ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของ Center for Global Development ออกโรงเตือน การพึ่งพาเทคโนโลยีทางการศึกษา (Edtech) อย่างเดียว ไม่ช่วยแก้ปัญหาความต่อเนื่องทางการศึกษาเพราะโรงเรียนปิดในช่วงโควิด-19 ระบาด ทั้งยังอาจทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษารุนแรงขึ้น
Karen Mundy และ Susannah Hares กล่าวว่า ขณะนี้ มีเด็กนักเรียนราว 1,570 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อนละ 91.3 ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนเพราะ COVID-19 ซึ่งแม้ว่า บรรดารัฐมนตรีและหน่วยงานด้านการศึกษาจะเร่งดำเนินการวางแผนเพื่อให้โรงเรียนสามารถทำการเรียนการสอนต่อไปได้ในช่วง COVID-19 อย่างไม่มีสะดุด แต่หลายประเทศก็แสดงให้เห็นการตอบสนองที่เชื่องช้า ซึ่งรวมถึงการใช้เครื่องมือ แพล็ตฟอร์ม และเทคโนโลยี ในการกำหนดวางแผนแนวทางสำหรับการศึกษาทางไกล
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่า ก็คือ ต่อให้มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุด และยอดเยี่ยมที่สุดเพียงใด แต่กลุ่มเด็กที่จะได้รับประโยชน์จากระบบดังกล่าวมากที่สุด ย่อมหนีไม่พ้น กลุ่มเด็กจากครอบครัวมีฐานะ ที่สามารถเข้าถึงและคว้าโอกาสจากการเรียนการสอนทางไกลมากที่สุด เพราะมีความได้เปรียบในแง่ของความสามารถเชื่อมโยงเข้าถึงเทคโนโลยีได้ดีกว่า มีพ่อแม่ที่มีระดับการศึกษาสูงและมีเวลาเพียงพอที่จะช่วยดูแลการศึกษาให้กับลูกๆ จากที่บ้าน และมีอุปกรณ์และหนังสือสำหรับการเล่าเรียนเขียนอ่านในบ้านมากกว่า
รายงานระบุว่า ความได้เปรียบข้างต้น ยิ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมสนับสนุนที่สำคัญสำหรับการเรียนการสอนในระบบดิจิทัล สำหรับผู้เรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา มากกว่า ระดับชั้นประถมศึกษา ดังนั้น ในช่วง COVID-19 ระบาด ที่บรรดาหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องล้วนพึ่งพาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อเปิดทางให้การเรียนการสอนดำเนินต่อไปได้ ความได้เปรียบด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี กลับเป็นปัจจัยท้าทายอย่างใหญ่หลวงของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ที่มีเด็กมีโอกาสเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาในระดับต่ำ และโอกาสทางการศึกษาที่ดีมีคุณภาพมุ่งเน้นไปช่วงปฐมวัย
เป็นความท้าทายในแง่ของการประคับประคองไม่ให้เทคโนโลยีดังกล่าวทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ขยายวงกว้างมากขึ้น
Mundy และ Hares ระบุว่า เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในยุค COVID-19 ทั้งสองได้รวบรวมข้อมูลและหลักฐาน ตลอดจนแนวทางแก้ไข ที่จะจัดการให้การศึกษามีความเสมอภาค แม้จะต้องทำการเรียนการสอนทางไกล โดยทั้งคู่ย้ำชัดว่า มาตรการฉุกเฉินทางการศีกษาในช่วง COVID-19 ที่มุ่งพึ่งพาเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการศึกษาต่อเนื่องสำหรับเด็กในกลุ่มล่าสุดของพีระมิดตามนิยม ของ Wagner และจะไม่มีประเทศไหนในโลกที่สามารถยกระดับระบบการศึกษาทั้งหมดของตนให้ก้าวหน้าได้ หากไม่ใส่ใจ “ปลายหาง” ของการศึกษา หรือก็คือ กลุ่มเด็กที่มักถูกละเลยมองข้ามจากนโยบายรัฐในปัจจุบัน
โดย ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทั้งสองท่านของ Center for Global Development ได้ชี้ให้เห็นความท้าทายของความเท่าเทียมในการดำเนินระบบการศึกษาต่อเนื่อง ด้วยการอ้างอิงถึงผลการศึกษาวิจัยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาซึ่งชี้ให้เห็นว่า ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีผลต่อการที่เด็กต้องเลิกเรียนกลางคันมากเพียงใด แม้จะมีบริบทแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่การปิดโรงเรียน หรือการที่เด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ก็มีผลลัพธ์ที่โหดร้ายเหมือนๆ กัน
ยกตัวอย่างในสหรัฐฯ ในช่วงที่เด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาอย่างมีความสุขกับช่วงปิดเทอมฤดูร้อนนาน 8-10 สัปดาห์ แต่ก็มีเด็กบางกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวยากจน ที่เผชิญกับภาวะการเรียนถดถอยในช่วงปิดเทอมราว 10-25% ซึ่งผลการศึกษาจากกลุ่มเด็กในครอบครัวผู้มีรายได้น้อยแสดงให้เห็นว่า ช่วงที่เว้นห่างจากโรงเรียนมีผลนำไปสู่การเลิกเรียนกลางคันในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระดับการศึกษาที่สูงขึ้นไป และยิ่งทำให้การเรียนรู้ในโรงเรียนของเด็กพัฒนาได้ล่าช้า
ด้านงานวิจัยจากอาร์เจนตินา และรวันดา แสดงให้เห็นว่า การปิดโรงเรียน โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา มีผลสั่งสมต่อเนื่องอย่างคาดไม่ถึงต่อชีวิตของเด็กนักเรียนในภายหลัง ทั้งการลดโอกาสที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาและการลดรายได้ของตัวเด็กเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน
ขณะที่ เวิล์ด แบงก์ (ธนาคารโลก) เองก็ได้ประเมินถึง 3 สถานการณ์ ที่เป็นไปได้ของแวดวงการศึกษาโลกจากการปิดโรงเรียนในช่วง COVID-19 ซึ่งทุกสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ล้วนทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาขยายวงกว้างมากขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทั้งสองรายนี้ ย้ำชัดว่า การมุ่งแก้ปัญหาด้วยการส่งเสริม ความเชื่อมโยงทางการศึกษา (Learning Connectivity) แต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาด้านการศึกษาสำหรับกลุ่มเด็กที่อยู่ในระดับชั้นล่างสุดของพีระมิดได้ เห็นได้จากการที่แม้รัฐบาลหลายประเทศจะเร่งนำระบบออนไลน์มาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อจัดการกับภาวะการเลิกเรียนกลางคัน หรือการหายไปจากห้องเรียนของเด็ก แต่จนแล้วจนรอด ผลการศึกษาที่ผ่านมากลับแสดงให้เห็นว่า มีเด็กนักเรียนมากมายทั่วโลกมีชีวิตอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่จะเชื่อมโยงเชื่อมต่อเข้าถึงเทคโนโลยีและโลกออนไลน์มากมายเพียงใด
ยกตัวอย่างเช่น แผนการศึกษาในช่วง COVID-19 ระหว่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกับองค์การความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) แสดงให้เห็นว่า ขณะที่บรรดาเด็กๆ ในชาติสมาชิกโออีซีดีหลายประเทศจากโรงเรียนชั้นนำเข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ง่ายดาย เด็กนักเรียนน้อยกว่า 50% ในอีกหลายประเทศ อย่าง ตุรกี โคลัมเบีย บราซิล เม็กซิโก ไทย เปรู และอินโดนีเซีย ไม่มีแม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ใช้ในบ้าน
ยิ่งไปกว่านั้น การเข้าถึงเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของเด็กในอีกหลายประเทศกำลังพัฒนาก็เป็นเรื่องที่เลวร้ายเช่นกัน โดยข้อมูลจาก Young Lives พบว่า 4 ใน 5 ของเด็กเอธิโอเปีย ไม่เคยแม้แต่จะใช้งานอินเตอร์เน็ต
เรียกได้ว่าการเชื่อมโยงเชื่อมต่อทางเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในแต่ละประเทศทั่วโลกอยู่ในระดับที่ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในประเทศแถบ แอฟริกา และเอเชียใต้ ที่บางพื้นที่ยังไม่มีแม้แต่โทรศัพท์และไฟฟ้า
โดย ผลสำรวจพบว่า แม้ 3 ใน 4 ของประชากรในแอฟริกา แถบซับ-ซาฮารา ส่วนใหญ่จะมีโทรศัพท์มือถือใช้ แต่โครงข่ายสัญญาณก็มีปัญหาที่ทำให้ต้องเปลี่ยนเบอร์ย้ายค่ายบ่อยมาก ขณะที่ บางรัฐในอินเดีย มีโรงเรียนเพียงครึ่งหนึ่งจากโรงเรียนทั้งหมดภายในรัฐที่มีไฟฟ้าใช้ อีกทั้งการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตระหว่างเด็กชายและเด็กหญิงยังแตกต่างกันจนน่าใจหาย และครัวเรือนน้อยกว่า 40% ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือรายได้ปานกลางขั้นต่ำ ไม่มีแม้แต่วิทยุหรือโทรทัศน์
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า การเชื่อมโยงเชื่อมต่อทางเทคโนโลยีที่ไม่เท่าเทียมกัน จึงไม่ใช่ “ยารักษาสารพัดโรค” ที่จะแก้ปัญหาการปิดโรงเรียนในช่วง COVID-19 ได้ และยังกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยท่าทายสำหรับรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกที่จะต้องเดินหน้ายกระดับโครงสร้างสาธาณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเพื่อให้การศึกษาของประชากรทุกคนในประเทศเกิดขึ้นได้อย่างเสมอภาคกัน
เพราะหากไม่อาจยกระดับโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านเทคโนโลยีได้อย่างดีเยี่ยมและทั่วถึงแล้ว การใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองการศึกษาทางไกลและแก้ปัญหาการปิดโรงเรียนในช่วง COVID-19 ก็รังแต่จะทำให้การศึกษามีความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเท่านั้น
ที่มา : Karen Mundy และ Susannah Hares: Center for Global Development
Equity-Focused Approaches to Learning Loss during COVID-19
ภาพต้นฉบับ : Glenn Carstens-Peters: Unsplash
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา