แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา
อังกฤษคาด ปิดโรงเรียนทำช่องว่างความสำเร็จทางการศึกษาพุ่ง
องค์กรการกุศลในอังกฤษ เผย การปิดโรงเรียนเพราะวิกฤติไวรัสโควิด -19 ระบาดในช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา มีแนวโน้มทำให้ความพยายามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาภายในอังกฤษ สูญเปล่า
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษ รายงานผลการศึกษา ขององค์กรการกุศล Education Endowment Foundation (EEF) ที่พบว่า ความคืบหน้าในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ในการลดช่องว่างระหว่างเด็กนักเรียนยากจนและด้อยโอกาสในประเทศอังกฤษกับกลุ่มเพื่อนร่วมชั้นเรียนทั่วไป อาจจะสูญหายไปในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพราะการระบาดของไวรัสโควิด -19
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ช่องว่างหรือระยะห่างแห่งความสำเร็จในการเรียนจบระดับชั้นประถมศึกษาระหว่างนักเรียนยากจนกับเพื่อนร่วมชั้นในอังกฤษ ลดแคบลงจาก 11.5 เดือนในปี 2009 มาอยู่ที่ 9.2 เดือนในปี 2019
อย่างไรก็ตาม ผลการวิเคราะห์ศึกษาของ EEF ที่เปิดเผยเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ พบว่า ความพยายามดังกล่าวอาจถอยหลังลงคลอง โดยค่าเฉลี่ยระยะห่างความสำเร็จทางการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาของเด็กยากจน อาจกว้างขึ้นถึง 36% ขณะเดียวกัน ค่าเฉลี่ยของระยะห่างอาจมากหรือน้อยได้ที่ระหว่าง 11 % – 75%
การค้นพบในครั้งนี้ นับเป็นกระจกสะท้อนแนวคิดสำคัญที่ต้องเร่งลงมือทำถึงบรรดาเหล่าเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสในแวดวงกระทรวงการศึกษาธิการของประเทศอังกฤษ ที่นอกจากจะต้องมุ่งเน้นเรื่องความต่อเนื่องของการเรียนการสอนแล้ว ยังต้องหันมาใส่ใจถึงสภาพเงื่อนไขและบริบทแวดล้อมทางสังคมของเด็กนักเรียนยากจนและเด็กนักเรียนด้อยโอกาสเหล่านี้
โดยก่อนหน้านี้ Vicki Stewart รองผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพนักเรียนและอาหารโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกมาแสดงความเห็นแล้วว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 แทบจะมีผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัสแน่นอนต่อช่องว่างความสำเร็จทางการศึกษามากถึง 75%
ด้าน Russel Hobby กรรมการบริหารของกลุ่ม Teach First องค์กรการกุศลอีกแห่งหนึ่งที่มีเป้าหมายเพื่อรณรงค์เรียกร้องให้แก่กลุ่มเด็กยากจนและด้อยโอกาสในการเรียนหนังสือได้อย่างเท่าเทียมในอังกฤษและเวลส์ กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เด็กจากครอบครัวยากจนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา ก่อนเรียกร้องให้ทุกองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางลงมือปฏิบัติเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว
“สิ่งที่รัฐบาลควรทำก็คือการอัดฉีดทรัพยากรและงบประมาณให้แก่เด็กนักเรียนยากจนที่ได้รับความเสียหายหรือต้องแบกรับความเจ็บปวดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
ความเห็นของ Hobby สอดคล้องกับข้อเรียกร้องกึ่งคำเตือนของทาง EEF ที่ระบุว่า จำเป็นต้องมีความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและยั่งยืนแก่บรรดาเด็กนักเรียนยากจนให้สามารถเข้าเรียนหนังสือและเรียนตามทันเพื่อนร่วมชั้นได้โดยไม่ติดขัดหรือขาดตกบกพร่อง
ขณะเดียวกัน มาตรการช่วยเหลือที่นำมาใช้ ต้องเป็นการดำเนินการในระยะยาว เพราะการกระตุ้นหรืออัดฉีดงบในระยะสั้นๆ ไม่น่าจะเพียงพอที่จะชดเชยช่วงเวลาเรียนรู้ที่หายไปจากการปิดโรงเรียนในครั้งนี้ได้
ศาสตราจารย์ Becky Francis ประธานบริหารของ EEF กล่าวว่า มีหลักฐานพิสูจน์ยืนยันว่า เด็กๆ เรียนได้น้อยลงเมื่อไม่ได้เรียนที่โรงเรียน และการศึกษาวิเคราะห์ขององค์กรในวันนี้ ได้เน้นย้ำให้เห็นว่า การเรียนได้น้อยลงดังกล่าว ยิ่งมีผลกระทบอย่างหนักต่อกลุ่มเด็กนักเรียนยากจน และยิ่งทำให้ช่องว่างการบรรลุผลสำเร็จทางการศึกษากว้างมากขึ้น
ในส่วนของ EEF ได้ร่วมมือกับ Sutton Trust, Impetus และ Nesta ในการดำเนินการเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากรัฐบาล เพื่อวางแผนเปิดโครงการนำร่อง ติวหนังสือระดับชาติขึ้น โดยจะเป็นการติวหนังสือให้แก่เด็กนักเรียนกว่า 1,600 คน จากชุมชนยากจนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งตั้งเป้าให้การติวหนังสือพิเศษดังกล่าวเป็นตัวช่วยสนับสนุนการเปิดโรงเรียน ที่นักเรียนน่าจะกลับมาเรียนหนังสือได้อมากขึ้น
ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษ ตัดสินใจประกาศปิดโรงเรียนทั่วประเทศเมื่อวันที่ 20 มีนาคม หรือกว่า 10 สัปดาห์ ซึ่งแม้จะเร่งจัดการจนสามารถเปิดโรงเรียนได้ตามปกติในวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา กระนั้นก็ยังมีพ่อแม่ผู้ปครองมากมาย รวมถึงตัวคุณครูเองที่ยังไม่ยอมมาโรงเรียน เนื่องจากส่วนใหญ่ยังกังวลและไม่มั่นใจต่อความปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลสำรวจความเห็นของบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองกว่า 6,300 คนทั่วประเทศอังกฤษ ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มพันธมิตรการเรียนรู้ก่อนวัย (Early Years Alliance : EYA)พบว่า พ่อแม่ที่มีบุตรหลานอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เพียง 40% เท่านั้นที่จะส่งลูกของตนไปยังโรงเรียนก่อนอนุบาล อนุบาล หรือศูนย์ดูแลเด็กในช่วงสัปดาห์นี้ ขณะที่อีก 13% ยอมรับว่า ยังคงลังเลและไม่สามารถตัดสินใจได้ ขอดูสถานการณ์ต่อไปอีกสักระยะ
ความลังเลไม่เชื่อมั่นดังกล่าว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา รวมถึง EYA มองว่าเป็นภัยคุกคามต่ออุตสาหกรรมการศึกษาของประเทศ เนื่องจากความหวาดหวั่นจนไม่อยากส่งบุตรหลานไปเรียนที่โรงเรียนร่วมกับผู้อื่น จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบรรดาโรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็กเหล่านี้ จนอาจเลวร้ายถึงขั้นต้องปิดกิจการ กลายเป็นผลเสียทางลบต่อการบ่มเพาะปลูกฝังในเรื่องพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ที่จำเป็นของเด็กและเยาวชนอังกฤษในอนาคต
ที่มา :
Decade of progress in tackling pupil disadvantage ‘wiped out’
Early years and childcare sector at risk of collapse in England