สาธิตเกษตร อินเตอร์ บุกเบิกต่อยอดเงินอุดหนุนรายหัวเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาล หลังครอบครัวนร.ร่วมบริจาคให้ กสศ. เพื่อช่วยเด็กยากจนด้อยโอกาส ด้านผู้ปกครองมั่นใจเงินส่วนนี้ช่วยเด็กยากลำบากเรียนต่อได้ หยุดวงจรหลุดการศึกษา และยังสอนบุตรหลานให้รู้จักการแบ่งปัน
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2563 รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานกรรมการดำเนินงานโครงการศึกษานานาชาติในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยถึงโครงการบริจาคเงินอุดหนุนจากรัฐบาลที่เป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนักเรียนมาให้กับนักเรียนยากจนพิเศษ (นักเรียนทุนเสมอภาค) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ว่า โครงการดังกล่าวเริ่มต้นมาจากขณะเคยเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตแห่ง มก. ภาคปกติ เคยรณรงค์ให้นักเรียน ผู้ปกครองเห็นว่ายังมีเด็กอีกกลุ่มที่ยังขาดแคลนด้อยโอกาสอีกจำนวนมาก ในอดีตมีนักเรียนและผู้ปกครองร่วมบริจาคเงินมานับล้านบาท และเนื่องจากปีนี้ตรงกับการฉลองครบรอบ 25 ปี ของการจัดตั้งโครงการนานาชาติ จึงได้เชิญชวนผู้ปกครองร่วมบริจาคสิทธิ์ค่าเครื่องแบบนักเรียนและค่าอุปกรณ์การเรียน ในโครงการเรียนฟรี 15 ปี ที่ได้รับจัดสรรจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ด้วยความสมัครใจตามระเบียบของโครงการฯ เพื่อนำไปสนับสนุนความเสมอภาคและพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษตามรายชื่อของ กสศ. ต่อไป
รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานกรรมการดำเนินงาน โครงการศึกษานานาชาติในโรงเรียนสาธิตแห่ง มก.
รศ.ดร.ดารณี กล่าวต่อไปว่า โดยในปีการศึกษา 2562 ภาคเรียนที่ 1 มีผู้ปกครองกว่า 90% จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 400 คน ยินดีร่วมบริจาคเงินในส่วนดังกล่าวเข้าร่วมกองทุน กสศ. เป็นเงินกว่า 150,000 บาท โดยโครงการบริจาคเงินอุดหนุนจากรัฐบาลที่เป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนักเรียนมาให้กับนักเรียนยากจนพิเศษของ กสศ. มีเป้าหมายสำคัญที่โรงเรียนต้องการสร้างจิตสำนึกของการแบ่งปัน การให้ และการดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้เด็กสาธิตเกษตรมีจิตใจอ่อนโยน พร้อมแบ่งปันในเรื่องต่างๆ ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะเงินเท่านั้น
“การที่มีกองทุน กสศ. จะช่วยให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เด็กและผู้ปกครองได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้ปกครองมั่นใจได้ว่า เงินบริจาคจะถูกนำไปช่วยเด็กยากจนด้อยโอกาสในแต่ละพื้นที่ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง และยังสามารถติดตามผลการช่วยเหลือเป็นรายบุคคลได้อย่างต่อเนื่อง เพราะ กสศ. มีกลไกเครือข่ายการทำงานกับสถานศึกษา พร้อมทั้งมีระบบสารสนเทศที่ทันสมัยที่ช่วยให้การบริหารจัดการเงินบริจาคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสตรวจสอบได้” รศ.ดร.ดารณี กล่าว
น.ส.นภาพิน บัวเลิศ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิตแห่ง มก.
ขณะที่ น.ส.นภาพิน บัวเลิศ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิตแห่ง มก. กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจทำให้ต้นทุนชีวิตของผู้คนไม่เท่ากัน และรู้สึกสงสารเด็กที่ไม่มีเงิน และมีฐานะยากจน ซึ่งถือเป็นอุปสรรคในการเรียนหนังสือ ดังนั้นเมื่อมองย้อนกลับมาดูตัวเองพบว่า เป็นคนที่มีโอกาสทางการศึกษา จึงต้องใช้โอกาสนี้ให้ดีที่สุด โดยการร่วมบริจาคเงินให้กับเด็กที่ไม่มีเงิน หรือเด็กที่ยังขาดแคลน เพราะพวกเขาควรได้รับสิ่งเดียวกับเด็กคนอื่นๆ นอกจากได้แบ่งปันแล้วยังได้รับความรู้สึกที่ดี และดีใจที่ได้ช่วยเหลือให้เด็กกลุ่มนี้ให้ได้รับการศึกษา
ด.ช.รณกฤต เมฆรารัตน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสาธิตแห่ง มก. กล่าวว่า ได้เห็นข่าวตามหนังสือพิมพ์ว่ายังมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่มีความต้องการที่จะเรียนหนังสือ แต่ก็ไม่ได้เรียนจึงรู้สึกอยากแบ่งปัน เพราะเด็กกลุ่มนี้คือคนไทยเหมือนกัน เพียงแต่ไม่มีเงิน หากเราได้ช่วยเหลือตรงนี้อาจทำให้เขามีชีวิตดีขึ้น เรื่องนี้ครอบครัวสนับสนุนและสอนตลอดว่า หากเราสามารถช่วยเหลือได้ก็ควรจะช่วยเหลือ และอยากให้โรงเรียนมีกิจกรรมชวนนักเรียนบริจาคหนังสือที่ไม่ใช้ หรืออื่นๆ เพื่อที่จะทำให้นักเรียนคนอื่นรู้จักการให้มากขึ้น
ด.ช.รณกฤต เมฆรารัตน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสาธิตแห่ง มก.
ด.ญ.มณีญาดา ลีฬหานาจ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสาธิตแห่ง มก. กล่าวว่าเมื่อเรามีโอกาสเราก็ต้องช่วยเหลือคนที่ขาดโอกาสช่วยเหลือคนที่ไม่ได้เรียนเพราะความยากจนซึ่งหนูสงสารอยากให้เขาได้เรียนหนังสือเพราะการเรียนเป็นสิ่งสำคัญเราจะได้มีความรู้นำความรู้ที่ได้ไปสานต่อเมื่อเรียนจบจะได้มีงานทำดีๆ เช่นคุณหมอตำรวจค้าขายฯลฯรวมถึงคนในครอบครัวจะได้มีความสุขสบายใจไปด้วยการเรียนจะทำให้เขาได้มีชีวิตที่ดีขึ้นและทุกๆ เทอมหนูจะบอกคุณแม่ให้บริจาคเงินช่วยเหลือทุกเทอม
ด.ญ.มณีญาดา ลีฬหานาจ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสาธิตแห่ง มก.
ด.ช.ณัฐธัญ ราชพลสิทธิ์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตแห่ง มก. กล่าวว่าครอบครัวเราพอมีเงินอยู่บ้างดังนั้นการให้คนที่เขาขาดโอกาสจึงเป็นสิ่งที่ดีที่เราได้แบ่งปันอย่างน้อยเพื่อให้เขามีชีวิตที่สบายขึ้นได้เอาไปเรียนหนังสือพอมีความรู้ความสามารถเขาก็จะนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงดูครอบครัวได้ซึ่งผมเชื่อว่าอาวุธของมนุษย์ที่สำคัญที่สุดคือความรู้
จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมแบ่งปันให้กับคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ซึ่งผมและครอบครัวก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมบริจาคมาโดยตลอด นอกจากนี้ผมเคยไปช่วยดูแลเด็กที่ศูนย์แห่งหนึ่ง ผมช่วยพาเด็กๆไปทำกิจกรรม ซึ่งพอเราได้ช่วยเขา เราก็สบายใจ มีความสุขที่ได้ให้ มันมีค่ามาก
ด.ช.ณัฐธัญ ราชพลสิทธิ์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตแห่ง มก.
ด้าน ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่ง มก. ที่ร่วมบริจาค กล่าวว่า ยังมีเด็กจำนวนมากที่มีความรู้ความสามารถแต่ขาดโอกาส ทั้งเรื่องเงิน สภาพความเป็นอยู่ เป็นเรื่องน่าเสียดาย ถ้าเด็กต้องออกจากระบบการศึกษาไป ฉะนั้นถ้าเรามีโอกาส หรือเป็นส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ดี เพราะการศึกษาเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น การที่เราบริจาคเงินของรัฐบาลที่จัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียนทุกคนนั้น ซึ่งได้นำมาบริจาคให้กับเด็กนักเรียนยากจนขาดแคลนทุนทรัพย์ ขาดโอกาสเป็นเจตนารมณ์ที่น่าส่งเสริมเป็นอย่างมาก ถึงเงินตรงนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งแต่เมื่อเทียบกับการสร้างโอกาสให้แก่เด็กที่มีภาระครอบครัวจนไม่ได้เรียน ถือเป็นการช่วยเหลือพวกเขาได้เป็นอย่างดี ซึ่งเชื่อว่ามีเด็กหลายคนที่อยากเรียนหนังสือ แต่ต้องมีภาระทางครอบครัว หากเราไปสนับสนุนให้เด็กทุกคนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี จะทำให้หลุดจากวงจรยากจน และต้องให้มีการศึกษา
ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่ง มก.
“อยากเชิญชวนโรงเรียนที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินอุดหนุนนักเรียนและสถานศึกษาของรัฐบาลตามโครงการเรียนฟรี 15 ปี สามารถบริจาคให้กับ กสศ. ได้ เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชน ต้องมาร่วมมือกันยกระดับคนที่เข้าไม่ถึงการศึกษา ซึ่งเชื่อว่าคุณภาพเด็กจะดีขึ้น อย่าให้ใครออกจากการศึกษาเพราะเหตุผลทางการเงิน” ศ.ดร.นภดล กล่าว
นางอัญชลีพร กุสุมภ์ ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่ง มก. ที่ร่วมบริจาค กล่าวว่า ดีใจที่รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนทุกคนไม่ว่าจะมาจากครอบครัวฐานะดีหรือไม่ดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าความต้องการของคน หรือสถานะมีความต่างกันอยู่ทำให้เงินจากรัฐบาลมีความสำคัญ และจำเป็นสำหรับแต่ละครอบครัวต่างกัน บางครอบครัวอาจสำคัญมาก แต่บางครอบครัวอาจหมายถึงอาหารทานเล่นหนึ่งมื้อ อย่างครอบครัวของตนไม่ได้เป็นครอบครัวที่มีเงินเหลือเฟือ แต่เงินอุดหนุนรายหัวที่ได้รับจากรัฐบาลนั้น ทางครอบครัวเลือกนำมาบริจาค เนื่องจากคิดว่าน่าจะช่วยเด็กๆ กลุ่มที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้
นางอัญชลีพร กุสุมภ์ ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่ง มก.
ดังนั้นทุกครั้งที่รู้ว่าโรงเรียนบริจาคคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์กีฬาแก่เด็กต่างจังหวัด เด็กด้อยโอกาสเป็นเรื่องที่ดี และมีความหมายกับครูและเด็ก เพราะถือเป็นการเปิดโลก ทำให้การศึกษาก้าวไกลมาก ที่สำคัญยังทำให้เด็กได้เห็นสถานะสังคมว่ามีเท่ากันหรือไม่และทำให้เขารู้ว่าทำไมต้องให้ และการให้การศึกษาเป็นการให้ที่มีผลต่อจิตใจและเห็นผลเป็นรูปธรรม