จุดไฟในหัวใจครู สร้างแนวร่วมดึงเด็กออกจากพื้นที่เสี่ยง

จุดไฟในหัวใจครู สร้างแนวร่วมดึงเด็กออกจากพื้นที่เสี่ยง

ทุนเสมอภาคดึงเด็กออกจากพื้นที่สีแดง
สร้างรายได้จูงใจเด็กกลับมาเรียนหนังสือ

โรงเรียนล่องแพวิทยา ตั้งอยู่ในพื้นที่สูงในช่วงรอยต่อสามจังหวัด เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน ​ใกล้กับพื้นที่สีแดงซึ่งพบการลักลอบปลูกฝิ่นโดยอาศัยทำเลเขาสูงอันเป็นจุดบอดจนยากที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปปราบปราม บริเวณรอบโรงเรียนจึงกลายเป็นจุดเสี่ยงที่อาจดึงเยาวชนให้หลุดออกไปจากระบบการศึกษาไปยังทางที่ผิดได้ง่าย

ปัญหาดังกล่าวทำให้ สยาม เรืองสุกใส ผู้อำนวยการโรงเรียนล่องแพวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน พยายามหาทางแก้ไข​ ดึงเด็กนักเรียนให้กลับเข้ามาสู่รั้วโรงเรียนอันจะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เด็กๆ ต้องเดินออกนอกลู่นอกทาง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อผู้ปกครองส่วนใหญ่ฐานะยากจนไม่มีเงินส่งลูกมาโรงเรียนและต้องการให้เด็กออกมาช่วยงานหารายได้

แต่กว่า 13 ปี ที่ทำงานในหน้าที่ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจจนสามารถดึงเด็กในละแวกใกล้เคียงให้เข้ามาสู่ระบบการศึกษาได้ปีละเกือบ 700 คน

“เด็กที่นี่เกือบ 100% เป็นเด็กยากจนพิเศษ เป็นคนไทยภูเขาเรียนจบป.6 ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เรียนต่อต้องไปช่วยผู้ปกครองทำงาน การขยายโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้คือต้องทำให้ผู้ปกครองเห็นว่า มาเรียนกับเราหนึ่งเขาจะไม่มีเสียค่าใช้จ่ายแม้ปัจจุบันจะได้รับการอุดหนุนค่าใช้จ่ายพื้นฐานแต่ก็มีค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นอีกเราก็ต้องช่วยเหลือตรงนี้ สองเขาจะได้ฝึกอาชีพเรียนจบไปมีงานทำ เป็นแรงจูงใจให้ผู้ปกครองเห็นว่านอกจากได้ความรู้ ยังได้ทักษะอาชีพและมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ ระหว่างเรียนด้วย”​ ผอ.สยาม กล่าว

 

เป้าหมายคือดึงเด็กให้ห่างไกลยาเสพติด

นายสยาม เรืองสุกใส
ผู้อำนวยการโรงเรียนล่องแพวิทยา

ยิ่งภายหลังได้รับการสนับสนุนเงินช่วยจากโครงการเงินอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข หรือ ทุนเสมอภาค จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ทางโรงเรียนสามารถต่อยอดทำโครงการฝึกทักษะอาชีพออกไปได้อีกหลายกลุ่มตามความสนใจของนักเรียน การเกษตร, เบอเกอรี่, ช่าง, กาแฟ, คหกรรม, ขนมไทย, ผักกางมุ้ง, ไก่เนื้อ, ทำบัญชี, ร้านค้าขายปลีก

ดังนั้น นอกจากเงินทุนเสมอภาคที่เด็กจะได้รับโดยตรงแล้ว ในส่วนของโรงเรียนที่นำมาจัดโครงการฝึกทักษะอาชีพ เมื่อเด็กเข้าร่วมในแต่ละโครงการสุดท้ายก็จะมีเงินปันผลกลับมายังเด็ก ได้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นและแบ่งเบาภาระผู้ปกครองได้อย่างดี บางคนก็ตั้งใจจะเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาเรียนต่อในอนาคต

​“ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามดึงเด็กให้กลับมาอยู่ในโรงเรียน ให้ห่างไกลยาเสพย์ติด ไม่ไปมั่วสุมที่อื่น เพราะส่วนใหญ่เด็กจะเป็นเด็กพักนอนที่โรงเรียนเนื่องจากเดินทางลำบาก จากเด็ก 700 คน จะพักอยู่ที่โรงเรียนประมาณ 460 คน ​​ เด็กนักเรียนที่เดินทางไกลสุดจากบ้านมาโรงเรียนคือ​20 กม.  ใช้เวลาเดินทาง 5-6 ชั่วโมง ต้องเดินเท้าอย่างเดียวไม่มีทางรถยนต์ และยังเป็นเขาสูงยิ่งหน้าฝนยิ่งเดินทางลำบาก”

 

กำไร​ไม่ใช่แค่ตัวเงินแต่คือความรู้ด้วย

ทว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้ที่แต่ละโครงการขับเคลื่อนจนเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยทั้งความมุ่งมั่น ทุ่มเท และการทำงานร่วมกันระหว่างทั้งผู้อำนวยการและครูที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจไปสู่เป้าหมายที่เห็นพ้องต้องกัน

“ครู 50 คนจะกระจายไปเป็นที่ปรึกษากลุ่มงานอาชีพต่างๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีโมเดลขับเคลื่อน ทุกคนก็วิ่งตามโมเดลที่กำหนด ให้ที่ปรึกษาทำงานร่วมกับทีมนักเรียนอันถือเป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ โดยการทำงานหนึ่งจะต้องแบ่งความรับผิดชอบว่าใครทำอะไร สองทำตามขั้นตอนและติดตามตรวจสอบเป็นระยะ คอยรายงานความคืบหน้า และสรุปผลปลายเทอม ต้นทุนเท่าไหร่ รายได้เท่าไหร่ หักรายได้ให้เด็กกี่บาทใช้วงจรคุณภาพเป็นตัวขับเคลื่อนไปทั้งระบบ”

ผู้อำนวยการโรงเรียนล่องแพวิทยา อธิบายเพิ่มว่า จะต้องมีการประชุมเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการ หรือบางโครงการก็ใช่ว่าจะไม่ขาดทุน เช่น กลุ่มเลี้ยงไก่ไข่ ที่มีต้นทุนอาหารสูง แต่ก็ต้องทำต่อเพื่อให้เด็กมีทักษะอาชีพ  ดังนั้น กำไรที่ได้ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะต้องได้เป็นตัวเงิน แต่กำไรที่ได้มันคือความรู้ด้วย  บางโครงการเงินอาจจะได้คืนน้อยแต่องค์ความรู้ได้ที่ได้กับไปเยอะ ดังนั้น​ โครงการไหนขาดทุนโรงเรียนก็ต้องเข้าไปอุ้มเพื่อให้เด็กมีเงิน ไม่งั้นเด็กจะรู้สึกว่าทำไมทำแล้วไม่ได้เงิน แต่อีกโครงการทำแล้วได้เงิน

 

คล็ดลับความสำเร็จ
ต้องทำงานเป็นทีม เลิกคิดแบบเดิม

เคล็ดลับความสำเร็จ​คือ หนึ่งต้องการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง  ด้วยการทำงานร่วมกันของผู้บริหาร ครู ​ที่ไม่คิดแบบเดิมๆ ว่าเขาให้เงินมาหนึ่งพันบาทก็ใช้ตามนี้ หมดแล้วเดี๋ยวเขาก็ให้ใหม่​แต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดทำอย่างไรให้เกิดผลกับเด็กมากที่สุด ​แต่ละโรงเรียนก็ต้องไปคิดวิธีการของตัวเอง  สองหากผู้บริหารโรงเรียนคิดแต่จูนทีมไม่ได้ ไม่เห็นเป้าหมายเดียวกันไม่ยอมขับเคลื่อนงานไปข้างหน้าก็ไม่สำเร็จ

“ผมพาครูไปเห็นสภาพบ้านของนักเรียนจริง ๆ ไปเยี่ยมบ้านเด็ก เดินไปบ้านนั้นบ้านนี้ คลุกคลีกับเด็ก ให้เขาเห็นปัญหา ในตัวครูเขามีอุดมการณ์ความเป็นครูอยู่แล้วเราจะจุดไฟในหัวใจเขาก็ต้องพาเขาไปดูสภาพปัญหาจริง ๆ เด็กน่างสงสารจริง เด็กมีปัญหาจริง ๆ จำเป็นต้องผลักดันขับเคลื่อน จากนั้นเราก็เอาโมเดลที่ออกแบบมามาคุยกันว่าจะทำอย่างไรถึงจะเกิดผลขึ้นจริง”​​ผอ.สยาม กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค