กสศ.จับมือองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ถ่ายทอดองค์ความรู้พัฒนาทักษะแรงงานยากจน ด้อยโอกาส โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ปั้นเป็นแรงงานฝีมือ ลดความเหลื่อมล้ำ ครอบคลุมกว่า 6,000 คน ในชุมชน 71 แห่ง กระจายตัวไปใน 42 จังหวัดทั่วประเทศไทย
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ถ่ายทอดความรู้ผ่านหัวข้อ ‘Ready For Business’ โดยนำเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ
มาถ่ายทอดสู่ตัวแทนธุรกิจชุมชนจากทั่วประเทศไทย ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 22-23 ต.ค.ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส เพื่อวางเป้าหมายพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หนุนธุรกิจ SME ในท้องถิ่นให้มีโอกาสเติบโต และส่งเสริมแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
Mr. Charles Bodwell ผู้เชี่ยวชาญพิเศษจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า การจัดการอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญนั้นมีราคาแพงสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ILO จึงได้พัฒนาเครื่องมือ ชื่อว่า ‘Community Based Center Activity Based Traning’ ที่มุ่งเข้าถึงกลุ่มประชากรด้อยโอกาสหรือในชุมชนที่ห่างไกล ให้สามารถเสริมศักยภาพและฝึกอบรมการพัฒนาธุรกิจที่มีต้นทุนต่ำ ภายใต้ข้อจำกัดทางทรัพยากร โดยเน้นให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางและใช้การจัดกิจกรรมเป็นฐาน
“ประเทศไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศที่ ILO เข้ามาช่วยพัฒนา โดยร่วมมือกับ กสศ.
เพื่อนำแบบเครื่องมือสำหรับแรงงานหรือธุรกิจชุมชน ที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง
สามารถฝึกฝนพัฒนากันเองได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอก
ในส่วนของเครื่องมือได้ออกแบบไว้เบื้องต้น 36 แบบ ซึ่งเหมาะสมกับบริบทที่หลากหลาย
รองรับความแตกต่างและข้อจำกัดของชุมชน หรือกลุ่มบุคคลที่เข้าร่วม” Mr. Charles ระบุ
Mr. Charles กล่าวอีกว่า ความท้าทายของการจัดอบรมความรู้เสริมสร้างศักยภาพชุมชน ไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาความคิดใหม่ แต่ต้องคำนึงถึงว่าจะหาทางหลีกหนีความคิดเก่าที่ซ้ำซากอย่างไร การจัดอบรมด้วยวิธีเดิม ๆ ที่ต้องใช้ต้นทุนในการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาพูดให้คนในชุมชนฟังนั้น ต้องใช้ทั้งเงินจ้างวิทยากรและไม่สามารถรับประกันผลสำเร็จที่ตามมาได้ เนื่องจากหลายครั้งความรู้ที่นำมาถ่ายทอดไม่รองรับกับบริบททางสังคมของชุมชน ดังนั้นการจัดอบรมที่ไม่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก และสามารถอบรมบุคคลในชุมชนได้คราวละมาก ๆ อีกทั้งเสียค่าใช้จ่ายจำนวนน้อย จึงเป็นแนวทางที่ทุกชุมชนนำไปปฏิบัติใช้ได้อย่างไร้ข้อจำกัด
โครงสร้างของหลักสูตรความพร้อมสำหรับธุรกิจ แบ่งออกเป็น 6 หัวข้อ ได้แก่
1.การเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ
2.การดำเนินการเกี่ยวกับการตลาดและการขาย
3.การบริหารจัดการธุรกิจ
4.การพุ่งเป้าไปที่การเงิน
5.การเตรียมการสำหรับอนาคต
6.การเรียนรู้ทักษะที่ผสมผสานความสามารถด้านสังคม การสื่อสารด้านอารมณ์
และที่ใช้ในการประกอบอาชีพ (Soft skills) โดยดำเนินตามแผนการพัฒนาส่วนบุคคล 4 ขั้นตอน ได้แก่ การกำหนดวิสัยทัศน์ การตรวจดูข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน การกำหนดยุทธศาสตร์หลัก และ การกำหนดแผนปฏิบัติการ
“เช่นตัวอย่างชุดเครื่องมือที่นำมาใช้ในหัวข้อ ‘การกำหนดวิสัยทัศน์’เครื่องมือชุดนี้เหมาะกับกลุ่มที่มีความคิดเริ่มต้นทางธุรกิจ โดยยังไม่มีแบบแผนและเป้าหมายที่ชัดเจน ดังนั้น เครื่องมือชุดนี้จึงเน้นให้ผู้เข้าอบรมได้ค้นหาเป้าหมาย เป็นแบบที่ได้ทดลองใช้มาแล้วในชุมชนที่ห่างไกลหลายประเทศ และในหลายทวีป ที่แม้จะมีความแตกต่างทางสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม วิถีชีวิต หรือข้อจำกัดทางสังคมใด ๆ ก็ตาม แต่เครื่องมือดังกล่าวก็ได้พิสูจน์ผลสัมฤทธิ์แล้วว่าสามารถช่วยให้ผู้ที่ยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนทางธุรกิจ ค้นพบแนวทางที่ตนอยากดำเนินไปได้” Mr. Charles กล่าว
Mr. Charles Bodwell กล่าวว่า ด้วยเครื่องมือที่ออกแบบให้การอบรมเน้นไปที่กิจกรรมการอภิปราย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกันจากเพื่อนสู่เพื่อน นำไปสู่ความช่วยเหลือและการติดตามผล รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้เกิดการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงการบรรยายถ่ายทอดความรู้ครั้งเดียวจบ อีกทั้งการเรียนรู้และจัดอบรมยังสามารถจัดได้ทุกที่ โดยมีข้อแม้เพียงอย่างเดียวคือต้องมีชุมชนเป็นฐาน และปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละท้องถิ่น ที่ผ่านมาการจัดอบรมรูปแบบนี้เราได้รับผลที่ดีกลับมา สามารถพัฒนาการทำงาน คุณภาพชีวิต สรรค์สร้างวิธีการใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจขนาดเล็ก โดยมีต้นทุนที่ถูกมาก ฉะนั้นจึงเหมาะกับทุกชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เข้าถึงยากที่สุดหรือยากจนที่สุด
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การทำงานของกสศ. เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของการศึกษา ที่มีปัญหาจากความยากจน ความด้อยโอกาส เช่น ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาความพิการ ผู้ที่ถูกคุมขัง ผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ บุคคลเหล่านี้ล้วนอยู่บนพื้นฐานของการขาดโอกาส ใครที่เดือดร้อนมาก เราพยายามที่จะช่วยเหลือให้มาก
สำหรับโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ที่จะดำเนินการโดยครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ กลุ่มที่ไม่ได้รับการศึกษา กลุ่มคนพิการ กลุ่มคนจน กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มผู้สูงอายุ วิสาหกิจชุมชน พ่อแม่วัยรุ่น ชาติพันธุ์ แม่บ้าน เยาวชนและผู้ต้องขัง คาดว่าจะมีผู้ได้รับโอกาสจากโครงการนี้จำนวน 71 แห่งครอบคลุมกว่า 6,000 คน ใน 42 จังหวัดของประเทศไทย โดยการพัฒนาทักษะให้แก่กลุ่มเป้าหมายมี 2 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ
1.การสอนในห้องเรียนควบคู่กับการฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการจริง
2.ความรู้ของโลกสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 21 เช่น การคิด วิเคราะห์ วางแผนกิจการ การยกระดับและพัฒนาความคิดของตนเอง
“ปัจจุบันแรงงานไทยมีจำนวนมากถึง 16 ล้านคน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่แรงงานเหล่านี้จะเป็นแรงงานที่มีฝีมือหรือเป็นแรงงาน 4.0 ทั้งหมดแต่ยังมีแรงงานอีกกลุ่มที่ควรได้รับการยกระดับเป็นพิเศษ เช่น แรงงาน 1.0 (กลุ่มอาชีพเกษตรกรรม) และแรงงานระดับ 2.0 (กลุ่มอาชีพช่าง งานฝีมือ ฯลฯ) ที่ไม่ได้อยู่ในสถานประกอบการ แต่อยู่ในเขตชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งมีความตั้งใจในการขยายโอกาสจำนวนในการช่วยเหลือต่อไป เพราะปัญหาของประเทศมีความยิ่งใหญ่มาก ถ้าสิ่งที่เราทำได้ผลลัพธ์ที่ดี และมีประโยชน์อาจจะมีหน่วยงานอื่นเข้ามาร่วมสนุบสนุนด้วยมากขึ้น” นพ.สุภกรกล่าว
นพ.สุภกร กล่าวว่า ดังนั้นโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส จึงมีความแตกต่างจากโครงการอื่นๆ ด้วยหลักคิดที่สำคัญที่เชื่อมโยงการพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ที่ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแรงงานเหล่านี้ เพื่อสร้างอาชีพในรูปแบบใหม่ ๆ ที่สอดคล้อง และตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ดาวน์โหลด
เอกสารบรรยาย ILO ภาษาอังกฤษ
เอกสารบรรยาย ILO ภาษาไทย
คู่มือความพร้อมสำหรับการทำธุรกิจ การกำหนดวิสัยทัศน์
ติดตามความเคลื่อนไหวที่เพจ
ทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน