ครู รร.ตชด. ต้อง ‘เป็นทุกสิ่งที่เป็นได้’

ครู รร.ตชด. ต้อง ‘เป็นทุกสิ่งที่เป็นได้’

“เราพยายามเปิดโลกให้เขาเห็นว่ามีทางเลือกของชีวิตมากมาย มีงาน มีอาชีพที่จะช่วยให้เขาเปลี่ยนแปลงสถานะความเป็นอยู่ได้ ซึ่งการเรียนคือโอกาสเดียวที่จะทำให้เขาได้ออกไปข้างนอก”

อุปสรรคหนึ่งของการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลคือ ‘แรงจูงใจทางการศึกษา’ โดยเฉพาะในชุมชนเล็ก ๆ โดดเดี่ยวบนเขาสูงใกล้ตะเข็บชายแดนซึ่งยากต่อการเข้าถึง เด็ก ๆ ต้องเติบโตขึ้นผ่านการรับรู้เพียงอาชีพไม่กี่อย่างในชุมชน แทบมองไม่เห็นว่าปลายทางของการศึกษาอยู่ตรงไหน

เช่นที่ ‘โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโป่งลึก’ ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อันเป็นโรงเรียนแห่งเดียวของชุมชนชาวปกาเกอะญอ บนยอดเขาซึ่งห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานราว 30 กิโลเมตร หากการจะเข้าไปถึงจำต้องไต่ขึ้นไปบนเส้นทางขรุขระ ลัดเลาะผ่านโค้งคด ลาดชัน ข้ามห้วยธารที่กีดขวาง การเข้าออกหมู่บ้านจึงมีเพียงเหตุจำเป็นเท่านั้น

“เด็ก ๆ ที่นี่เรียนรู้ไว แต่ปัญหาสำคัญคือเขาไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม ในเมื่อยังไงก็ต้องไปทำไร่ หรือทำงานรับจ้างเท่าที่มีเหมือนคนรุ่นพ่อแม่เขา” ‘ครูจอย’ บัญชา คำม่วง บอกถึงทัศนคติของเด็ก ๆ ผ่านประสบการณ์ 9 ปีเต็มของการเป็นครูที่โรงเรียน ตชด. บ้านโป่งลึก

แต่นั่นคือเรื่องราวที่เป็นเพียง ‘อดีต’ เพราะด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทของครูทุกคนที่โรงเรียน ซึ่งมองเห็นปัญหาและช่วยกันพยายามปลูกฝังทัศนคติที่ดีในการเรียนหนังสือให้เด็ก ๆ

ทำให้วันนี้ เด็ก ๆ จาก รร. ตชด. บ้านโป่งลึก รุ่นแรก ๆ ที่ผ่านการดูแลของครูกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย มีอาชีพที่แตกต่างจากคนรุ่นพ่อแม่ สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ ขณะที่น้อง ๆ รุ่นต่อมา ก็พร้อมเจริญรอยตามพี่ ๆ ในการออกไปเรียนต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น และมองเห็นแล้วว่า ‘การเรียน’ จะพาชีวิตพวกเขาไปในทิศทางใด

 

เปิดโลกกว้างด้วยแรงบันดาลใจจาก ‘ไอดอล’

ครูจอยชี้ให้เห็นว่า การเปิดโลกภายนอกผ่านเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของครูและสื่อต่าง ๆ เป็นเสมือนประตูบานใหญ่ที่เด็ก ๆ จะบันทึกไว้เป็นภาพบันดาลใจ โดยเฉพาะจากบุคคลต้นแบบที่เด็ก ๆ ชื่นชม จนเกิดแรงขับให้อยากประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับไอดอลของเขา

“เราพยายามเปิดโลกให้เขาเห็นว่ามีทางเลือกของชีวิตมากมาย มีงาน มีอาชีพที่จะช่วยให้เขาเปลี่ยนแปลงสถานะความเป็นอยู่ได้ ซึ่งการเรียนคือโอกาสเดียวที่จะทำให้เขาได้ออกไปข้างนอก แต่ก่อนอื่น เราต้องค้นให้พบว่าเขามีศักยภาพหรือถนัดอะไร แล้วผลักดันไปในทิศทางนั้น คนไหนที่เรียนดี พอเขาบอกว่าอยากทำอาชีพอะไร เราก็หาข้อมูลมาแนะนำส่งเสริมว่าเขาต้องไปทางไหน หาบุคคลต้นแบบในสายอาชีพที่เขาสนใจมาแนะนำ หรือบางคนเก่งเรื่องกีฬาเราก็จะหาข้อมูลเรื่องกีฬาที่เขาชอบมาคุยด้วย อย่างไม่เคยดูบอลเราก็ต้องดู เพื่อจะได้คุยกับเขาให้รู้เรื่อง”

“จากนั้นเราต้องสร้างโอกาสให้เขาได้เพิ่มทางเลือกให้ตัวเอง มีเคสตัวอย่างที่เด็กอยากเป็นหมอ จบ ป.6 เราก็หาทางให้เขาได้ออกจากหมู่บ้านไปเรียนต่อ ปัญหาสำคัญคือทางบ้านเขาอยากเก็บเด็กไว้คอยดูแลพ่อแม่ ดูแลบ้าน เราก็เข้าไปคุย เสนอกับครอบครัวว่าจะเอาข้าวสารไปให้เขาทุกสัปดาห์ หมดเมื่อไหร่ก็มาเอาไปเพิ่ม ขอแค่ให้เด็กได้เรียนต่อ จนพ่อแม่เขายอม ตอนนี้เด็กจึงมีโอกาสได้รับการอุปถัมภ์ด้านการเรียนจากหมอท่านหนึ่ง ซึ่งเขาก็พร้อมสนับสนุนจนสุดทางตามที่เด็กจะไปไหว ส่วนพวกที่มีความสามารถทางกีฬา เราก็จะใช้เครือข่ายเพื่อนครูหรืออาจารย์ที่รู้จักกันให้ช่วยรับเด็กไปดูแลต่อในที่ที่เหมาะสมกับเขา

 

ไม่ใช่แค่ช่วยเด็ก แต่ชาวบ้านต้องมีรายได้ ต้องมีงานทำ

ครูจอยเล่าต่อว่าสำหรับคนเป็นครู ต้องพร้อมเสมอที่จะรอรับเด็กในวันที่เขากลับมา เมื่อบางคนอาจไปไม่ถึงจุดที่คิดไว้ หรือเรียนไม่ไหว

“การที่เด็กจากบนเขาต้องเข้าไปเรียนในเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย เราจะต้องให้กำลังใจเขา ช่วยให้เขาปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ให้ได้มากที่สุด แต่มันก็มีบ้างที่เขาอาจไปไม่ไหว ต้องกลับมา ตรงนั้นเราจะช่วยหาทางเลือกอื่นที่เหมาะสมให้เขา”

และไม่ใช่แค่เด็ก ๆ แต่ครูจอยบอกว่า ครูโรงเรียน ตชด. บ้านโป่งลึกทุกคน ล้วนคือส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะการช่วยเหลือชาวบ้านในการหางาน สร้างรายได้ เพราะหน้าที่ของครูโรงเรียน ตชด. นั้นหมายถึง เราต้องสามารถ ‘เป็นทุกสิ่งเท่าที่เป็นได้’ 

“การที่เราเลือกแล้วว่าจะมาทำงานในพื้นที่นี้ เรารู้แต่แรกว่าการเป็นครูไม่ใช่แค่สอนหนังสือหรือดูแลเด็ก ๆ ความที่เราเองก็เป็นคนในพื้นที่ ทำให้รู้จักสภาพแวดล้อมและเห็นปัญหาในท้องถิ่นเป็นอย่างดี เรารู้ว่าเด็ก ๆ และชาวบ้านเขาขาดเหลืออะไร

“ครูของเราต้องเตรียมพร้อมในทุกวัน ถ้ามีเด็กหรือชาวบ้านป่วยหนักเราก็พาลงไปโรงพยาบาล ในที่ห่างไกลเดินทางลำบากอย่างนี้ เราต้องทำกันได้ทุกเรื่อง ชาวบ้านมีปัญหาอะไรเขาจะเข้ามาหาเราก่อน จะดึกดื่นแค่ไหนเราก็ต้องขับรถพาเขาไป ครู รร.ตชด. เย็บแผลทำแผลกันได้หมด ทุกคนต้องเป็น    

“แต่สำคัญที่สุดคือเราต้องช่วยให้เขามีรายได้ มีงานทำ แก่งกระจานเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เราพอรู้จักคนก็ช่วยประสานให้เขาได้ทำงานตามรีสอร์ทบ้าง หรืองานในสวนในไร่ บางคนมีผลผลิตเกษตร กล้วย มะเขือ หรือทุเรียน เราก็ช่วยให้เขามีช่องทางขาย ส่วนหนึ่งทางโรงเรียนก็รับซื้อเพื่อนำมาเป็นอาหารกลางวันของเด็ก ๆ ทุกวันอยู่แล้ว 

“ใครอยากทำงานเราต้องหาให้เขาได้ทำ ตรงนี้พอเราช่วยให้ผู้ปกครองมีรายได้ เด็กก็สุขภาพจิตดีขึ้น มาเรียนอย่างมีความสุข ผลการเรียนเขาก็ดีขึ้นด้วย” ครูจอยกล่าวทิ้งท้าย

เรื่องราวของครูคนหนึ่ง ซึ่งฉายภาพให้เห็นชีวิตของครู รร.ตชด. อีกนับพันคน ที่ยอมสละละทิ้งความสะดวกสบายส่วนตัว เพื่อสร้างอนาคตทางการศึกษาให้กับเด็ก ๆ และเป็นพลังในการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งครูจอยย้ำว่า การเป็นครู รร.ตชด. จะท้อไม่ได้ “เพราะงานเกี่ยวกับเด็ก ๆ และชาวบ้านนั้นไม่มีวันหยุด สิ่งที่ทำได้จึงเป็นการเตรียมพร้อมทำสถานการณ์เฉพาะหน้าให้ดีที่สุด ในทุก ๆ วัน”

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค