กว่า 19 ปีเต็มหลังตัดสินใจเริ่มเข้าสู่ถนนแห่งการช่วยเหลือเด็ก ‘เร่ร่อน’ นริศราภรณ์ อสิพงษ์ หรือที่เด็กๆ เรียกว่า “ครูนาง” หัวหน้าแผนกครูข้างถนน มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล (เมอร์ซี่) จากคนไม่เข้าใจปัญหาเด็กเร่ร่อนว่ามันซ้ำซ้อนขนาดไหน จนปัจจุบันถือว่าเป็นขวัญใจเด็กๆ เร่ร่อนทุกคนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่สำคัญยังคอยเป็นกระบอกเสียงต่อสู้ทุกสิทธิ์เพื่อเด็กกลุ่มนี้มาตลอด
ชีวิต 19 ปี แห่งรอยน้ำตาความผิดหวัง
ครูนางในวัย 48 ปี รู้อยู่เต็มอกว่าปัญหาเด็กเร่ร่อนมันท้าทายตัวเองมาตลอด เนื่องจากบริบทปัญหาเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน ทั้งเรื่องปัจเจกบุคคล สิ่งแวดล้อม ล้วนชวนให้ต้องกุมขมับปวดหัวอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า 19 ปีย่างเข้าปีที่ 20 ของการเป็น ‘ครูข้างถนน’ ไม่ใช่เรื่องง่ายสูญเสียน้ำตามามายนับไม่ถ้วน เพราะความคาดหวังที่ต้องการเห็นเด็กๆได้กลับสู่สังคมดีๆ และสำเร็จในสิ่งครูคนนี้ประคับประคองมาตลอด
นริศราภรณ์ เผยความรู้สึกในใจว่า ระยะเวลาที่เกิดขึ้นกับบทบาทครูข้างถนนดูแลเด็กเร่ร่อนมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่หลายคนอาจเข้าใจ มันเกิดมิติซ้ำซ้อนของปัญหาหลายด้านจนบางครั้งยากจะเยียวยา แต่เราต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในฐานะ ‘เรือจ้าง’ คนหนึ่ง แม้จะเป็นครูนอกระบบ แต่ก็ปลาบปลื้มประทับใจที่สุดในชีวิตของครูอย่างเราที่ได้ช่วยเหลือเด็กๆ นอกจากหน้าที่ครูแล้ว เรายังเป็นพ่อ แม่ เพื่อน พี่ น้อง ทุกอย่างที่จะทำให้เด็กทุกคนสบายใจที่สุดเมื่อเค้าอยู่กับเรา
เปิดโทรศัพท์ 24 ชั่วโมงไม่เคยปิดเพื่อเด็กเร่ร่อน
“โทรศัพท์ครูเปิดตลอด 24 ชั่วโมงไม่เคยปิดเครื่องเลย ถ้าเด็กคนไหนมีเรื่องมีปัญหาอะไร เจ็บป่วย เรารับสายตลอดไม่เคยปฏิเสธเลย กลางดึกก็มีโทรมา บางคนเครียดปัญหาชีวิตโทรมาปรึกษาแลกเปลี่ยนกันปลอบใจกันทุกอย่างจนเด็กสบายใจขึ้น มันไม่ง่ายนะที่เด็กพวกนี้จะวางใจเชื่อใจใครสักคน ที่เขาไม่เคยรู้จักเลย เราโดนด่าสารพัดกว่าจะไปนั่งในใจเด็กได้ใช้ระยะเวลานานพอสมควรทีเดียว ทุกวันนี้เรามองพวกเค้าเหมือนลูกไม่ได้มองเป็นครูกับลูกศิษย์เลย” ครูนาง สะท้อนความรู้สึก
จากความเป็นกันเองของครูนางทำให้เด็กทุกคนต่างรู้สึกอบอุ่น กล้าบอกเล่าปัญหาทุกอย่างปราศจากเงื่อนไขใดๆ ไม่มีกำแพงระหว่างกัน นริศรา กล่าวยอมรับตามตรงว่า รสชาติชีวิตที่ได้รับจากเด็กกลุ่มนี้มีทั้งสุขและทุกข์ผสมปนเปกันทุกอย่าง จนบางครั้งเคยคิดถอยหลังยอมแพ้หวังถอนตัวออกจากวงการนี้น่าจะดีกว่า เนื่องจากสารพัดสิ่งมันบั่นทอนทำให้ท้อแท้ใจ มีหลายเรื่องที่วาดหวังไว้ไม่เป็นไปตามฝัน ซึ่งก็มาจากเด็กๆ ทั้งนั้น แต่เราเข้าใจว่าพวกเค้าไม่ใช่เด็กทั่วไปเหมือนเด็กในระบบการศึกษา ความผิดหวังจึงกลายเป็นเรื่องชินชาไปเสียแล้ว
นริศราภรณ์ อสิพงษ์ "ครูนาง" หัวหน้าแผนกครูข้างถนน มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล (เมอร์ซี่)
หนึ่งชีวิตมีความหมายต้องช่วยกัน
“ส่วนคำว่า ‘ครูข้างถนน’ ทำไมต้องเป็นคำเรียกนี้ เพราะการทำหน้าที่ครูแบบนี้ เป็นการเข้าไปดูแลเด็กที่สังคมปฏิเสธ ไม่สนใจ แต่ครูอย่างเราสามารถช่วยชีวิตหนึ่งชีวิตที่ประสบปัญหาแล้วมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเราไม่เคยรู้จักกันเลย แต่เราเรียนรู้กันและกัน สุดท้ายสิ่งที่เราเรียนรู้และช่วยเค้าสามารถต่อยอดชีวิตเค้าให้ดีขึ้นได้”
ห้วงเวลา 19 ปี ระหว่างลงพื้นที่ไปหาเด็กๆยามค่ำคืนมักได้ยินประโยคสั้นๆ ที่ซาบซึ้งใจ และทำให้ครูนางหยัดยืนต่อการช่วยเหลือคือ “มันดึกแล้วครูกลับบ้านได้แล้ว” ความเหน็ดเหนื่อยจางหายไปทันที ก็แปลกเหมือนกันจนเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบันย่างเข้าปีที่ 20 ที่เราช่วยเหลือสังคมอยู่แบบนี้ เหนือสิ่งใดครอบครัวได้เข้าใจสิ่งที่เป็นในบทบาทครูข้างถนน