นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยถึงภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 ว่า จากรายงานภาวะสังคม สศช.พบปัญกาการเลิกเรียนกลางคัน ของเด็กและเยาวชน แม้จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่พบว่าจะมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มตามระดับการศึกษาที่สูงขึ้น
โดยนักเรียนที่เข้าศึกษาประถมศึกษาปีที่ 1 ในระหว่างปีการศึกษา 2546–2548 มีนักเรียนกว่า 20% ไม่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.ต้น) และมีนักเรียนกว่า 31% หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. และ 38% หลุดออกจากการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
จากข้อมูลกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบสาเหตุเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา คือปัญหาความยากจนถือเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้กลุ่มเด็กและเยาวชนไทยหลุดออกนอกระบบการศึกษามีมากกว่า 6.7 แสน คน รวมทั้งยังมีสาเหตุอื่นๆ อาทิ ปัญหาภายในครอบครัว ปัญหาแม่วัยใส การที่เด็กต้องดูแลคนป่วยคนพิการที่อยู่ในบ้าน ปัญหาการเจ็บป่วย รวมถึงการย้ายภูมิลำเนาตามผู้ปกครอง
ทั้งนี้ การหลุดออกนอกระบบการศึกษายังสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ กลุ่มเด็กและเยาวชนในกลุ่มครัวเรือนที่รวยที่สุด (ครัวเรือนที่รวยสุด 10% บน) ได้เรียนต่อในระดับ ม.ปลาย/ปวช. 80.3% และได้เรียนต่อในระดับปวส./อุดมศึกษา 63.1% ขณะที่กลุ่มเด็กและเยาวชนในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนที่สุด (ครัวเรือนที่ยากจนที่สุด 10% ล่าง) ได้เรียนต่อระดับม.ปลาย/ปวช. เพียง 40.5% และได้เรียนต่อในระดับปวส./อุดมศึกษาเพียง 4.2%
นอกจากนี้ ทำให้ขาดแคลนแรงงานในระยะยาว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็ว มีความเสี่ยงจากทักษะการทำงานที่มีอาจล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงาน เป็นอุปสรรคในการเพิ่มผลิตภาพทางการผลิต และการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับ แนวทางการส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ดังนี้ ร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีในพื้นที่ในการนำเด็กและเยาวชนให้กลับสู่ระบบการศึกษาหรือการพัฒนาทักษะอาชีพ และมุ่งเน้นวางแผน การช่วยเหลือเป็นรายกรณี จัดตั้งหน่วยงานเฝ้าระวัง ป้องกัน
โดยต้องมีระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพในการติดตามช่วยเหลือเด็กและเยาวชน และสร้างเครือข่ายทั้งภาคการศึกษาและนอกการศึกษา ปรับวิธีการเรียนการสอนให้มีความยืดหยุ่นเหมาะกับสภาพปัญหาของเด็ก มีระบบสะสม โอนหน่วยกิต/เทียบวุฒิการศึกษา และมีรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย และ ศึกษาและแก้ปัญหาผ่านกลไกของรัฐ อาทิ การใช้กลไกภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เพื่อแก้ปัญหาตรงจุดและต่อเนื่อง