ความเสมอภาคทางการศึกษาไม่ได้หมายถึงแค่เพียงการให้ความช่วยเหลือเรื่องทุนทรัพย์สำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงการทำให้เด็กทุกคนในชั้นเรียนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
สอดรับกับวัตถุประสงค์ของโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง หรือ TSQP ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ต้องการพัฒนารูปแบบเรียนการสอนในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทัดเทียมกับโรงเรียนขนาดใหญ่หรือโรงเรียนในเมือง
ครูแอ๊ะ กมลลักษณ์ นนทะสร ครูอนุบาล 3 จากโรงเรียนชุมชนวัดควนมีด อ.จะนะ จ.สงขลา หนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับการถ่ายทอดรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Active Learning จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผ่านโครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย และแบบโครงงานฐานวิจัยยืนยันว่ารูปแบบการสอนนี้ทำให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น กล้าคิด กล้าตอบคำถาม มีความสร้างสรรค์มากขึ้น
”ที่เห็นได้ชัดคือน้องคนหนึ่งเป็นเด็กพิเศษที่มีทักษะการใช้ชีวิตปกติให้ไปสำรวจขุดดินทำได้หมด แต่จะมีอาการไม่ค่อยนิ่ง อยากทำอะไรก็ทำเดินไปเดินมาในห้องเดิม ครูก็ใช้ทั้งไม้อ่อนไม้แข็งแต่ก็ยังไม่ได้ผล พอเริ่มนำรูปแบบ ’จิตศึกษา’ ที่ได้รับการอบรมมาปรับใช้จึงเห็นผลการเปลี่ยนแปลงว่าเด็กนิ่งขึ้นมาก จนคุณยายที่บ้านบอกว่าให้กินยาลดลง” ครูแอ๊ะ เล่าผลลัพธ์
ครูแอ๊ะอธิบายด้วยว่า รูปแบบจิตศึกษาที่นำมาใช้คือการสร้างสมาธิให้เด็กดึงเข้ามาจดจ่อกับสิ่งที่ทำโดยใช้รูปแบบเพลงนั่งสมาธิแห่งความสุข ประกอบการทำท่าทางซึ่งน้องเขาชอบเสียงเพลงกระบวนการเลยง่ายขึ้น ช่วงหลังได้อาสาเป็นคนนำเพื่อนๆ อาสานำสวดมนต์ ทำให้เขามีความสุขกับการทำกิจกรรมอื่นๆ ไปด้วย
“การสอนแบบนี้จะพยายามดึงเด็กหลังห้องให้กลับมาเท่าเพื่อน เราไม่กะเกณฑ์ว่าใครจะต้องตอบคำถาม แต่บอกว่าทุกคนจะต้องตอบคำถามและมีกติกา ว่าหากจะตอบให้ยกมือและฟังคำตอบของเพื่อนให้จบ ไม่ตอบซ้ำกับคำตอบเพื่อนเพื่อให้เด็กคิด ส่วนคนที่ไม่ตอบก็จะให้เด็กๆ เสนอ ว่าจะทำยังไงก็มีการเสนอว่าให้ไปนั่งตรงมุมนั้นมุมนี้ เด็กที่เคยนั่งเงียบนิ่งก็จะเริ่มยกมือตอบเราก็ต้องชมให้เพื่อนตบมือให้กำลังใจ จากนั้นเขาจะเข้ามามีส่วนร่วม ไม่จำเป็นต้องไปอยู่แถวหน้าให้เขามาอยู่ร่วมกับเพื่อนได้ก็พอ” ครูแอ๊ะ อธิบาย
ครูแอ๊ะ ยอมรับว่า การปรับรูปแบบการสอนก็ไม่ง่ายนักเพราะสอนแบบเดิมมา 27 ปี เมื่ออบรมครั้งแรกเขายังไม่ได้บอกอะไร เขาสอนเรื่องแรงตึงผิวเราก็ยังไม่เข้าใจ เลยกลับไปให้เขาสอนใหม่ พอเราเข้าใจก็ง่ายเอามาปรับใช้สอนเด็กเห็นผล ตรงนี้ถือเป็นทางสว่างที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ จากเดิมที่เราทำการทดลองก็แค่บอกให้ทดลองจดบันทึก แต่รูปแบบใหม่เราจะต้องให้เขาคิดอธิบายได้ด้วยตัวเองไม่ต้องให้ครูบอก ยกตัวอย่างเช่นการทดลองเรื่องความลับของสีดำที่หยดน้ำไปแล้วสีดำหายไป กลายเป็นสีน้ำเงินขอบๆ เด็กก็จะคิดแล้วก็สรุปว่าเพราะน้ำเป็นตัวทำละลาย เด็กก็สนุก ได้ความรู้ เริ่มรู้จักตั้งคำถาม คิดหาคำตอบ เริ่มรู้จักสังเกต
ไม่ต่างอะไรจากความคิดเห็นของ ครูนัฐพงษ์ ดินนุ้ย ครูอนุบาล 2 จากโรงเรียนบ้านท่าชะมวง จ.สตูล กล่าวว่า หลังจากที่ได้นำรูปแบบการเรียนแบบบ้านวิทยาศาสตร์มาใช้ทำให้เด็กมีความสนใจมากขึ้น กล้าคิด กล้าตอบคำถาม เด็กพิเศษ เด็กออทิสติก สามารถทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนได้มากขึ้นกว่าเดิม โดยใช้กิจกรรมเรื่องจิตศึกษาเข้ามาช่วยดึงความสนใจเด็กร่วมด้วย สำหรับในส่วนการทดลองก็จะให้เด็กทำตามคำสั่งและลงมือปฏิบัติเองจากเดิมที่ครูจะทำให้ดูก่อน แต่รูปแบบใหม่จะให้เด็กทดลองเองและหาข้อสรุปเอง
“เด็กเขาจะแย่งกันตอบอย่างพรั่งพรู ไม่ต้องบังคับให้พูด เพราะเป็นสิ่งที่เขาพบเองประสบเองผ่านการทดลองโดยตรงที่เห็นเอง ตอนให้เด็กพูดคุยหาคำตอบเราก็ไม่บังคับให้เขาพูดภาษากลาง ให้เขาพูดใต้ได้เลยเพื่อให้เกิดการคิด พูดคุยได้อย่างมีอิสระไม่มีข้อจำกัด พอเราเห็นว่าเขาสามารถทำได้ไปตามกิจกรรมที่ขยับไปทีละนิด เราก็ภูมิใจที่เขาทำได้ รูปแบบการเรียนแบบนี้จึงถือว่าเป็นรูปแบบที่ดี ทำให้เด็กได้คิดมากขึ้น มีประโยชน์กับเด็ก” ครูนัฐพงษ์ กล่าวถึงประโยชน์และความเปลี่ยนแปลง