การประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณา รายงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประจำปี 2562 สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ให้ความสนใจการทำงานของ กสศ. เป็นอย่างมาก
เนื่องจากเป็นองค์กรใหม่ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาโดยบริหารงานมาได้เพียงสองปี ทำให้มีผู้เสนอขออภิปรายถึง 12 ราย ขณะที่ นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แจงการทำงานของกองทุนฯ
สมาชิกวุฒิสภาเสนอแนะ กสศ. เกี่ยวกับดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างแท้จริง เป็นที่น่าสังเกต สมาชิกวุฒิสภาให้ความสำคัญโครงการครูรักษ์ถิ่น พร้อมเสนอให้กสศ. ศึกษาวิจัยแนวทางพัฒนาครูต้นแบบอยางทั่วถึง
นายตวง อันทไชย ในฐานะประธานกรรมาธิการศึกษา วุฒิสภา เริ่มต้นอภิปรายว่า จากการพิจารณารายงานประจำปีของกสศ.ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการศึกษา ก่อนหน้านี้ พบว่า การดำเนินการหรือจัดให้มีการศึกษา วิจัย หรือค้นคว้าแนวทางในการพัฒนาครู ให้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีความรู้ และมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้เรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ยังมีการดำเนินการที่คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับผลการดำเนินโครงการสำคัญทั้ง 9 โครงการ ที่ผ่านมาในปีงบประมาณ 2562 ของกองทุน
“การที่ดำเนินโครงการวิจัยพัฒนาครู อยู่ในสัดส่วนที่น้อย จะส่งผลให้เข้าใจได้ว่าการดำเนินงานส่วนใหญ่ของกองทุนนั้นเป็นการให้ความช่วยเหลือในเรื่องของเด็กยากจนเฉพาะการอุดหนุนในส่วนของเงินงบประมาณ ซึ่งอาจไม่สามารถนำไปขยายผลในเชิงการลดความเหลื่อมล้ำในมิติเชิงคุณภาพได้ ดังนั้น จึงควรพิจารณาให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการในปีถัดไป” นายตวง กล่าว
นอกจากนี้ นายตวง ระบุว่า ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ของการตั้ง กสศ. ในวาระเริ่มแรกเป็นเวลา 3 ปี รัฐบาลควรจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่กสศ.ไม่น้อยกว่า 5 เปอร์เซนต์ของเงินงบประมาณรายจ่ายในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาของปีงบประมาณก่อน แต่ที่ผ่านมา กสศ. ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนยังไม่เพียงพอส่งผลให้กสศ.ขาดทรัพยากรที่จะนำมาใช้ในการดำเนินงานในช่วง 3 ปีแรก เพื่อใช้ในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดังนั้น คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาความเหมาะสมในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มอัตราการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนอย่างเพียงพอ เพื่อให้กสศ.ขับเคลื่อนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายตวง กล่าวทิ้งท้าย ชื่นชมและให้กำลังใจ กสศ. แสดงตัวเลขเหลื่อมล้ำเห็นทิศทางอนาคตได้ดี พร้อมกับเห็นด้วยกับโครงการ พัฒนาอาชีพให้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งจากประสบการณ์กองทุน SIP (กองทุนเพื่อความร่วมมือทางสังคม) ใช้ฐานทุนเป็นตัวขับเคลื่อนจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำในชุมชน ให้คนในชุมชนเป็นตัวช่วยชุมชน อยากขยายไปยังเครือข่ายอื่นที่อยู่ตามซอกหลืบป่าเขาด้วย
นายเฉลา พวงมาลัย สว. ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพครู เช่นกัน โดยอภิปรายว่า อยากให้ กสศ. เจาะลึกถึงกระบวนการผลิตครู เดิมใช้งบประมาณ 42 ล้านบาท ก็ควรเพิ่มงบประมาณ เพื่อใช้การเรียนการสอน ให้นักศึกษาเรียนวิชาชีพครู พัฒนาชนบทตัวเอง
“ผมอยากให้กสศ.พิจารณาว่าทำอย่างไร ให้นักเรียนอยู่ในชนบทได้รับการศึกษา เมื่อมีงบประมาณ ให้เขามาเรียนในมหาวิทยาลัยติดตามพฤติกรรม สร้างคุณธรรมจริยธรรม และให้ไปพัฒนาท้องถิ่น ต่อยอดครูอย่างมีคุณภาพ อยากให้เงินกองทุนนี้ ขยายโอกาสให้ชนบทไดรับการศึกษาอย่างแท้จริง” นายเฉลา กล่าว
ยูเนสโกชื่นชม กสศ.
ขณะที่ นพ.เฉลิมชัย เครืองาม กล่าวว่า องค์การยูเนสโก ได้เลือกกสศ. ของไทยเป็นหนึ่งในแปดกรณีศึกษาของโลก ที่มีความก้าวหน้าในการทำให้การศึกษาเป็นสิ่งเสมอภาค นี่คือ ปรากฎการณ์ที่เป็นเกียรติอย่างยิ่ง หนึ่งในแปดไม่ใช่ว่าได้มาง่ายๆ องค์ประกอบสำคัญ คือ กสศ. ตลอดการทำงานสองปีเต็ม ทำให้ฝันของผู้ยากไร้ ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้เข้าถึงการศึกษา แม้ว่างบประมาณสนับสนุนให้กระทรวงศึกษาธิการ จำนวนห้าแสนล้านบาท แต่ปรากฎการณ์ที่ผู้ไม่เข้าถึงการศึกษาหรือเหลื่อมล้ำการศึกษา ยังคงอยู่ ไม่เชื่อว่า แค่กสศ.หน่วยงานเดียวดำเนินการเรื่องนี้ แต่ต้องประสานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
“งบที่ได้ถูกจัดสรรถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างอาคารสถานที่ เป็นเงินเดือนบุคลากรการศึกษาจำนวนมาก แต่นับมีเพียง 0.5 % ช่วยเหลือกรณีผู้ยากไร้เข้าถึงการศึกษา เด็กอายุ 3 – 5 ปี ราวสองล้านคน ที่ควรจะเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานแต่มีความเสี่ยงหลุดพ้นจากการศึกษา เด็กอายุ 3 – 5 ปี ประมาณหกแสนคนอยู่นอกระบบการศึกษา เป็นสิ่งที่น่าเศร้าใจ” นพ.เฉลิมชัย กล่าว
นพ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ข้อมุูลกสศ.เด็กไทยที่พ้นระดับขั้นพื้นฐานก้าวเข้าสู่ระดับมัธยมและระดับอุดมศึกษาแค่ 5 เปอร์เซนต์แล้วอย่างนี้ประเทศไทยจะหลุดพันกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างไร ฉนั้นจำนวนเงิน ที่กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เสนอมาปีละสองหมื่นห้าพันล้าน คือห้าเปอร์เซนต์ของงบศธ.แต่ละปีไม่มากเลย กระนั้น กสศ.มีบทบาทหน้าที่สำคัญ ไม่เชื่อว่ากสศ.องค์กรเดียวทำได้สำเร็จ สิ่งที่ต้องไปทำ ต้องเป็น คลังสมอง สร้างนวัตกรรม สร้างเทคโนโลยี ระดมสรรพกำลัง ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรธน.และพ.ร.บ.กสศ.
“ผมฝากกสศ. ประการแรก อย่าไปดำเนินการแบบสังคมสังเคราะห์ ผมเห็นด้วยเพราะเป็นการให้โดยไม่หวังผล ท่านต้องช่วยอย่างหวังผลเพื่อให้ผู้รับมีพัฒนการที่ดี พัฒนาการทั้งสุขภาพ กายใจ เชาว์ปัญญา พัฒนาทัศนคติเจตนคติ อุดมการณ์ ซึ่งต้องประสาน กับ ศธ. พม. และภาคเอกชน ทำวิจัยให้เยอะ เป็นทิงแทงค์ให้ทุกภาคส่วนนำไปต่อยอดใช้งาน งบประมาณ 2.5 พันล้านบาท กับนักเรียน ยังไงก็ไม่พอ ท่านต้องไปปรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานบริหารของกสศ.ให้บรรลุวัตถุประสงค์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้งบประมาณที่จำกัดได้อย่างไร” นายเฉลิมชัย กล่าว
ให้โอกาสเด็กความสามารถพิเศษ
นายชาญวิทย์ ผลชีวิน เสนอ กสศ.เข้าไปสนับสนุนการค้นหาเด็กที่มีความสามารถพิเศษ นักดนตรี ศิลปะ กีฬา อยากตั้งคำถามว่า ในจำนวน 9 โครงการ เด็กพวกนี้ไปอยู่โครงการไหน สิ่งที่พวกเราได้เห็นคนเหล่านี้ กีฬา ดนตรี ศิลปะ คือการศึกษาหรือไม่ ถ้ากสศ.คิดว่า สิ่งเหล่านี้คือการศึกษา อยากฝากกสศ. ช่วยสนับสนุนคนเหล่านี้ ถ้าเขามีทุนอยู่แล้ว กสศ.จะสนับสนุนส่วนอื่นให้เขาประสบความสำเร็จได้หรือไม่ เปิดโอกาสสร้างให้เด็กเหล่านี้
แนะเชื่อมโครงการเน็ตประชารัฐ
นายธานี อ่อนละเอียด อภิปรายด้วยการเสนอว่า อยากเห็น ความร่วมมือ จากบุคลากรครูที่มีคุณภาพอาสาสอนหนังสือผ่านโครงการเน็ตประชารัฐครอบคลุม 7.4 หมื่นกว่าหมู่บ้านทั่วประเทศ มีประชากรชายขอบ 3,920 กว่าแห่งจะแก้ปัญหาความเท่าเทียมกันความเสมอภาคทางการศึกษา
“ผมเคยฝัน และไม่รู้จะมีโอกาสเห็นไหม โดยรัฐสร้างแรงจูงใจให้เขาได้หรือไม่ เช่นให้สิทธิพิเศษ เช่นลดภาษี สิทธิการรักษาพยาบาล การขอพระราชทานเครื่องราชย์ ท่านเหล่านี้จะมาช่วยแต่ละสาขาวิชาชีพเหมือนอาจารย์หมอ ครูที่อยู่ประจำก็จะช่วยสอนเพื่อจะลดความเสมอภาคทางการศึกษา ให้โรงเรียนที่ขาดแคลนมีสื่อการเรียนการสอน คุณภาพการศึกษาจะเท่ากันทั่วประเทศ” นายธานี กล่าว
ปรับกลยุทธ์ตามข้อจำกัดงบประมาณ
ด้านนายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกสศ. ได้กล่าวสรุปพร้อมตอบข้อซักถามของสมาชิกวุฒิสภาอีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็นที่ กสศ.ได้รับงบประมาณมาดำเนินโครงการทั้ง 9 โครงการเพียง 2.5 พันล้านบาท ยืนยันว่า การที่สมาชิกวุฒิสภาแสดงความเป็นห่วงถึงการได้รับงบประมาณจำกัดซึ่งอาจไม่สอดคล้องต่อการดำเนินโครงการทั้งหมดได้นั้น ทางกสศ. จำเป็นต้องปรับตัว ตามข้อเสนองบประมาณ
“ขอเรียนว่า กสศ.ไม่ได้หนักใจต่อการจัดสรรงบประมาณ โดยทางกรรมการบริหารกสศ. ให้นโยบายว่า ได้เท่าไหร่ก็ขอบริหารให้เกิดประโยชน์สูงสุด เข้าใจดีว่ารัฐบาล สำนักงบประมาณมีข้อจำกัด ทางกสศ.จึงต้องปรับกลยุทธ์ วางแผนการทำงานตามยุทธศาสตร์” นายสุภกร กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนที่สมาชิกวุฒิสภาชี้ประเด็นการดำเนินโครงการตามกลุ่มเป้าหมายไปไม่ถึง ซึ่งเมื่อครั้งองค์กรอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาประเมินไว้ จำนวนสี่ล้านกว่าคน แต่ กสศ.ไปถึงแค่แสนกว่าคน อย่างไรก็ดี การดำเนินงานโดยพิจารณาถึงใครเดือดร้อนมากที่สุดก็ช่วยก่อน กลุ่มเป้าหมายใดไม่มีองค์กรอื่นให้ความช่วยเหลือเลย เราก็ไปช่วย ขณะที่กลุ่มเป้าหมายที่เรามีความพร้อมในการช่วยเหลือ ก็เลือกทำงานก่อน ส่วนปี 62 ก็พยายามไปต่อ
“สำหรับกลุ่มเป้าหมายในซอกหลืบถือเป็นกลุ่มยาก กลุ่มเด็กเยาวชนในสถานพินิจ ผู้พิการ ได้เข้าไปดำเนินโครงการช่วยเหลือบ้างแล้วแต่ยังไปต่อได้อีก โดยเฉพาะที่สมาชิกวุฒิสภาชี้ประเด็นผู้สูงอายุ ต้องได้รับการดูแลการศึกษาประกอบอาชีพ ตรงนี้อยู่ในแผนของกสศ.แต่มีข้อจำกัดที่ยังไปไม่ครบ “ ผู้จัดการกสศ. ชี้แจง