รางวัลจัดสวนหย่อมดีกรีระดับชาติ กับเส้นทางสายอาชีพที่มีอาจารย์กับรุ่นพี่เป็นไอดอล

รางวัลจัดสวนหย่อมดีกรีระดับชาติ กับเส้นทางสายอาชีพที่มีอาจารย์กับรุ่นพี่เป็นไอดอล

“ผมจำได้ว่ามันน่าทึ่งมาก ที่ได้เห็นพวกรุ่นพี่เขาเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าให้กลายเป็นสวนเล็ก ๆ ดูสบายตาขึ้นมาได้ ผมก็รู้สึกว่าอยากเป็นอย่างเขาบ้าง”

เรื่องราวของการค้นพบอาชีพในฝันของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงคนหนึ่ง ที่บอกว่า แม้จะเติบโตขึ้นมากับพ่อที่เป็นช่างรับเหมา ทั้งยังเลือกเรียนสายอาชีพตั้งแต่จบชั้น ม.3 แต่กว่าจะค้นพบว่าสิ่งที่ตนสนใจจะสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพจริงๆ ได้อย่างไร ก็ต้องรอจนวันที่ใกล้เรียนจบ ปวช. เมื่อได้เห็นผลงานของรุ่นพี่ในสาขาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ แล้วหลังจากวันนั้น เขาก็บอกกับตัวเองว่า จะต้องเป็นนักจัดสวนมืออาชีพให้ได้

จนถึงวันนี้ วัทพงษ์วัฒน์ สอยแสงวงค์ กำลังเตรียมขึ้นชั้น ปวส.2 ในสาขาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ ซึ่งนับว่าได้เขยิบเข้าใกล้สิ่งที่ฝันไว้ไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยความใฝ่รู้ เขาไม่ได้หยุดตัวเองไว้แค่การเรียนในวิทยาลัย แต่ยังใช้เวลาเรียนรู้นอกห้องเรียนไปกับการทำงานพิเศษ รวมถึงได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากงานแข่งขันวัดทักษะการจัดสวนหย่อม ซึ่งวัทผ่านมาแล้วทั้งในระดับภาคและระดับชาติ   

 

เปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าเป็นสวนหย่อมงาม

วัทเล่าว่าเขาเป็นลูกคนโตของน้องๆ อีกสามคน จึงมีหน้าที่ช่วยพ่อทำงานรับเหมาสร้างบ้านมาตลอด ซึ่งทำให้เขาตัดสินใจเรียนสายอาชีพเพราะคิดว่าพอมีทักษะ นอกจากนี้วัทยังสนใจเรื่องพืชพันธุ์ จึงเลือกเรียนสาขาพืชศาสตร์ ในระดับชั้น ปวช. 

แต่ก่อนจะเรียนจบ วัทได้พบจุดเปลี่ยนตอนที่เขาได้เห็นงานจัดสวนหย่อมของรุ่นพี่สาขาเทคโนโลยีภูมิทัศน์

“มันเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งความรู้เกี่ยวกับพืช เทคนิคการจัดวาง และความคิดสร้างสรรค์ ผมจำได้ว่ามันน่าทึ่งมาก ที่ได้เห็นพวกรุ่นพี่เขาเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าให้กลายเป็นสวนเล็กๆ ดูสบายตาขึ้นมาได้ ผมก็รู้สึกว่าอยากเป็นอย่างเขาบ้าง วัทอธิบาย

ผ่านมา 1 ปีกับการเรียนเทคโนโลยีภูมิทัศน์ วัทบอกว่าสิ่งที่ได้รับมีทั้งประสบการณ์ ทักษะที่เพิ่มขึ้น โดยการเรียนในวิทยาลัยช่วยทำให้เขารู้ว่าทุกสิ่งที่ทำ ที่เรียนรู้ จะนำไปต่อยอดได้อย่างไร

“ผมตั้งใจแล้วว่าจะรับจัดสวนเป็นอาชีพในอนาคต จากทีแรกที่สนใจเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสวยงามอย่างเดียว พอเข้ามาเรียนจริง ๆ ได้อยู่กับอาจารย์ ช่วยงานอาจารย์ ก็ทำให้ได้เรียนรู้เทคนิควิธีที่ช่วยให้พัฒนาตัวเองได้เร็วขึ้น อีกทั้งอาจารย์ยังสนับสนุนให้ทำงานพิเศษ ซึ่งผมมองว่าการที่เรามีอาจารย์และรุ่นพี่ก็เหมือนกับเป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายอาชีพในสายงานที่เราอยากทำ ทำให้เห็นลำดับขั้นของการก้าวไปเป็นมืออาชีพ มีการส่งเสริมกันให้ไปได้เร็วขึ้น

 

ได้แสดงฝีมือในงานวัดทักษะระดับชาติ

ความมุ่งมั่นและทักษะที่โดดเด่น ทำให้วัทได้รับเลือกจากอาจารย์ให้ร่วมทีมกับรุ่นพี่เป็นตัวแทนวัดทักษะการจัดสวนหย่อม ในงานประชุมวิชาการที่รวมวิทยาลัยเกษตรทั่วประเทศ โดย องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี(อกท.)

“โจทย์ที่เราได้รับคือการทำมุมพักผ่อนแบบพอเพียง เราจึงมีไอเดียว่าจะนำวัสดุเหลือใช้ หรือสิ่งของที่ดูเหมือนไม่มีประโยชน์ เช่นไม้ไผ่ หม้อไหที่แตกหักมาจัดให้เป็นองค์ประกอบของสวนหย่อมเล็ก ๆ เอากลีบดอกไม้ที่ร่วงหล่นแล้วมาจัดเป็นกระเช้าประดับ ทำให้ประหยัด สวยงาม และน่าพักผ่อนหย่อนใจ 

“แต่วิธีการของเราคือการผสมผสาน ไม่ใช่ว่าใช้ของเหลือใช้ทั้งหมด แต่เราจะใช้เป็นวัสดุนำ ทำให้โดดเด่น ขณะที่บางส่วนก็มีที่ซื้อใหม่เข้ามาเติมบ้าง เพราะแม้หัวข้อที่ได้รับจะเป็นเรื่องความพอเพียง แต่ยังไงก็ตาม หัวใจหลักของการจัดสวนหย่อมตามความหมายที่แท้จริงคือต้องให้ความรู้สึกสงบ สวยงาม เราก็เน้นว่าใช้งบให้น้อยที่สุด แต่ต้องดูสวยด้วย” วัทเล่าประสบการณ์จากงานแข่งเมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมา  

แล้วไอเดียนี้ก็ทำให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ ได้อันดับ 3 ในระดับภาค และได้เป็นตัวแทนแข่งขันระดับชาติ จนได้อันดับที่ 5 กลับมา

 

‘สายอาชีพ’ คือวิถีของ ‘การลงมือทำ’

วัทกล่าวต่อไปว่า การเรียนสายอาชีพทำให้ได้รับประสบการณ์การทำงานมากมาย โดยส่วนตัวแล้วเขามองว่าทั้งการแข่งขันวัดทักษะและงานพิเศษ คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับสายการเรียนของเขาตรง ๆ

การได้เข้ามาเรียน ปวส. ทำให้โอกาสในการเรียนรู้ของวัทเปิดกว้างขึ้น จากการได้ไปทำงานนอกสถานที่หลายแห่ง เช่นการไปจัดดอกไม้ในงานมหกรรมดอกไม้อาเซียน ที่จังหวัดเชียงราย หรืองานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงการได้ไปอีกหลายที่ทั้งที่เป็นเชิงการศึกษาและได้ลงมือปฏิบัติ

“มีวิชาเกี่ยวกับการจัดและดูแลรักษาดอกไม้ ที่ต้องเรียนตั้งแต่ปี 1 เทอมแรก ซึ่งผมคิดว่าสิ่งที่เรียนจะวัดผลได้ก็ต่อเมื่อได้ลงมือทำ ได้ทำต่อเนื่อง เพราะเรียนอาชีวะมันอยู่แค่ในห้องไม่ได้ อยู่แค่ในนั้นมันไม่เห็นภาพ ไม่มีโอกาสได้ลองจัดวางจริงๆ การรู้แค่ทฤษฎีพอมาทำจริงบางทีก็ไม่สำเร็จ การลองผิดลองถูกนอกจากทำให้รู้ว่าสิ่งที่เรียนนำมาใช้จริงได้แค่ไหน การทำบ่อยๆ ยังทำให้งานดีขึ้น เร็วขึ้น แล้วคนทำก็ชำนาญขึ้นด้วย” วัทปิดท้าย

และนี่คือนักศึกษาสายอาชีพอีกคนหนึ่ง ที่ยืนยันว่า อาชีวศึกษาเป็นการเรียนเพื่อขัดเกลาทักษะและบ่มเพาะประสบการณ์ ที่ผู้เรียนจะสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้จริงๆ

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค