำได้ซับซ้อนขึ้น ชิ้นงานที่ยากขึ้น และทำได้ประณีตสวยงามมากขึ้น
อีกส่วนหนึ่งทางโรงเรียนได้ตั้ง “ชุมนุมจักสาน” ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งผลิตชิ้นงานส่งขาย สร้างรายได้เสริมให้กับนักเรียน ในช่วงแรกทางชุมนุมฯ จะเน้นไปที่การสาน “กระติบข้าวเหนียว” และ “โคมไฟผีตาโขน” แต่ยังขายได้ในวงจำกัด เพราะคนที่ซื้อ กระติบข้าวเหนียวก็จะเป็นคนที่มีอายุหน่อย หรือ คนที่ซื้อโคมไฟผีตาโขนซึ่งมีราคาสูง ก็จะเป็นคนที่มีกำลังซื้อ
จากของขายท้องถิ่นสู่ตลาดใหญ่ระดับประเทศ
เฉลิมพร ราศรีชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนเอราวัณวิทยาคม อธิบายว่า หลังจากได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทางโรงเรียน ได้เริ่มคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น จนนำมาสู่แนวคิดผลิตกล่องอเนกประสงค์จักสาน
โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนำวัสดุในท้องถิ่น ทั้งไม้ไผ่ และ ไม้จากต้นกระถินณรงค์ที่ปลูกในโรงเรียน มาประดิษฐ์ โดยกล่อง 1 ใบ ถ้านักเรียน 1 คนทำเองในทุกขั้นตอนจะใช้เวลาประมาณ 1 วัน แต่ถ้านักเรียน 3 คน ที่มีความชำนาญในแต่ละด้านแตกต่างกัน เช่น ชำนาญในการจักตอก สาน และการขึ้นรูปประกอบ ช่วยกันทำ ผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้นใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งสินค้าที่ผลิตแรกๆนั้น ถูกสั่งซื้อจากคนในท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เพื่อนำไปมอบเป็นของที่ระลึก
นร. กรุงเทพฯ ช่วยสร้างแบรนด์ปรับบรรจุภัณฑ์เพิ่มมูลค่า
ล่าสุด ทางโรงเรียนนานาชาติ Shrewsbury โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และบริษัท JD Central ได้ร่วมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา กับ กสศ. ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ การใช้เทคโนโลยี e-commerce และการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 (Entrepreneurial Skill)
นำไปสู่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของนักเรียน โดยให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ ทดลองจินตนาการปรับรูปลักษณ์ และลวดลาย จากกระติบข้าวเหนียวที่คนเริ่มใช้น้อยลง ให้มาเป็นกล่องเอนกประสงค์ที่คนทั่วไปสามารถใช้ได้อเนกประสงค์มากขึ้น คนซื้อก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
รวมทั้งการพัฒนาลายท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์อยู่แล้วให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยกล่องอเนกประสงค์ที่วางขายใน JD CENTRAL จะมี 4 ลาย ประกอบด้วย ลายกบน้อย ลายฟันปลา ลายปลาตะเพียน และลายเม็ดข้าวสาร
“จากการทำเวอร์คช็อปร่วมกับน้องๆ นักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตรียน ที่มาโรงเรียน 3 วัน น้องๆ ได้ช่วยปรับปรุงออกแบบกล่องบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่เราไม่มี หรือการใส่ โลโก้ของโรงเรียนเพื่อสร้างแบรนด์ของตัวเองให้เป็นที่รู้จัก นักเรียนโรงเรียนเราก็ดีใจมาก แม้ว่าเราจะอยู่ในชนบทเขาก็ยังมาหา มาช่วยพัฒนาสินค้า โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ส่วนนักเรียนเราก็สอนให้นักเรียนนานาชาติ ได้จักตอก และลองสานไม้ไผ่ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน เด็ก” ผู้อำนวยการโรงเรียนเอราวัณวิทยาคมกล่าว
ทักษะอาชีพที่มาพร้อม “รายได้” และ “สมาธิ”
หลังจากเริ่มนำผลิตภัณฑ์ไปวางขายบนออนไลน์ ก็เริ่มมีคำสั่งซื้อทยอยสั่งเข้ามา สำหรับผลตอบแทนที่นักเรียนจะได้รับจากการขายสินค้าอยู่ที่ประมาณ 100 บาท หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าสินค้า และที่เหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์จะถูกนำไปใช้เป็นเงินหมุนเวียนในชุมนุมจักสานเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ต่อไป
“นักเรียนจะได้รายได้จากการขายสินค้า เพราะเด็กของเราค่อนข้างที่จะลำบาก ทางบ้านยากจน เขาอยากจะมีอาชีพเสริมอยู่แล้ว ซึ่งบางคนนำเงินที่ได้ไปใช้ดูแลค่าครองชีพของครอบครัว บางคนสะสมเป็นก้อนนำไปซื้อสมาร์ทโฟนเพื่อใช้ในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมทางออนไลน์”
นอกเหนือจากนี้ ประโยชน์ที่นักเรียนยังได้รับเพิ่มเติมในโครงการนี้ คือ “สมาธิ” ที่เพิ่มมากขึ้นจากการฝึกชิ้นงาน ซึ่งจะส่งผลที่ดีต่อการเรียน โดยโรงเรียนได้สนับสนุนให้เด็กพิการเรียนร่วมจำนวน 13 คน ซึ่งเป็นโรคสมาธิสั้น เข้าร่วมชุมนุมด้วย ซึ่งพบว่างานจักสานเป็นงานที่สามารถให้เด็กได้ฝึกสมาธิ และเมื่อฝึกบ่อย ๆเด็กจะมีสมาธิมากขึ้น และยังนำความรู้กับทักษะที่ได้ไปเลี้ยงดูตัวเองได้หากไม่ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้อีกด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจ กล่องจักสานเอนกประสงค์ ของ รร.เอราวัณวิทยาคม หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในแคมเปญ “ชวนกันมาช้อป น้องๆ สุขใจ” รวม ผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership’s School Network) สามารถไปแวะชมหรือ อุดหนุนสินค้าของน้องๆ ได้ที่ JD CENTRAL
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค