“ปรับวิธีคิดให้สามารถจัดการปัญหาตัวเองได้ ค้นหาศักยภาพตัวเองบนฐานทรัพยากรชุมชน และ เข้าถึงโอกาสด้านเงินทุนไปพัฒนายกระดับทักษะอาชีพ โดย กสศ.จะช่วยประสานภาคีเครือข่ายส่งเสริมสนับสนุนตลอดเส้นทางจนหยัดยืนด้วยลำแข้งตัวเอง” นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองกลางดง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาระบบทดลองฯ กล่าวถึงมิติใหม่ในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
มิติใหม่ในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคมของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ “กสศ.” จุดเริ่มต้นต้อง “เปลี่ยนความคิด” ให้มีความเชื่อมั่นกล้าดึง “ศักยภาพภายใน” ตัวเองออกมา โดยนำความรู้ทางวิชาการประสบการณ์ชีวิตผนึกกับความรู้ใหม่จากผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเป็น “พี่เลี้ยง” จัดกระบวนความคิดวิเคราะห์หาทางแก้ปัญหาด้วยตัวเองโดยมี “ชุมชน” เป็นแหล่งเรียนรู้และรวมกลุ่มสร้างพลังบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่ พร้อมกับเข้าถึง “ทุน” พัฒนาทักษะอาชีพมาเป็นเครื่องมือสนับสนุน ในที่สุดผู้ด้อยโอกาสจะสามารถก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคชีวิตของตนเองได้สำเร็จ
นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองกลางดง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอนุกรรมการกำกับทิศทาง โครงการพัฒนาระบบทดลองฯ
นี่คือหลักการทำงานโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่บ่มเพาะ “นักจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีชีวิต” เรียกสั้นๆ ว่า “กระบวนกร” ให้มาทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” กระตุ้นความคิดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ด้อยโอกาสที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้ก้าวข้ามปัญหาโดยไม่แบมือรอรับการช่วยเหลือแบบเดิม
เด็กเร่ร่อน เด็กติดยาเสพติดหรือเด็กที่ถูกกักขังในสถานพินิจเพราะหลงผิดเพียงชั่ววูบ แรงงานนอกระบบ คนตกงาน ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือเกษตรกรฐานะยากจนเข้าไม่ถึงทุนทรัพย์ คือ กลุ่มเป้าหมาย แม้คนเหล่านี้บางส่วนอาจได้รับการดูแลจากภาครัฐ ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือแบบ “สงเคราะห์” ทุ่มงบประมาณและโครงการฝึกอาชีพลงไปช่วยบรรเทาความยากไร้ได้เพียงชั่วคราว เพราะปัญหาลึกๆ ของผู้ด้อยโอกาสไม่ใช่แค่ขาดโอกาสฝึกอาชีพ หรือ เงินทุนเท่านั้น
ทุกโครงการทำได้จริงมี “บันไดผลลัพธ์” ประเมินเข้มข้น
กสศ.เริ่มต้นโครงการฯโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป สถาบันการศึกษาหรือองค์กรชุมชนที่มีจิตสาธารณะไประดมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ด้อยโอกาสเสนอแนวทางการพัฒนาคนและทักษะอาชีพให้ กสศ.พิจารณาสนับสนุน ก่อนลงพื้นที่ไปทำงานจะเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะความคิดเป็น “กระบวนกร” โดยมี “พี่เลี้ยง” จาก กสศ.และภาคีเครือข่ายค่อยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ปัจจุบัน กสศ.ขยายเครือข่ายไปแล้ว 41 จังหวัดมีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนกว่าร้อยโครงการ ทุกโครงการที่ผ่านความเห็นชอบทำได้จริงและมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน มีระบบกลั่นกรอง “บันไดผลลัพธ์” ติดตามตรวจสอบประเมินผลอย่างเข้มข้น
นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ ในฐานะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ กล่าวถึงที่มาของโครงการให้ฟังว่าที่ผ่านมาการให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสของภาครัฐมุ่งเน้นช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์พอโครงการหรืองบประมาณหมดก็จากไป มิได้สานต่อพัฒนาคนเหล่านี้ให้พึ่งตัวเองได้ ส่วนใหญ่จะรอการช่วยเหลือรอบใหม่จากภาครัฐไปเรื่อย ๆ ทาง กสศ.จึงมีแนวคิดใหม่ว่าหากจะช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสแบบยั่งยืน ต้องทำ 2 เรื่อง คือ 1. “กระตุ้นปัญญา” ให้ลุกขึ้นต่อสู้กับปัญหาตัวเองโดยมีการรวมกลุ่มกันภายในชุมชนผ่านการผนวกความรู้ด้านวิชาการจากสถาบันการศึกษากับประสบการณ์จากผู้ด้อยโอกาสเองหรือภูมิปัญญาชุมชนผนึกกับความรู้ใหม่ที่ กสศ.ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายเข้าไปหนุนเสริมโดยยึดชุมชนเป็นฐานการพัฒนา
และ 2.สนับสนุน “ทุน” พัฒนาทักษะอาชีพเป็นรายบุคคลตามศักยภาพตัวเองถนัด หรือจับกลุ่มขอรับทุน อาทิ ช่างตัดผม ช่างปูน ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ ช่างซ่อมโทรศัพท์มือถือ หรือในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ฯลฯ สิ่งที่ย้ำแก่กลุ่มเป้าหมายเสมอ คือ ทุนทักษะอาชีพเป็นเพียง “เครื่องมือ” เป้าหมายสูงสุดของโครงการ คือ “ปรับวิธีคิดให้สามารถจัดการปัญหาตัวเองได้ ค้นหาศักยภาพตัวเองบนฐานทรัพยากรชุมชน และ เข้าถึงโอกาสด้านเงินทุนไปพัฒนายกระดับทักษะอาชีพ โดย กสศ.จะช่วยประสานภาคีเครือข่ายส่งเสริมสนับสนุนตลอดเส้นทางจนหยัดยืนด้วยลำแข้งตัวเอง”
“งบประมาณที่ กสศ.สนับสนุนไม่ได้เยอะมากสู้งบประมาณภาครัฐไม่ได้ แต่สามารถสร้างสิ่งใหม่ ๆ ผ่านการฝึกกระบวนกรให้ฝังตัวอยู่ในพื้นที่นำความรู้ด้านวิชาการจากคนทำงานการศึกษา หรือ ประสบการณ์จากปราชญ์ชาวบ้านที่มีองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือความรู้ใหม่ที่ทาง กสศ.เข้าไปช่วยเสริมให้ผู้ด้อยโอกาสได้ก้าวข้ามปัญหาด้วยตัวเอง” โชคชัย กล่าวถึงหลักการงาน กสศ.
หัวใจกระบวนการฝึก “โค้ช” หรือ “กระบวนกร” คือ ต้องจุดไฟพลังความคิดให้ลุกโชนโดยใช้กิจกรรมตามความชำนาญและสถานการณ์ปัญหาของกลุ่มเป้าหมายหรือตามลักษณะพื้นที่ อาจเป็น เกม คลิป วาดรูป ทายปริศนาคำ หรือการละเล่น ฯลฯ ที่สร้างแรงบันดาลใจ ก่อให้เกิดปฏิกิริยา “ถาม” และ “ตอบ” จุดหัวเชื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือรับฟังความเห็นของกันและกัน ทำให้ผู้ด้อยโอกาสกล้าขุดปมปัญหาออกมาคลี่ให้ “กระบวนกร” เข้าไปช่วยเหลือแก้ไข และ เป็นหัวเชื้อประจุพลังความคิดให้ระเบิดออกมา
โค้ชชิ่ง “กระบวนกร” เน้นทักษะเป็นนักเรียนรู้
กระบวนการ “โค้ชชิ่งทีม” ให้เป็น “กระบวนกร” เป็นกิจกรรมเสริมทักษะชวนคิดโดยใช้กิจกรรมนำร่องให้เกิดการมีส่วนร่วมแบบกระตุ้น ฟัง คิด พูด อ่าน เขียน ปลุกเร้าให้ผู้ด้อยโอกาสกล้าถามและกล้าตอบ ถือเป็นทักษะสำคัญช่วยดึงศักยภาพข้างในให้พรั่งพรูออกมา โดย กสศ.เข้าไปหนุนเสริมผ่านการให้การศึกษา ความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์จากภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นเข้าไปเสริม
“ในการจัดกระบวนการกับกลุ่มเป้าหมาย คนเป็นกระบวนกรต้องขยันตั้งคำถาม เพราะจะช่วยยกระดับการมีส่วนร่วมให้กล้าคิดกล้าแสดงความเห็นช่วยเสริมด้วยทักษะให้กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนรู้ไม่ใช่ฝึกฟังเลคเชอร์ หรือท่องจำเป็นการเรียนรู้แบบเดิมๆ ที่ใช้ไม่ได้อีกแล้ว” นายสมพงษ์ หลีเคราะห์ หนึ่งในทีมพี่เลี้ยง 11 จังหวัดภาคใต้ บอกถึงเทคนิคจุดไฟความคิดให้ลุกติด
ทันทีที่จุดชนวนพลังความคิดระเบิดออก กระสุนไอเดียดีๆ จะพุ่งตามมา เช่น กลุ่มของ นายเทพกร พิทยาภินันท์ แกนนำกลุ่มปัญหาแรงงานตำบลจะรัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ที่มาร่วมฝึกอบรมเสริมทักษะ “กระบวนกร” ต้องไปทำงานกับคนด้อยโอกาสกว่า 150 ชีวิต ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ คนตกงาน ผู้สูงอายุและเกษตรกรยากไร้ พอมาฝึกอบรมได้ไอเดียใหม่ๆ กลับไปทำงาน ความตั้งใจสูงสุด คือ จะไประดมความคิดเพื่อดึง “ศักยภาพชุมชน” ของกลุ่มเป้าหมายให้ระเบิดออกมาให้ได้
นายเทพกร พิทยาภินันท์ แกนนำกลุ่มปัญหาแรงงานตำบลจะรัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
“ระหว่างร่วมกิจกรรมปิ๊งไอเดียขึ้นมาได้ว่าทรัพยากรชุมชนใกล้ตัว เช่น ใบจาก ทำไมไม่นำมาผลิตเป็นสินค้าชุมชน แทนที่จะฝึกอาชีพตามที่หน่วยงานรัฐบอกให้ทำ บอกให้ไปซื้อวัตถุดิบจากต่างถิ่นซึ่งต้นทุนก็สูงในที่สุด ก็ขายไม่ได้เพราะไปก๊อบปี้สินค้าจากท้องถิ่นอื่นที่เขาประสบความสำเร็จแล้ว วันนี้จึงถึงบางอ้อว่า ทำไมเราไม่ดึงศักยภาพชุมชนตัวเองออกมา” เทพกร กล่าวถึงไอเดียดีๆ ที่ได้จากเวทีฝึกอบรม
เช่นเดียวกับ นายจรินทร์ เฉยเชยชม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เห็นพ้องเช่นกันกับ กสศ.ว่า การฝึกอาชีพเป็นเพียงเครื่องเคียง ชาวบ้านต้องคิดให้เป็นก่อนว่า “คุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่นวิถีชาวเล” ยิ่งใหญ่เพียงใด จึงดึงปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งมีภูมิปัญญาดั่งเดิมในการแปรรูปอาหารทะเลแบบโบราณมาเป็นโค้ชในทีมประสานความรู้ระหว่างคนรุ่นใหม่กับรุ่นเก่า เช่น ทำปูจ๋า ปลาอินทรีย์เค็มฝังทราย ปลาหวาน กุ้งแห้ง ฯลฯ ล้วนจากภูมิปัญญาคนรุ่นเก่ามารวมกับความรู้การบรรจุหีบห่อและจำหน่ายทางโซเซียลมิเดียด้วยฝีมือคนรุ่นใหม่ โดยยึด “บันไดผลลัพธ์” ขั้นสุดท้าย คือ ชุมชนเป็นฐานในการทำงาน
นายจรินทร์ เฉยเชยชม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ก้าวถัดไป! เพิ่มเป้า – ขยายผล-ผนึกท้องถิ่นปั้น “กระบวนกร”
เช่นเดียวกับโครงการฝึกอาชีพแก่แม่บ้านโดย นางสาวนพมาศ พรหมศิลป์ วิสาหกิจชุมชนสวนเกษตรอินทรีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานนอกระบบฐานะยากจนและอายุมาก แต่อยากมีรายได้และอาชีพจึงขอฝึกทักษะแปรรูปสินค้าเกษตร กระบวนการคิดที่ “นพมาศ” จะใส่เข้าไปไม่ใช่แค่ของบฝึกอบรมทำขนม หรือ ทำน้ำพริก ตามคำแนะนำหน่วยงานรัฐที่เคยทำโครงการ แต่คือการ “ยกเครื่องความคิดใหม่” ให้กับเครือข่ายชาวบ้าน 50 ชีวิต ให้คิดเป็นว่าหากจะแปรรูปสินค้าเกษตรต้องเป็นผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำจึงจะสู้กับสินค้าชุมชนข้างๆ ได้ เช่น ผลิตภัฑณ์เห็ดแครง กล้วยฉบาบ น้ำผึ้งรวง หรือมะพร้าวสกัดเย็น สินค้าทุกตัวต้องปลูกหรือเลี้ยงเองโดยมีชุมชนเป็นฐานการผลิต และรายได้ทั้งหมดย่อมหมุนเวียนหล่อเลี้ยงคนในชุมชน สำหรับการจัดกระบวนกร ต้องทำให้ชาวบ้านสลัดความคิดเก่าๆ ที่เห็นแก่ตัวออกไป เช่น ถ้าไม่มีค่าเดินทางหรือเบี้ยเลี้ยงจะไม่มาร่วมกิจกรรม หรือเห็นปัญหาส่วนตัวสำคัญกว่าปัญหากลุ่ม ทั้งๆ ที่หากมารวมกลุ่มกันสามารถช่วยเหลือดูแลกันได้ โดยมี “กระบวนกร” และพี่เลี้ยงจาก กสศ.เข้ามาหนุนเสริม
อีกกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ท้าทายที่สุดก็ว่าได้ คือ กลุ่มเด็กติดยาเสพติด ในสถานพินิจ “นายธนิตศักดิ์ อนังคพันธ์” นักวิชาการอบรมฝึกอาชีพชำนาญการ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดนราธิวาส ที่เสียสละก้าวออกจากกำแพงรั้วลวดหนามยกทีมเยาวชนมาทำงานกับ กสศ.เพราะเห็นตรงกันว่า หากจะทำให้เด็กไม่หลงผิดติดยา เข้า ๆ ออก ๆ สถานพินิจฯอีกต่อไป ต้องมีกระบวนการเปลี่ยนความคิด วิธีการบำบัด หรือ กักขัง ในสถานพินิจฯ ทำได้เพียงรั้งตัวและหัวใจไว้ชั่วคราวจนกว่าพวกเขาอายุเกิน 18 ปี หลังจากนั้น “คุก” ของกรมราชทัฑณ์ คือ สถานีถัดไป
นี่คือเห็นผลที่ สถานพินิจฯมาทำงานร่วมกับ กสศ.โดยเน้นให้การศึกษาและเสริมทักษะอาชีพแก่เด็กผ่านการแบ่งกลุ่มฝึกอาชีพ โดยมีกระบวนการติดตามผล “บันไดผลลัทธ์” อย่างใกล้ชิดหลังจบโครงการฯไปแล้ว มีงานทำไม่หวนคืนวงจรยาเสพติดอีก หรือจิตใจเข้มแข็งมากขึ้น เพราะปัญหาของเด็กกลุ่มนี้เกิดจากปัญหาครอบครัวแตกแยกพ่อแม่หย่าร้าง คือ ปมด้อยที่ทำให้เด็กหลงเสพยาแล้วลุกลามไปก่ออาชญากรรม ดังนั้นในช่วง 3 เดือนที่เด็กอยู่ในสถานพินิจฯระหว่างรอขึ้นศาลเยาวชนและครอบครัว ต้อง “ประจุพลังความคิด” ให้เด็กเหล่านี้กลับตัวกลับใจก้าวข้ามภาพลวงตาไปให้ได้ไม่หวนกลับไปเสพยาอีก
จากนี้ไป กสศ.ตั้งใจ “เพิ่มเป้า” และ “ขยายผลความสำเร็จ” ของกลุ่มเป้าหมายที่หลุดพ้นความด้อยโอกาส พร้อมเร่งประสานความร่วมมือกับ “ชุมชนท้องถิ่น” ให้ลึกถึงระดับองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) หรือทุกระดับ เพื่อวางรากฐานการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสโดยมีชุมชนเป็นฐาน นี่คือก้าวต่อไปของโครงการปั้น “กระบวนกร” เพื่อขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมให้เบาบางหรือลดน้อยถอยลงให้มากที่สุด