พัฒนาอาชีพให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เรามี

นาทีทอง ของ วิกฤต COVID-19
มองตัวตน กลับบ้านสร้างอาชีพใหม่ยึดทรัพยากรแผ่นดินเกิด

“กว่าหนึ่งล้านคน” คือ จำนวนของแรงงานด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้ ตามที่ พญ.ทานทิพย์ ธำรงวรางกูร  คณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประเมินไว้

โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานด้อยโอกาส ที่ไม่มีทักษะ และ ไม่มีทุน เพราะต้องหาเช้ากินค่ำ

“คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีทุนหมายความว่าอาจจะหาเช้ากินค่ำ พอเหตุการณ์นี้เป็นเหมือนอุบัติภัยที่เกิดขึ้นทันทีทันใดเมื่อวานขายได้แต่วันนี้ขายไม่ได้แล้ว นอกจากนี้อาจมีปัญหาเรื่องเงินเก็บ ทุนสำรอง  และคนส่วนใหญ่ที่เป็นแรงงานเช่นนี้จะไม่ได้อยู่บ้านตัวเอง คือมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ต้องไปซื้อข้าว ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ชีวิตเหมือนอยู่บนเส้นฟางที่ลอยอยู่บนผิวน้ำพอไม่สมดุลนิดเดียวก็จม นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น”

เมื่อไม่สามารถทำงานได้ สิ่งแรกที่แรงงานกลุ่มนี้คิด คือ “ต้องกลับบ้าน” แต่ทว่ากลับมีมาตรการลดการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19

“จริงๆ ทุกคนก็รักญาติตัวเอง รักพ่อรักแม่ตัวเอง ไม่มีใครที่อยากจะเอาเชื้อโรคกลับไป แต่มันก็สุดวิสัยที่เขาไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อยู่”

 

ชุมชนมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์แค่ต้องรู้จักต้นทุนตัวเอง

กระนั้นการกลับบ้านครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการกลับอย่างสภาวะปกติเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะเกิดขึ้นใน “ช่วงเวลาแห่งความสุข” เพราะทุกคนล้วนเคร่งเครียดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และกังวลกับชีวิตและการทำมาหากินในอนาคต แต่ในมุมตรงข้าม พญ.ทานทิพย์ มองว่า คนไทย และประเทศไทยยังมีข้อดี ที่ผืนแผ่นดินสามารถเพาะปลูกได้

“เนื้อแท้ของแผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินที่เป็นทองคำ เป็นสุวรรณภูมิ มีแสงอาทิตย์ มีฝน ทำให้เกิดการเจริญเติบโตงอกงามของพืชพรรณต่างๆ เราอยู่ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เพียงแต่ว่าเราไม่รู้จักทุนตัวเอง เราก็เลยไปเพลิดเพลินกับสิ่งที่คนอื่นบอกว่าต้องเป็นอุตสาหกรรม ต้องไปอยู่ในระบบที่เป็นโรงงาน มีงานทำมี เงินซื้ออะไรก็ซื้อได้ แต่ว่าจริงๆแล้วกลับกันถ้ามาทำงานในชุมชนของตัวเอง มีพื้นดิน มีน้ำฝน ก็สามารถดูแลตัวเองได้ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ แต่การที่เราไปเดินตามสายพานที่เขาวางไว้ ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง”

ดังนั้นวิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อาจกลาย “นาทีทอง” ของใครหลายคนที่จะได้กลับมาทบทวนตัวเอง มองหาต้นทุนในของตัวเอง และทุนในชุมชน ว่ามีอะไรที่จะต่อยอดสร้างรายได้ในบ้านเกิดขึ้นไม่ รายได้อาจลดลง แต่รายจ่ายก็ลดลงด้วยเพราะบ้านไม่ต้องเช่า ไม่ต้องจ่ายค่ารถ

 

เปลี่ยนเป้าหมายจาก  “เงิน” เป็น ความสุข และ ครอบครัวที่อบอุ่น

พญ.ทานทิพย์ ชวนตั้งคำถามกับชีวิตของเราเองว่า การประสบความสำเร็จในชีวิตจะต้องมีเงินมีทรัพย์สินอย่างเดียวใช่หรือไม่?

“เราเปลี่ยนเรื่องเงิน เป็นความสุขที่สร้างได้ เปลี่ยนเป็นครอบครัวที่อบอุ่น เปลี่ยนเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ระหว่างทางไปสู่เป้าหมายชีวิตนั้น เปลี่ยนจากเรื่องของการแข่งขันเป็นเรื่องของการแบ่งปัน และการเปลี่ยนจากการพึ่งอุตสาหกรรมมาเป็นการพึ่งตัวเอง ซึ่งต้องมีวิธีการทำงานและวิธีคิดที่เปลี่ยนไป เรื่องที่เกิดขึ้นก็คือจะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มีการแบ่งปันให้คนอื่นมาพึ่งพาอาศัยได้”

 

พัฒนาอาชีพสอดคล้องกับต้นทุนที่ตัวเองมี

เหล่านี้เป็นสิ่งที่พญ.ทานทิพย์ ระบุว่า กสศ. คาดหวังให้เกิดขึ้น โดยให้แรงงานด้อยโอกาสเหล่านี้ใช้ชุมชนเป็นฐานในการพัฒนาสร้างอาชีพ  ทำงานในชุมชน มีที่อยู่อาศัย มีอาหารที่ปลอดสารพิษ สามารถที่จะกำหนดเวลาการทำงานของตัวเองสามารถกำหนดอนาคตลูกหลานเองได้ ได้ทำงานที่ตัวเองอยากทำมากขึ้น ไม่ต้องไปใช้ชีวิตที่ไม่มีหลักประกันในเมือง

“เราก็พยายามจะสื่อสาร ปีที่แล้วเป็นปีแรก คงยังไม่กว้างเท่าไหร่นัก แต่สำหรับคนที่จำเป็นต้องออกจากระบบเพราะทักษะไม่พอ หรือยังไม่มีงานทำ หรือเป็นคนพิการ หรือเป็นผู้สูงอายุ ที่ยังทำงานได้โครงการกสศ.นี้ ก็จะเข้าไปสนับสนุนพวกเขาในเรื่องของทักษะอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งจะเน้นย้ำในเรื่องของการใช้หมวดพัฒนาอาชีพให้สอดคล้องกับทุนที่ตัวเองมี”

 

ใช้จุดแข็งของตัวเอง เริ่มต้นทำในสิ่งใหม่

เมื่อทีทักษะและทรัพยากรแล้ว ต้องคิดต่อไปด้วยว่าผลผลิตที่ได้จะขายในช่องทางไหน เพราะในอดีตมีแต่โครงการที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนทำ แต่กลับไม่มีช่องทางการขายสินค้า ดังนั้นโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสจึงเป็นคำตอบได้

ในอนาคตแม้วิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป  แต่ยังจะยังมีแรงงานหลายประเภท ที่น่าจะว่างงานอีกยาว เช่น แรงงานในธุรกิจท่องเที่ยว เพราะเศรษฐกิจโลกแย่ไปด้วยกันทั้งหมด ซึ่งจะต้องใช้เวลาเป็นปีที่จะสามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ รวมไปถึงแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็มีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากกำลังซื้อจะลดลง

“เป็นโอกาสที่สำคัญ ที่ทุกคนจะรู้จักตัวเองมากขึ้น หลายคนอยู่ในความยากลำบากมากที่สุด หลายคนก็ท้อถอย บางคนกดดัน แต่อยากให้ทุกคนใช้เวลานี้เป็นนาทีทองทบทวนตัวเองลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ  ถ้าเราใช้จุดแข็งที่เราอยู่ในที่ดินอุดมสมบูรณ์แล้วเริ่มต้นทำอะไร เพื่อชีวิตของตัวเราเองจะเป็นโอกาสดีกับตัวเราดีกว่าเราปล่อยเวลาทิ้งไว้เฉยๆ” พญ.ทานทิพย์ทิ้งท้าย

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค