นับถอยหลังก่อนถึงวันเปิดภาคเรียนใหม่ของนักเรียนหลายๆคน ซึ่งปีนี้ ได้เลื่อนเปิดภาคเรียนมาเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม อันสืบเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า
เป็นการเปิดภาคเรียนที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่าที่ยังไม่สงบ
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการจึงได้รายงานเรื่องการเตรียมความพร้อมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อนการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้ครม.รับทราบ ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจหลายประการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงขอนำมาเสนอกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เห็นสมควรกำหนดแนวทางการดำเนินการเตรียมความพร้อมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้
1. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- 1.1 การนับเวลาเรียน ให้เริ่มนับเวลาเรียน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป และนับรวมเวลาเรียนที่สถานศึกษาบริหารจัดการด้วยวิธีการใดๆ เพื่อเปิดสอนชดเชยให้ครบตามโครงสร้างเวลาเรียน ก่อนเริ่มเรียนตามตารางสอนทางไกลในแต่ละวัน ให้มีการรายงานตัวว่ามีความพร้อมที่จะเรียนในแต่ละวิชา ตามวิธีการของแต่ละโรงเรียน ซึ่งต้องมีการชี้แจงและนัดหมายผู้ปกครองและนักเรียนให้เข้าใจ และการนับจำนวนเวลาเรียนของแต่ละวิชา ให้นับจำนวนชั่วโมงที่เรียนจริงตามตารางสอนและกิจกรรมหรืองานใดๆ หากจะนับเป็นเวลาเรียน ต้องกำหนดในตารางสอน หรือเอกสารอื่นที่ระบุไว้อย่างชัดเจน
- 1.2 การสอนชดเชย การจัดการเรียนการสอนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งจะต้องมีการสอนชดเชยสืบเนื่องจากการเลื่อนการเปิดภาคเรียน สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการได้ตามบริบท และความเหมาะสม หรืออาจจะใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือใช้หลายวิธีร่วมกันเช่น หากจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน อาจเพิ่มจำนวนเวลาเรียนในแต่ละวัน และหรือเพิ่มการเรียนในวันหยุด หากจัดการเรียนการสอนทางไกล ต้องกำหนดตารางสอนให้ชัดเจน เพื่อนำมานับชั่วโมงการเรียนได้ และเลือกมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่สามารถวัดและประเมินผลได้จริง คำนึงถึงบริบทของนักเรียนที่บ้านและความพร้อมของผู้ปกครอง หรือเป็นการจัดการเรียนการสอนแบบผสมที่ผสมผสานหลายช่องทาง หรือหลากหลายวิธีสอน จะต้องกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ สอดคล้องกับเวลาในตารางสอน เช่น มอบหมายให้นักเรียนทำโครงงาน หรือแก้โจทย์ปัญหาที่ท้าทาย แล้วส่งไฟล์งานทางออนไลน์ หรือช่องทางอื่น ๆ ที่สะดวก การจัดการเรียนการสอน โดยครูกำหนดประเด็นหรือหัวข้อให้นักเรียนไปศึกษาล่วงหน้า พร้อมทั้ง ให้แหล่งข้อมูล จากนั้น นัดหมายเวลามาอภิปราย ถกแถลง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น อาจจะมาพบกันที่โรงเรียนหรือผ่านออนไลน์ตามช่องทางที่สะดวก นอกจากนี้ สามารถนำการเรียนการสอน ในช่วงเวลาของการเตรียมความพร้อม หรือการปรับพื้นฐานการเรียนรู้ของนักเรียน ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2563 มาใช้เป็นแหล่งข้อมูลได้
- 1.3 การอนุมัติการจบการศึกษา/การออกเอกสารหลักฐานการศึกษา เมื่อสถานศึกษาจัดการเรียนการสอนครบตามโครงสร้างเวลาเรียน และเกณฑ์การจบแต่ละระดับ ให้อนุมัติการจบการศึกษา ภายในวันที่ 9 เมษายน 2564 กรณีนักเรียนมีผลการเรียนไม่สมบูรณ์ (ติด 0 ร มส) ให้สถานศึกษาสอนซ่อมเสริม และดำเนินการวัดและประเมินผลให้เสร็จสิ้น และอนุมัติการจบการศึกษา ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2564
2. การจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถานการณ์การ COVID-19 ได้กำหนดแนวทาง เป็น 4 ระยะ
ขณะนี้ได้ดำเนินการระยะที่ 1 เตรียมความพร้อมเสร็จสิ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 และได้เริ่มการดำเนินการระยะที่ 2 การตรวจสอบความพร้อมการเรียนการสอนทางไกล ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2563 ซึ่งจะนำผลที่ได้ไปพัฒนาปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทางไกลต่อไป โดยในระยะที่ 2 นี้ทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกลใน 2 รูปแบบ คือ เรียนผ่านทีวี (On-Air) และเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชัน (Online) โดยมีการเปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นการเรียนการสอนทางไกลจากผู้ปกครอง ประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ แนะนำช่องทางการเรียนทางไกลให้กับผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงพัฒนาเพื่อการดำเนินการในระยะที่ 3 (1 กรกฎาคม – 30 เมษายน 2564) สำหรับ 2 สถานการณ์ ดังนี้
- สถานการณ์ที่ 1 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ไม่คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบดิจิทัล ระบบดาวเทียม ระบบเคเบิลทีวี และระบบ IPTV จำนวน 15 ช่อง ซึ่งสามารถรับชมผ่านทางเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน และ Youtube ช่อง DLTV ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ และเว็บไซต์ OBEC ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้อีกช่องทางหนึ่ง
- สถานการณ์ที่ 2 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนปกติในโรงเรียน โดยเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) และมีแผนเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
3. การวัดผลและประเมินผล กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ไม่คลี่คลาย การวัดและประเมินผลในชั้นเรียน ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
- 3.1 การวัดและประเมินผลในระดับปฐมวัย ใช้วิธีการสังเกตพฤติกรรมการพูดคุย การซักถาม การตรวจสอบชิ้นงาน เป็นต้น ครูผู้สอนจำเป็นต้องจัดทำแบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ แบบตรวจสอบรายการ และแบบประเมินพัฒนาการด้านต่างๆ ของผู้เรียน ประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินพัฒนาการของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในการจัดส่งข้อมูลสารสนเทศผลการประเมินพัฒนาการหรือพฤติกรรมของผู้เรียนย้อนกลับให้ครูผู้สอนผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบต่างๆ และสามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของเด็ก เพื่อประเมินและตรวจสอบพัฒนาการของเด็กได้อีกด้วย
- 3.2 การวัดและประเมินผลในระดับประถมศึกษา ใช้วิธีการและรูปแบบที่หลากหลายผสมผสานกันไป เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การตรวจผลงาน การประเมินภาคปฏิบัติ การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน และการทดสอบ เป็นต้น ครูผู้สอนจัดทำเครื่องมือวัดและประเมินผล ให้ผู้เรียน เป็นผู้ส่งข้อมูลสารสนเทศ ผลการประเมินย้อนกลับให้ครูผู้สอน ประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผู้เรียน สามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของผู้เรียน เพื่อตรวจสอบและประเมินความสามารถของผู้เรียน มีการจัดทำตารางนัดหมายผู้เรียนเป็นกลุ่มเพื่อประเมินผลการทำกิจกรรมร่วมกัน มีการใช้แบบทดสอบรูปแบบต่างๆ ในการวัดและประเมินผู้เรียนตามความเหมาะสม ในแต่ละระดับชั้น
- 3.3 การวัดและประเมินผลในระดับมัธยมศึกษา ใช้วิธีการและรูปแบบที่หลากหลายผสมผสานกันไป เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การตรวจผลงาน การประเมินภาคปฏิบัติการประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน และการทดสอบ อาจมีทั้งการทดสอบโดยใช้ข้อสอบและกระดาษคำตอบ การทดสอบโดยใช้ระบบการสอบออนไลน์ การทดสอบโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป เป็นต้น ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สำหรับการบริหารจัดการทดสอบและประเมินผู้เรียน ดังนั้นในการวัดและประเมินผล ครูผู้สอนสามารถจัดระบบให้ผู้เรียนสามารถส่งข้อมูลสารสนเทศ ผลการประเมินย้อนกลับได้ด้วยตนเองไปให้ครูผู้สอน โดยใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) หรือช่องทางการสื่อสารอื่นๆ ประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผู้เรียน สามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของผู้เรียนเพื่อประเมินและตรวจสอบความรู้ความสามารถของผู้เรียน จัดทำตารางนัดหมายผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อทำกิจกรรมการเรียนการสอนควบคู่กับการวัดและประเมินผล ทั้งที่สถานศึกษาและที่บ้านนักเรียน
4. แนวทางการดำเนินงานและบริหารงบประมาณการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กระทรวงศึกษาธิการ โดยสพฐ. ได้จัดสรรงบประมาณ สำหรับภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน กิจกรรมการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน งบเงินอุดหนุน รายการค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้กับสถานศึกษาในการจัดกิจกรรมให้แก่นักเรียนตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ในรายการค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่โรงเรียนจัดให้แก่นักเรียน ประกอบด้วย
- 1. กิจกรรมวิชาการ
- 2. กิจกรรมคุณธรรม จริยธรรม ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์
- 3. กิจกรรมทัศนศึกษา
- 4. กิจกรรมการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร (ICT)
แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้สถานศึกษาหลายแห่งไม่สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมดังกล่าวได้ และเพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินการจัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้นักเรียนได้เรียนรู้พัฒนาความรู้ ความสามารถตามหลักสูตร จึงเห็นควรปรับแนวทางการดำเนินงานและบริหารงบประมาณการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รายการ ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (เพิ่มเติม) ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
สพฐ.จึงได้เพิ่มเติมแนวทางการดำเนินงานตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน กิจกรรมการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน งบเงินอุดหนุน รายการค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน(เพิ่มเติม) คือ ให้สถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เช่น วัสดุผลิตสื่อการเรียนการสอน ใบงาน แบบฝึกหัดและค่าใช้จ่ายในการติดตามและเยี่ยมบ้านนักเรียนที่เป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น
5. การบริหารจัดการสำหรับนักเรียนพิการและเด็กด้อยโอกาส
- 5.1 นักเรียนพิการที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสพฐ.จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนค่าอาหารนักเรียน ประจำ นักเรียนไป-กลับ ซึ่งระบุรายการในเอกสารงบประมาณว่าเป็น งบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป รายการเงินอุดหนุนค่าอาหารนักเรียนประจำ นักเรียนไป-กลับ โดยจัดสรรให้กับศูนย์การศึกษาพิเศษ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดอาหารสำหรับเด็กพิการที่มารับบริการที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ 77 แห่ง ใน 77 จังหวัด แบบประจำ และไป-กลับ และหน่วยบริการแต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ศูนย์การศึกษาพิเศษ ไม่สามารถให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพนักเรียนตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ และที่หน่วยบริการได้ จึงไม่สามารถจัดอาหารให้แก่นักเรียนประจำ และนักเรียนไป-กลับของศูนย์การศึกษาพิเศษได้ดังนั้น สพฐ.จึงกำหนดแนวทางการบริหารจัดการสำหรับศูนย์การศึกษาพิเศษ กรณียังไม่สามารถเปิดให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ตามปกติ ให้ปฏิบัติดังนี้ 1) ให้ศูนย์การศึกษาพิเศษ ตั้งคณะกรรมการอย่างน้อย 3 คน ดำเนินการจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ปกครอง โดยมีหลักฐานคือ ใบสำคัญรับเงิน และสำเนาบัตรประชาชนของผู้ปกครอง (ผู้รับเงิน) 2) กรณีนักเรียนประจำ จ่ายเป็นเงินสด จำนวน 90 บาท (มื้อละ 30 บาท / 3 มื้อ) ให้แก่ผู้ปกครองนักเรียนเมื่อครู บุคลากรทางการศึกษา ออกไปติดตาม ประเมินผล และเยี่ยมบ้านนักเรียน อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง 3) กรณีนักเรียนไป-กลับ จ่ายเป็นเงินสด จำนวน 30 บาท (1 มื้อ) ให้แก่ผู้ปกครองนักเรียน เมื่อครู บุคลากรทางการศึกษา ออกไปติดตาม ประเมินผล และเยี่ยมบ้านนักเรียน อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง
- 5.2 นักเรียนโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนเฉพาะความพิการ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสพฐ. จัดสรรงบประมาณ ค่าจัดการเรียนการสอน (ค่าอาหารนักเรียน) ซึ่งระบุรายการในเอกสารงบประมาณว่าเป็น งบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป รายการค่าจัดการเรียนการสอน โดยจัดสรรให้กับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 51 โรง และ โรงเรียนเฉพาะความพิการ จำนวน 48 โรง เพื่อจัดอาหารสำหรับนักเรียนพิการ และด้อยโอกาสที่เรียนอยู่ในสถานศึกษา แบบประจำ และไป-กลับ เงินอุดหนุนค่าอาหารนักเรียน มื้อละ 30 บาทแต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีการจัดการเรียน การสอนที่บ้านแบบผสมผสานใน 3 รูปแบบ คือ เรียนรู้หลักผ่าน TV ทุกระบบ (On-Air Education) เรียนรู้เสริมผ่านดิจิทัล (Online Education) และ เรียนรู้เสริมแบบโต้ตอบ (Interactive Education) โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และตามบริบทพื้นที่ของสถานศึกษา จึงไม่สามารถจัดอาหารให้แก่นักเรียนประจำ และนักเรียนไป-กลับ ที่โรงเรียนได้ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงกำหนดแนวทางการบริหารจัดการสำหรับโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนเฉพาะความพิการ กรณีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ให้ปฏิบัติดังนี้ 1) ให้สถานศึกษาตั้งคณะกรรมการอย่างน้อย 3 คน ดำเนินการจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ปกครอง โดยมีหลักฐานคือ ใบสำคัญรับเงิน และสำเนาบัตรประชาชนของผู้ปกครอง (ผู้รับเงิน) 2) กรณีนักเรียนประจำ จ่ายเป็นเงินสด จำนวน 90 บาท (มื้อละ 30 บาท / 3 มื้อ) ให้แก่ผู้ปกครองนักเรียน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง 3) กรณีนักเรียน ไป-กลับ จ่ายเป็นเงินสด จำนวน 30 บาท (1 มื้อ) สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ผลกระทบ การจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลเชิงบวกให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องพัฒนาตนเองอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอน และการวัดประเมินผลด้วยวิธีการที่หลากหลาย โดยมีผลกระทบต่อผู้ปกครองที่จะต้องเพิ่มบทบาทและมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้นเช่นกัน