“อิฐบล็อก” ทั่วไปราคาซื้อขายปกติอยู่ประมาณก้อนละ 5 บาท แต่สำหรับโรงเรียนบ้านแม่ก๋อน จ.แม่ฮ่องสอน ที่ตั้งอยู่บนเขาสูง ราคาอิฐบล็อกรวมค่าส่งจะสูงถึง 9 บาท เพราะต้องบวกค่ารถที่เหมาขึ้นมาส่งของแต่ละครั้งตกอยู่ที่ประมาณ 2,500-3,000 บาทต่อเที่ยว
ทำให้งบประมาณการก่อสร้างซ่อมแซมอาคารของโรงเรียนบ้านแม่ก๋อน สูงกว่าโรงเรียนอื่นในพื้นที่เกือบเท่าตัว รวมไปถึงระยะเวลาที่ต้องเพิ่มมากขึ้นเพราะมีเวลาในการขนส่งที่ไม่อาจกำหนดได้ชัดเจนขึ้นอยู่ที่ว่าจะมีรถขึ้นมาส่งของได้เมื่อไหร่
จึงเกิดไอเดียการแก้ปัญหาด้วยการสร้าง “อิฐบล็อก” ใช้เอง ไม่เพียงลดต้นทุนการผลิต แต่ยังเป็นการส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับนักเรียน เพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพสร้างรายได้ หรือทำใช้งานเองภายในครัวเรือน
จนกลายเป็นโครงการฝึกทักษะอาชีพให้นักเรียนโรงเรียนบ้านแม่ก๋อน โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการเงินอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข หรือ ทุนเสมอภาค ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
เริ่มทำกันตั้งแต่ ป.2 สูงสุดวันหนึ่งทำได้ 50 ช้ิน
จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากการได้ไปดูงานที่โรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่ง ครูสมศักดิ์ ช่วยเกิด คุณครูโรงเรียนบ้านแม่ก๋อน เล่าให้ฟังว่าเป็นโรงเรียนใกล้เคียงที่เขาทำกัน ทำกันโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรมาก ใช้แค่ปูนและทรายมาผสมไม่ให้เปียกเกินไป ไม่แห้งเกินไป เอามาอัดลงบล็อกผสมน้ำมันเครื่องเก่าๆ เพื่อไม่ให้ติดบล็อกและแกะออกง่าย
จึงมีเพียงแค่ปูนซีเมนต์เท่านั้นที่ต้องสั่งซื้อมา ส่วนทรายสามารถหาจากลำธารใกล้ๆ ได้ ทำให้ช่วยประหยัดไปได้เยอะ ทำง่ายเด็กๆ ป. 2 ก็เริ่มทำได้แล้ว จะยากก็แค่ช่วงแกะออกจากบล็อก ที่มือต้องนิ่งไม่งั้นจะแตก จากนั้นนำมาพักไว้ 24 ชม. ก็นำมาใช้งานได้ วันหนึ่งถ้าเด็กขยันๆ ก็สามารถทำได้ 50 ชิ้น
อิฐบล็อกนี้ถือเป็นวัสดุพื้นฐานที่สามารถนำไปก่อสร้างทำอะไรก็ได้ ทั้งสร้างห้องน้ำ สร้างอาคาร แปลงผัก ทำให้ความต้องการอิฐบล็อกมีอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าผลิตออกมาเท่าไหร่ก็ใช้หมด
“ไม่เพียงแค่ต้นทุนที่ถูกลง หรือเด็กมีทักษะอาชีพที่จะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต แต่ที่สำคัญคือเป็นความภาคภูมิใจของนักเรียน ที่เขาได้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างห้องน้ำ อาคารเรียน ทำให้เขารักและหวงแหนของที่เขามีส่วนร่วมสร้างขึ้นมา”
เตรียมต่อยอด สร้างอิฐตัวหนอนปูพื้น
สำหรับโครงการต่อไปทางโรงเรียนเตรียมไว้คือทำอิฐตัวหนอนไว้ปูพื้น ซึ่งใช้หลักการและอุปกรณ์ก่อสร้างคล้ายกับอิฐบล็อก แต่ต่างกันแค่แท่นพิมพ์ เพราะเป็นวัสดุที่ต้องการจำนวนมากไม่ต่างจาก “อิฐบล็อก” ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมจัดหาแม่พิมพ์
ทั้งหมดมาจากความมุ่งมั่นตั้งใจแก้ปัญหาของคุณครูที่โรงเรียนแห่งนี้ ครูสมศักดิ์ โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนได้มีความรู้ มีทักษะชีวิต มีรายได้ที่ดีขึ้น เพราะสภาพของเด็กที่นี่อยู่ทุกคนอยู่บนเขาสูงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน ติดชายแดนพม่า
บางคนต้องเดินเท้าเป็นเวลาสองวันครึ่งจากบ้านมาถึงโรงเรียน จากนักเรียนทั้งหมด 112 คน ส่วนใหญ่จึงเป็นเด็กพักนอนเพราะไม่อาจเดินทางไปกลับระหว่างมาเรียนหนังสือได้ ระหว่างที่อยู่ที่โรงเรียนก็จะได้ฝึกอาชีพที่แต่ละคนสนใจและถนัด
โครงการทักษะอาชีพของโรงเรียนยังมีผลิตภัณฑ์อื่นอีก เช่น ผ้าทอปกาเกอะญอ ซึ่งเริ่มประยุกต์นำมาทำเป็นกระเป๋า โดยใช้ลายประจำถิ่นของคนที่นี่ หลายคนทอกันเป็นปกติเพื่อใช้เองอยู่แล้ว เด็ก ๆ ก็จะได้รู้จักทำงานฝีมือไว้สร้างรายได้เพิ่มเติม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่อไป ทั้งในวันนี้หรือต่อไปในอนาคตเมื่อเขาโตขึ้น
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค