คว้าเหรียญทองอันดับ 3 วัดทักษะระดับชาติ
จากไอเดียเปลี่ยนของเหลือใช้ในวิทยาลัยเป็นผลิตภัณฑ์การเกษตร
ด้วยความตั้งใจที่จะลดปริมาณของเหลือใช้จากการทำกิจกรรมต่างๆ ภายในวิทยาลัย นำพาให้ ‘ดิว’ ศักดิ์ดา อินต๊ะ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ หาวิธีดัดแปลงของเหลือใช้มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งพาให้เขาก้าวไปไกลถึงการได้รับรางวัลเหรียญทองอันดับ 3 ในการแข่งขันทักษะสาขาพื้นฐาน องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี(อกท.) ปี 2562 ประเภททีม ในหัวข้อ ‘การสาธิตวิชาชีพ’ ซึ่งเป็นการแข่งขันที่รวมวิทยาลัยเกษตรจากทั่วประเทศ
ดิว เพิ่งผ่านการเรียนชั้น ปวส.1 ในสาขาวิชาสัตวศาสตร์ เขาเล่าว่า เมื่อนึกย้อนไปถึงนาทีที่ได้รับการประกาศว่าได้ที่ 3 เขาทั้งดีใจ และแปลกใจ แทบไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เพราะเป็นการเข้าแข่งขันครั้งแรก มีเวลาเตรียมตัวไม่นาน และที่สำคัญคือเขาเคยเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองเมื่อต้องสื่อสารกับคนอื่น อย่างที่เจ้าตัวบอกถึงความรู้สึกช่วงก่อนไปแข่งว่า “ปกติผมจะเล่าเรื่องไม่ค่อยเก่ง พอต้องพรีเซนท์ต่อหน้าคนอื่นเลยคิดว่าคงทำได้ไม่ดี”
“มันเริ่มจากความคิดที่ผุดขึ้นตอนผมเห็นว่า ในการเรียนการสอนหรือทำโครงงานทุกครั้งจะมีพวกกระดาษหนังสือพิมพ์ ลังกระดาษ กล่องพัสดุ หรือพวกกระดาษ A4 ใช้แล้ว เหลือทิ้งอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งทางวิทยาลัยนำไปมัดรวมขาย ได้เงินกลับมาไม่กี่บาท อีกส่วนหนึ่งก็กองทิ้งไว้เฉยๆ ไม่มีประโยชน์ ผมจึงลองปรึกษาอาจารย์ว่าอยากนำกระดาษเหลือใช้เหล่านี้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ในสายงานที่เรียนอยู่ได้ จึงกลายมาเป็น ‘เปเปอร์มาเช่บ๊อกซ์’ ที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างในการทำเกษตร”
ได้ทุนนวัตกรรมฯ กับการฝึกงานช่วยขัดเกลาทักษะการพูด
ดิวเล่าว่าการได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตเขา เริ่มตั้งแต่วันที่เขาเลือกเรียนในสาขาวิชาสัตวศาสตร์ ก็ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะศึกษาในศาสตร์ที่ตนสนใจให้ถึงระดับสูงสุด แต่ช่วงที่จบชั้น ปวช. ครอบครัวของเขาไม่สามารถส่งเสียให้เรียนต่อได้ พอดีกับที่อาจารย์แนะนำให้เขารู้จักกับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ดิวจึงสมัครอย่างไม่ลังเล
และนอกจากทุนจะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่รวมถึงความมั่นคงทางการศึกษาดีขึ้น ดิวยังบอกว่า การเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวทุนนวัตกรรมฯ ได้ช่วยขัดเกลาทักษะทางด้านสังคมของเขา จากการได้พบปะทำกิจกรรมกับเพื่อนต่างวิทยาลัย และหน้าที่ต่างๆ ที่ต้องทำในฐานะนักศึกษาทุน
“ทุนฯ ทำให้ผมมีโอกาสได้เรียนเหมือนกับคนอื่นๆ ได้เรียนในสาขาที่ผมชอบ ได้มีสังคมใหม่ๆ แล้วการเรียนในสาขาสัตวศาสตร์ ผมได้ฝึกงานตั้งแต่ชั้น ปวช. ทำให้เห็นโลกกว้างขึ้น ทักษะการสื่อสารของผมก็ดีขึ้นด้วย”
อย่างไรก็ตาม ดิวเล่าว่าเบื้องหลังรางวัลเหรียญทองอันดับ 3 คือการฝึกซ้อมอย่างหนัก โดยใช้เวลาว่างจากการเรียนที่วิทยาลัยฝึกซ้อมกับเพื่อนร่วมทีมทุกวัน จากนั้นกลับบ้านก็ต้องไปซ้อมการพูดที่หน้ากระจกด้วยตัวเอง รวมถึงได้คำแนะนำทางเทคนิคจากครูทั้งในเรื่องทักษะการพูด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายคือการนำเสนอผลงานและสาธิตให้คนเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาสามารถใช้ทำอะไรได้บ้าง
“ผมมองว่าส่วนที่ยากที่สุดไม่ใช่การคิดผลิตภัณฑ์หรือการทำขึ้นมา แต่อยู่ที่การพรีเซนต์ เพราะเวลาจริงมันตื่นเต้นมาก ผมพยายามฝึกพูดบ่อยๆ จนเป็นธรรมชาติ ใช้เวลาอยู่กับสิ่งที่ต้องทำให้มากที่สุด ตอนซ้อมก็วางแผนการสาธิตเหมือนวันจริงทุกอย่าง มีเวลาประมาณสองเดือน ก็ทุ่มให้การแข่งขันเต็มที่”
ถ้ารู้เส้นทางที่อยากไปแล้ว การเรียนสายอาชีพคือทางสายตรงที่พาไปสู่เป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น
ดิวบอกว่า เขาเป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ค้นพบทางที่ต้องการจะไปได้เร็ว เพราะรู้ตัวตั้งแต่ ม.ต้น ว่าต้องเรียนอะไร เพื่อรองรับอาชีพที่อยากทำในอนาคต การเรียนสายอาชีพจึงถือเป็นเส้นทางสายตรง เพื่อมุ่งสู่การทำงานที่ใฝ่ฝันได้เร็วที่สุด
“ผมมองเห็นตัวเองในอนาคตว่าอยากเป็นเจ้าของฟาร์มโคนมให้ได้ ใจมันมาทางนี้ตลอด เลยศึกษาเกี่ยวกับสาขาที่จำเป็น แล้วก็พบว่าสัตวศาสตร์ ที่เรียนเกี่ยวกับการสัตวบาล คือการดูแลสัตว์ด้วยองค์ความรู้ในด้านการจัดการฟาร์ม การโภชนาศาสตร์สัตว์ การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ และการอนุรักษ์ดำรงสายพันธุ์สัตว์ เป็นสาขาวิชาที่ผมต้องเรียน จึงเลือกสาขานี้ตั้งแต่ชั้น ปวช. จนถึงตอนนี้ที่กำลังจะขึ้น ปวส.2 แล้ว ผมมองว่า ถ้าเรารู้ว่าตัวเองชอบอะไรแล้ว การเรียนสายอาชีพในสาขาวิชานั้น จะทำให้สามารถไปถึงเป้าหมายได้เร็ว และได้อยู่ในสายงานที่สนใจตั้งแต่ยังเรียนอยู่ด้วย”
อีกหนึ่งนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่น 1 ที่สร้างชื่อเสียงให้กับตนเองและสถาบัน ด้วยไอเดียที่มาจากความเป็นคนช่างสังเกต และนำความคิดมาต่อยอดในทางปฏิบัติ จนเกิดเป็นผลงานที่นำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งยังให้แง่คิดดีๆ จากประสบการณ์ในการเรียนสายอาชีพ ที่เขาสรุปไว้ว่า เป็นเส้นทางสายตรง สำหรับคนที่พบตัวเองแล้วว่าต้องการเดินไปทางใด
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค