“มาลี” สาวม้งที่อยากจบมาเป็นครู กลับมาสอนเด็กม้งด้วยกันที่บ้านเกิด

“มาลี” สาวม้งที่อยากจบมาเป็นครู กลับมาสอนเด็กม้งด้วยกันที่บ้านเกิด

“มาลี” กับเส้นทางความฝัน
​ที่อยากสร้าง​ความเท่าเทียมให้กลุ่มเด็กชาติพันธุ์

มาลี แสงท้าว นักเรียนชั้น ม.6ในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น

ก้าวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของ “มาลี แสงท้าว” นักเรียนชั้น ม.6 กำลังจะเริ่มต้นขึ้น หลังผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  จนได้ไปเรียนต่อที่ ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก 

และด้วยความมุ่งมั่นที่ตั้งใจจะหยิบยื่นโอกาสและความเท่าเทียมทางการศึกษาให้กับเด็กชาติพันธุ์ ทำให้เธอตัดสินใจเลือกเรียนสายนี้ เพื่อที่วันหนึ่งจะได้กลับมาเป็นครูสอนหนังสือในพื้นที่บ้านเกิดที่ ต.ท้องฟ้า อ.บ้านตาก จ.ตาก

 

ความฝัน…ที่เป็นมากกว่าความฝัน

แรงบันดาลใจที่ทำให้ มาลี อยากจบมาเป็นครู มาจากคุณแม่ของเธอที่ไม่เคยได้เรียนหนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่ก็พยายามทำทุกวิถีทางให้เธอได้รับการศึกษาที่ดี จนเธอเองอยากส่งต่อโอกาสที่ดีเหล่านี้กลับคืนไปยังเด็กๆ ในหมู่บ้านให้มีโอกาสได้เรียนหนังสือเหมือนกัน เพราะในพื้นที่บ้านเกิดเธอประสบปัญหาขาดแคลนครู ทำให้เด็กที่เติบโตขึ้นมาไม่มีคุณภาพเท่ากับที่อื่น 

อีกทั้งปัจจุบันครูส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นครูต่างถิ่น ซึ่งไม่ได้เข้าใจภาษาหรือวัฒนธรรมชนเผ่าม้งเท่าที่ควร มีบางคนที่อาจอยู่นานหน่อยก็พอสื่อสารกับนักเรียนรู้เรื่องบ้าง แต่เด็กๆ ในพื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นม้งและไม่สามารถสื่อสารกับครูได้อย่างเต็มที่ ทำให้การเรียนมีปัญหาตามไปด้วย เด็กบางคนกลัว บางคนอาย เพราะไม่รู้จะบอกครูยังไง จึงเป็นเหตุผลที่มาลีมองว่าเธอเองก็เป็นม้งเลยอยากจะไปเรียนเป็นครูและกลับมาสอนเด็กๆ ในหมู่บ้านเพื่อแก้ปัญหานี้

โดยตอนแรก มาลีทดลองใช้เวลาว่างสอนหนังสือน้องๆ หรือเมื่อครูต้องการความช่วยเหลือ ทั้งทำการบ้านหรือทำกิจกรรมต่างๆ  ด้วยความเชื่อที่ว่า ถ้าคนเราได้รับการศึกษาที่ดี ก็จะมีอาชีพที่ดีได้ และนั่นคือวิธีการพัฒนาชุมชนที่ดีที่สุด

 

ถ้าไม่ได้ทุน ชีวิตจะหมุนไปอีกทาง

โชคชะตาของ มาลี เกือบทำให้ไม่ได้เรียนต่อ เมื่อพ่อที่เป็นเสาหลักของครอบครัวต้องมาเสียชีวิต หากไม่ได้ทุนตรงนี้อาจทำให้ตัวเธอต้องออกไปทำงานหรือแต่งงาน ต่างจากเด็กม้งที่เป็นผู้ชายซึ่งจะมีโอกาสมากกว่า ซึ่งถือเป็นอุปสรรคของม้งที่เป็นผู้หญิง

โอกาสในวันนี้สำหรับ มาลี จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่โอกาสในการศึกษาสำหรับตัวเธอเองเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสที่จะได้เริ่มต้นสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาให้กับเด็กชาติพันธุ์ในพื้นที่ทุกคนอีกด้วย ​

 

#เสียอย่างได้อย่าง
ยอมสละโอกาสได้ทุนอื่น เพื่อเรียนสายวิชาชีพครู

“ดร.​เทิน สีนวน” อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก เล่าให้ฟังว่า มาลีเป็นเด็กที่เรียนหนังสือเก่งได้เกรดเฉลี่ยสูงมาต่อเนื่อง จนถึงขั้นได้รับทุนให้ไปเรียนที่คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยมิชชั่น ​แต่เธอก็ยังตัดสินใจเลือกเดินตามความฝันที่จะไปเรียนและกลับมาเป็นครูสอนหนังสือในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง เพราะเชื่อว่าหากมีครูที่รู้เข้าใจภาษาวิถีชีวิตความเป็นม้งอย่างเธอแล้วจะทำให้เด็กม้งสนใจการเรียนและมีความสุขในการเรียนหนังสือมากขึ้น

“เมื่อฉันเลือกที่จะเป็นครูที่บ้านเกิดของฉันแล้ว ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ ฉันเชื่อเสมอว่าต้องผ่านไปให้ได้ เพราะยังมีเด็กๆ รออยู่ ฉันจะพัฒนาเด็กๆ เหล่านี้ให้มีคุณภาพ เป็นคนดีของสังคม และมาพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง”

โดยในช่วงที่มาสอบสัมภาษณ์คัดเลือกเข้าโครงการ มาลี แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอยากเป็นครู ​​​มีความตั้งใจสูง รวมทั้งสามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ดี ที่สำคัญยังมีจุดเด่นคือการมองสิ่งต่างๆ ในเชิงบวก และไม่ได้มองแค่เรื่องโรงเรียน นักเรียน ครู แต่ยังมองไปถึงชุมชน เช่น การให้ความสำคัญกับเรื่องความพยายามลดการใช้สารพิษในการปลูกพืช โดยมองว่าตัวเองจะสามารถมีส่วนร่วมแก้ปัญหาตรงไหนได้บ้าง

“เมื่อฉันเลือกที่จะเป็นครูที่บ้านเกิดของฉันแล้ว ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ ฉันเชื่อเสมอว่าต้องผ่านไปให้ได้ เพราะยังมีเด็กๆ รออยู่ ฉันจะพัฒนาเด็กๆ เหล่านี้ให้มีคุณภาพ เป็นคนดีของสังคม และมาพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง และสุดท้ายนี้ฉันเชื่อเสมอว่าสักวันหนึ่งฉันจะได้เป็นครูที่บ้านเกิดของตัวเอง” ความในใจของมาลี ที่กลั่นผ่านตัวอักษรในเรียงความ 

ซึ่งวันนี้เธอก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าจิตวิญญาณของความรัก ความผูกพันที่มีต่อชุมชนบ้านเกิดนั้น เธอทำมันด้วยหัวใจจริงๆ จนได้ใบเบิกทางสู่การเป็นครู แม้หนทางจะยังอีกไกล แต่ก็ไม่ใหญ่เกินจะคว้ามา

ที่สำคัญ “มาลี” คืออีกหนึ่งความภาคภูมิใจจาก “โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น” จาก “กสศ.” ที่พร้อมสนับสนุนกลุ่มนักเรียนที่บ้านขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่มีผลการเรียนดี มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ให้ได้เรียนสายอาชีพครูจนจบปริญญาตรีอย่างมีคุณภาพและได้รับการบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนขนาดเล็ก จากพื้นที่ห่างไกล  (Protected School หรือ Standalone) ระดับตำบลกว่า 2,000 แห่ง บ่มเพาะสร้างครูรุ่นใหม่ได้ถึงปีละประมาณ 300 คน จำนวน 5 รุ่นด้วยกัน เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีทรัพยากรครูเพียงพอกับความต้องการ มาจุดประกายความเสมอภาคทางการศึกษาไทย ให้พร้อมลุกโชติช่วงขึ้นมาในวันข้างหน้า

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค