“ช่างเชื่อมสแตนเลส” อาชีพเสริมหลังหมดหน้านา
รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.นครพนม
จากเดิมเมื่อหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยวชาวนาส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดนครพนม รวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียงจะมุ่งหน้าเดินทางเข้าสู่เมืองกรุง เปลี่ยนสถานะจาก “เกษตรกร”เป็น “แรงงาน” ชั่วคราวเพื่อรับจ้างทำงานตามแต่ที่จะมีคนว่าจ้าง ในช่วงที่ไม่สามามารถทำการเกษตรในพื้นที่ได้ก่อนจะกลับมาทำนาอีกครั้งเมื่อถึงฤดูกาลในปีถัดไป
วิถีชีวิตรูปแบบนี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องปีแล้วปีเล่าเพราะไม่มีทางเลือกอื่น แม้จะมีความไม่แน่นอนในการออกไปหารายได้ในเมืองหลวง รวมทั้งต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการอยู่บ้านมากมาย แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะออกไป “เสี่ยงดวง” มากกว่าการอยู่ในพื้นที่แบบไม่มีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
แต่สถานการณ์เวลานี้เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อ “นครพนม” จังหวัดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถูกกำหนดให้เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” จนเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ในพื้นที่นี้มีก่อสร้าง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก
ตามมาด้วยความต้องการแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะ “ช่างเชื่อม” หนึ่งในทักษะอาชีพที่ตลาดในพื้นที่กำลังต้องการสูงในเวลานี้
อาชีพใหม่ เชื่อมงาน เชื่อมคน เชื่อมชุมชน
จุดนี้นำมาสู่ โครงการการพัฒนาทักษะอาชีพช่างเชื่อมสแตนเลสให้กับประชากรวัยแรงงานที่ด้อยโอกาสในพื้นที่จ.นครพนม” ของคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม หนึ่งในโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
“ที่เราทำในส่วนของช่างเชื่อม สาเหตุหลักๆ เลยคือ นครพนมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในเรื่องของงานโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งค่าแรงของช่างเชื่อมจะดีกว่ากรรมกรธรรมดามาก” นายบุญเลิศ โพธ์ซำ ครูเชี่ยวชาญคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม ผู้รับผิดชอบโครงการบอกเล่าถึงที่มาที่ไปโครงการนี้
อยู่บ้านทำงานดีกว่าเข้ากรุงไปรับจ้างวันละ 300 บาท
“ที่สำคัญ หาเราสามารถพัฒนาทักษะอาชีพด้านนี้ให้กับเกษตรกรที่ว่างจากการเพาะปลูกนอกจากเขาจะมีทักษะเพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว เขายังสามารถอยู่ในพื้นที่ หางานในพื้นที่ได้ ไม่ต้องเข้ากรุงเทพแลกค่าแรงวันละ 300 บาทเหมือนทุกปี”
จุดเด่นของการฝึกทักษะอาชีพช่างเชื่อมอยู่ตรงที่ไม่ยากมากนัก ไม่ต้องมีพื้นฐานงานช่างด้านอื่นมาก่อนก็ทำได้ และใช้เวลาการฝึกอบรมสั้นๆ เพียงแค่ 5 วันเท่านั้น ผู้เข้าอบรมก็สามารถที่จะไปรับงานเชื่อม หรือ ผลิตชิ้นงานขนาดเล็กได้ ไม่ว่าจะเป็น ชั้นคว่ำจาน หรือ โครงสแตนเลสใส่เครื่องปรุงในครัว
ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมอบรม 150 คน ทั้งหมดเป็นเกษตรกร และชาวนาที่อยู่ระหว่างการว่างงานในช่วงหลังเก็บเกี่ยวทั้งหมด ซึ่งการอบรมนั้นจะแยกออกเป็น 6 รุ่น อบรมไปแล้ว 3 รุ่น แต่ขณะนี้ติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้การอบรมที่เหลืออีก 3 รุ่นต้องเลื่อนออกไปสักระยะ
สำหรับหลักสูตรการอบรม จะมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยนครพนม มาเป็นผู้จัดอบรม โยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกช่วงสร้างการสร้างแรงบันดาล ซึ่งวิทยากร จะฉายภาพให้ผู้ร่วมอบรมเห็นถึงประโยชน์การฝึกทักษะอาชีพนี้ ว่าจะเกิดประโยชน์กับตัวเองอย่างไร เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร จากนั้นก็เป็นการฝึกทักษะปฏิบัติ และส่วนสุดท้ายคือ การอบรมในเรื่องของผู้ประกอบการ
เม็ดเงิน-ความรู้-ประโยชน์ หมุนเวียนในชุมชน
อย่างไรก็ตาม หลักสูตรนี้ไม่ได้เน้นการขาย แต่เน้นการต่อยอด ให้ผู้เข้าอบรมได้ใช้ทักษะที่มีอยู่ หารายได้จากชุมชนทั้งการรับจ้างจากหน่วยงานภาครัฐ และ รับจ้างจากชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อที่เม็ดเงินจะได้หมุนเวียนอยู่ในชุมชน
หลังจบหลักสูตรทุกกลุ่มจะได้เครื่องเชื่อมสแตนเลส 5 ชุดพร้อมอุปกรณ์ครบครันที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ทันทีไปแบ่งปันกันใช้ในชุมชนขณะเดียวกันหลายคนได้นำทักษะนี้ไปเข้าสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งหากมีใบอนุญาตแล้ว จะถือว่าเป็น “ช่างฝีมือ” ได้ค่าแรง 400 -600 บาททต่อวัน
จุดเปลี่ยน สร้างความภูมิใจในตัวเอง
ล่าสุดจากการติดตาม พบว่าหลายคนเมื่อผ่านการฝึกอบรม ได้นำเครื่องเชื่อมไปสร้างประโยชน์ทั้งกับ ตัวเองและคนในชุมชน ทั้งนำไปรับงานซ่อมแซมเครื่องใช้และอุปกรณ์ทางการเกษตร ขณะที่บางคนไปช่วยวัดทำสาธารณประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีบางคนนำทักษะในทางปฏิบัติที่ได้รับไปถ่ายทอดต่อให้กับคนในชุมชนของตัวเองด้วย
“ผมถือว่าตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนของพวกเขานะ เขาค่อนข้างที่จะดีใจ ภูมิใจในตัวเอง เพราะได้เพิ่มทักษะการเป็นช่างเชื่อม ซึ่งดีกว่าการเป็นแรงงานธรรมดามาก และยังสามารถหารับงานเล็กๆ น้อยๆ ในพื้นที่ได้เองด้วย มันเกิดประโยชน์ต่อตัวเขา ได้ทำงานที่บ้าน ได้ทำงานในพื้นที่ ดีกว่าเข้ากรุงเทพฯไปเป็นทำงานโรงงาน หรือไปเป็นกรรมกรที่กรุงเทพฯมาก” นายบุญเลิศ กล่าวทิ้งท้าย
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค