การนวดแผนไทยเป็นองค์ความรู้เก่าแก่และเป็นภูมิปัญญาของคนไทย ที่สืบทอดมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น ถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก วันนี้องค์การยูเนสโกได้มีมติให้การ ‘นวดไทย’ (Nuad Thai, traditional Thai massage) ขึ้นบัญชีเป็นตัวแทน ‘มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ’ (Representative of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา
ในแง่การอนุรักษ์ วิทยาลัยชุมชนตาก ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่บรรจุการนวดแผนไทยไว้ในหลักสูตรสาขาวิชา ‘แพทย์แผนไทย’ ที่เปิดสอนต่อเนื่องมาเป็นเวลา 17 ปี โดย จารุวรรณ จันทร์อินทร์ แพทย์แผนไทยชำนาญการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก อาจารย์ผู้สอนในสาขาวิชาแพทย์แผนไทย วิทยาลัยชุมชนตาก ได้อธิบายถึงจุดเริ่มต้นของสาขาวิชาที่ปัจจุบันมีสถาบันเพียงไม่กี่แห่งว่า แพทย์แผนไทยคือศาสตร์ความรู้ประจำชาติที่ส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ จึงมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ และจำเป็นต้องสนับสนุนให้ได้รับการพัฒนาต่อ ด้วยการเปิดการเรียนการสอนที่ถูกต้องและเต็มรูปแบบ เพื่อให้ศาสตร์การแพทย์แผนไทย ถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ และสืบสานสู่คนรุ่นต่อไปไม่สิ้นสุด
การที่ศาสตร์นวดไทยได้รับยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก แสดงถึงคุณค่าที่ไม่เพียงแค่คนไทยเท่านั้นที่ให้ความสำคัญ หากหมายถึงคนทั่วโลกให้การยอมรับว่า ศาสตร์และศิลป์ในการรักษาโรคแบบดั้งเดิมของไทย ที่ช่วยบำบัดอาการเจ็บป่วยและดูแลสุขภาพในด้านต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องใช้ยา แต่เป็นศาสตร์ของการรักษาด้วยร่างกาย (bodily manipulation) ที่อาศัยการนวดจุดต่างๆ บนร่างกายเพื่อปรับสมดุลและโครงสร้างให้เลือดลมตามเส้นไหลเวียนได้ดีขึ้น อันเป็นภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพของคนไทยในสังคมเกษตรกรรมแต่ครั้งเก่าก่อน ได้กลายเป็นทักษะและองค์ความรู้ที่ถูกนำไปใช้ในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกแล้ว
การบรรจุวิชาแพทย์แผนไทยไว้ในหลักสูตร มีที่มาจากภูมิศาสตร์และลักษณะเชิงสังคมของจังหวัดตาก
ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ ประชากรกระจายตัวอาศัยอยู่ในหลายท้องที่ที่ยังทุรกันดาร การแพทย์ทางเลือกจึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชุมชนมานาน
“ด้วยบริบททางวัฒนธรรมและข้อจัดทางพื้นที่ ศาสตร์แพทย์แผนไทยได้มีบทบาทดูแลรักษาสุขภาพของผู้คนในหมู่บ้านเล็กๆ ห่างไกล หรือในชนเผ่าต่างๆ บนดอยสูง ซึ่งโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์แบบคนเมืองยังมีไม่มากมา ทางวิทยาลัยจึงมีแนวคิดเริ่มต้นในการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับคนในท้องถิ่นหรือชุมชนต่างๆ ให้พวกเขาได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับการพัฒนาและมีระบบแบบแผน กลับไปใช้ดูแลสุขภาพของคนในพื้นที่ แต่เมื่อเวลาผ่านมา ความต้องการของตลาดเริ่มมีมากขึ้น วิชาความรู้ในแขนงนี้จึงขยายตัวออกไปสู่สังคมเมืองและเติบโตขึ้นจนถึงความสนใจในระดับนานาชาติ” อาจารย์จารุวรรณ กล่าว
อาจารย์จารุวรรณ กล่าวต่อไปว่า หลักสูตรแพทย์แผนไทยประกอบด้วยองค์ความรู้ 4 ด้าน ได้แก่ ผดุงครรภ์ไทย เภสัชกรรมไทย เวชกรรมไทย และ นวดไทย โดยวิทยาลัยชุมชนตากได้แบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือหลักสูตรอนุปริญญา 3 ปี และ หลักสูตรสำหรับผู้ต้องการใบรับรองในการประกอบอาชีพ ซึ่งรองรับโดยสภาวิชาชีพแพทย์แผนไทย ขณะที่สถาบันที่จะเปิดสอนในสาขาวิชาแพทย์แผนไทยได้ จะต้องได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพฯ ที่มีเกณฑ์กำหนดคุณภาพการสอนไว้หลายขั้นตอน รวมถึงต้องมีครูผู้สอนที่พร้อมด้วยประสบการณ์ ผ่านหลักสูตรอบรม และที่สำคัญคือต้องมีใบประกอบวิชาชีพในองค์ความรู้ทั้ง 4 ด้าน ซึ่งจำนวนคนที่มีคุณสมบัติยังมีไม่มาก ในปัจจุบันการเรียนการสอนแพทย์แผนไทยจึงมีเพียงไม่กี่แห่ง วิทยาลัยชุมชนตากจึงเป็นวิทยาลัยชุมชนแห่งเดียวที่มีหลักสูตรนี้
“ในการเรียนการสอนด้านวิชาชีพ ทางวิทยาลัยได้ระดมอาจารย์ผู้สอนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตากและพิษณุโลก วิทยาลัยสาธารณสุขสิรินธร(พิษณุโลก) รวมถึงโรงพยาบาลในเครือข่ายหลายแห่ง เพื่อให้นักศึกษาได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ทั้งจากบุคลากรผู้ชำนาญการ และได้เรียนรู้ผ่านสถานที่ปฏิบัติงานจริง โดยทาง วชช. ตาก
มุ่งเป้าผลิตนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแพทย์แผนไทยปัจจุบัน ที่เน้นทักษะการนวดไทยมากที่สุด”อาจารย์จารุวรรณ
สำหรับหลักสูตรอนุปริญญา เมื่อเรียนจบแล้วสามารถต่อยอดไปถึงวุฒิปริญญาตรีได้ โดย วชช. ตาก
ได้ MOU กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร และ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในหลักสูตรปริญญาตรี 2 ปี นอกจากนั้นในระหว่างเรียนระดับอนุปริญญา นักศึกษาสามารถมีสิทธิ์สอบเพื่อได้ใบรับรองในศาสตร์แพทย์แผนไทยทั้ง 4 ด้าน โดยเรียนครบ 1 ปี สามารถสอบใบรับรองผดุงครรภ์ไทย ครบ 2 ปี สามารถสอบนวดไทยและเภสัชกรรมไทย และเมื่อเรียนครบ 3 ปี ถึงจะมีสิทธิ์สอบเวชกรรมไทย ดังนั้น แม้ในระดับอนุปริญญา หากนักศึกษาเรียนจบและสอบได้ใบรับรองครบ 4 ด้าน เขาก็มีทางเลือกในการทำงานที่มากขึ้น
ในเรื่องความนิยมเรียนในสาขาวิชาแพทย์แผนไทย ที่ประจักษ์ด้วยจำนวนผู้สมัครเข้าเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี วิทยาลัยชุมชนตาก ได้มีแผนการรองรับด้วยหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น 330 ชั่วโมง ในด้านการนวดไทย และผู้ช่วยแพทย์แผนไทย ขณะที่หลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและเปิดสอนแล้ว ได้แก่ หลักสูตรนวดฝ่าเท้า 60 ชั่วโมง และ นวดไทยเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง ซึ่งแผนพัฒนาหลักสูตรของวิทยาลัยจะรองรับด้านการนวดไทยโดยตรง ด้วยต้องการผลิตทรัพยากรบุคคลที่สามารถเข้าไปเป็นส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนธุรกิจและภาพรวมของการแพทย์แผนไทย โดยเฉพาะเรื่องการได้รับใบรับรองการทำงานที่ทำให้ผู้เรียนสามารถเลือกทำงานได้ทั้งในและต่างประเทศ หรือทั้งในระดับปฏิบัติการและงานด้านบริหาร ซึ่งนับว่าเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับศาสตร์การนวดไทยในปัจจุบัน
“การได้รับประกาศให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก จะทำให้ตลาดแรงงานในสาขานี้เปิดกว้างยิ่งขึ้น สำหรับทางวิทยาลัย เราต้องการสนับสนุนให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทฤษฎีและนำไปใช้กับการทำงานภาคปฏิบัติตั้งแต่ยังเรียนอยู่ เพราะการสั่งสมความรู้และความชำนาญในศาสตร์แพทย์แผนไทยล้วนขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ในขณะนี้เรามีนักศึกษากลุ่มทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 ที่เริ่มออกไปทำงานระหว่างเรียนในคลินิกเวชกรรม คลินิกนวดไทย หรือในโรงงานผลิตยาแพทย์แผนไทย ซึ่งเด็กจะได้รับทั้งรายได้ การเรียนรู้ในสถานบริการจริง ได้เข้าไปเห็นว่าบรรยากาศการทำงานเป็นอย่างไร นั่นคือเราต้องการเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับเขา” อาจารย์ผู้สอนแพทย์แผนไทย กล่าว
เพราะถึงตอนนี้ โอกาสในการทำงานของเขาจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในชุมชนหรือในประเทศอีกแล้ว แต่คุณค่าของวิชาที่เขาเรียนประกอบกับโลกปัจจุบันที่เวิลด์ไวด์เชื่อมต่อกันไม่สิ้นสุด มันเป็นโอกาสดีที่พวกเขาจะได้นำเอามรดกทางภูมิปัญญาของคนไทย ไปเผยแพร่และยึดเป็นวิชาชีพเลี้ยงตัวได้ ไม่ว่าจะไปอยู่ที่มุมไหนบนโลกใบนี้
น้อง ‘ดาวรุ่ง’ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 หลักสูตรอนุปริญญา ปี 1 สาขาแพทย์แผนไทย เผยว่า ได้เห็นและสัมผัสกับองค์ความรู้ด้านแพทย์แผนไทยมาตั้งแต่เด็ก ในชุมชนบนดอยสูงที่ห่างไกลจากตัวเมืองจังหวัดตากร่วม 240 กิโลเมตร ที่นั่น ทุกชีวิตได้รับการดูแลด้านสุขภาพจากแพทย์แผนไทยประจำชุมชน ได้เห็นการรักษาโรคด้วยยาสมุนไพร บำบัดอาการเจ็บป่วยด้วยการนวด ประสบการณ์เหล่านั้นทำให้สนใจอยากมาเรียนในสาขาวิชานี้
จากที่สนใจมาตั้งแต่เด็ก เมื่อได้เข้ามาเรียนจริงๆ จึงได้รู้ว่าศาสตร์ของแพทย์แผนไทยแตกแขนงไปได้หลากหลาย เอาแค่การนวดก็มีทั้งนวดเพื่อรักษา หรือนวดเพื่อผ่อนคลาย แล้วกว่าจะไปถึงการลงมือนวดได้ เราก็ต้องเรียนรู้ตำแหน่งของเส้นสายหรือจุดต่างๆ บนร่างกายเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยเรียนรู้ว่าต้องทำอย่างไร
“การเรียนในห้องกับไปทำงานจริงแตกต่างกันมาก ทำให้หนูได้รู้ถึงคุณค่าของประสบการณ์
เช่นบางทีการเรียนกับหุ่นหรือร่างกายเพื่อน เราเน้นได้ว่าจะใช้มือหรือศอกเป็นตัวกด แต่ในสถานการณ์จริง เราต้องเจอกับสรีระมนุษย์ที่แตกต่างหลากหลาย มีทั้งเส้นแข็งและนิ่ม มีคนตัวใหญ่และคนตัวเล็ก เราต้องพัฒนาให้สามารถใช้ร่างกายเกือบทุกส่วนในการกด แล้วต้องเรียนรู้ ปรับเปลี่ยน รวมถึงบันทึกไว้เป็นความรู้สำหรับการทำงานครั้งถัดๆ ไปด้วย ส่วนตัวมองว่าการนวดไทยคือคุณค่าที่เกิดจากภูมิปัญญาอย่างแท้จิรง เพราะเป็นการรักษาโดยใช้ร่างกายหลายๆ ส่วน นั่นทำให้รู้สึกยินดีกับการที่วิชานวดไทยได้รับการประกาศให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ในฐานะผู้เรียนรู้สึกภูมิใจ เชื่อว่าเกียรติยศนี้จะทำให้คนต่างประเทศรู้จักศาสตร์แขนงนี้มากขึ้น และจะส่งผลให้ทุกคนในวงการแพทย์แผนไทยมีทางเลือกในอาชีพที่หลากหลายยิ่งขึ้น และนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นด้วย” น้องดาวรุ่ง กล่าวปิดท้าย