วิถีปกาเกอะญอ สู่ร้านค้าออนไลน์

วิถีปกาเกอะญอ สู่ ผลิตภัณฑ์ของชุมชน
ผ่านร้านค้าออนไลน์ ของศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า

“ห้องเรียนการทำร้านค้าออนไลน์” ของ ศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า บ้านสบลาน ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เกิดขั้นเพื่อแก้ไขปัญหา “ช่องทางการจัดจำหน่าย” สินค้าพื้นบ้านของคนในชุมชน เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่บนเขาสูงห่างไกล จนเป็นอุปสรรคสำหรับการเดินทาง   

ที่ผ่านมา การจะต้องขนสินค้าเพื่อลงมาขายด้วยตัวเองจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ​หรือแม้แต่มาตรการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ เช่น การจัดนิทรรศการให้ชาวบ้านไปร่วมออกร้าน ก็ยังมีต้นทุนเรื่องค่าเดินทางที่ทำให้เมื่อหักลบกลบหนี้กับค่าใช้จ่ายแล้ว รายได้จากการขายสินค้าก็ไม่พอกับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป

การมีร้านค้าออนไลน์จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับคนในชุมชน ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้คนในหมู่บ้าน ซึ่งเมื่อหมดหน้านาแล้ว ลงไปรับจ้างทำงานนอกพื้นที่ จะได้เปลี่ยนมาอยู่บ้านลองขายของสร้างรายได้ไม่ต้องไปรับจ้างที่อื่น

“คนในชุมชนส่วนใหญ่ คือ คนว่างงาน ทำไร่ปลูกข้าวไว้กินเองบ้าง แต่เวลาจะหาเงินแต่ละครั้ง ต้องลงจากดอยไปรับจ้าง ต้องออกจากพื้นที่ และงานไม่ได้มีตลอด คนที่จะลงไปทำงานได้ก็คือ วัยหนุ่มสาว ทำให้ในหมู่บ้านก็ขาดแรงงาน ขาดคนที่จะทำไร่ทำนา คนที่จะดูแลรักษาป่าก็ขาด คนที่จะช่วยดับไฟป่าก็ขาด แต่ถ้าเราสามารถที่จะสร้างงานในชุมชนได้ ให้เป็นงานที่ดีและรักษาภูมิปัญญาของเขา รักษาวิถีวัฒนธรรมของเขา รักษาสิ่งแวดล้อม มันจะทำให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน” ครูนิด อรพินทุ์ กุศลรุ่งรัตน์ ฉายภาพของโครงการ

ห้องเรียนการทำร้านค้าออนไลน์ เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการสร้างและพัฒนาระบบบริหารจัดการออนไลน์ของศูนย์การเรียนชนเผ่าเพื่อพัฒนาการศึกษาและสร้างอาชีพในชุมชนสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ซี่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​

 

เปิดให้ผู้ขาดโอกาสในชุมชนเลือกเรียนตามความสนใจ

เริ่มต้นจากการเปิดโอกาสให้กับนักเรียนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาในโรงเรียนของรัฐ จำนวน 15 คน และเปิดรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 25 คน และ ผู้ว่างงานในชุมชนอีก 20 คน รวม 60 คนมาร่วมอบรม

หลักสูตรของโครงการจะเริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของชุมชน แนวทางการบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ให้มีความเข้มแข็ง ประกอบการได้จริงในระยะยาว รวมถึงการสร้างแบรนด์

แต่โครงการนี้มีความแตกต่างกับโครงการอื่นที่เปิดกว้างให้ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนสามารถเลือก อบรมในสิ่งที่ตัวเองสนใจ และตามความถนัดได้ โดยไม่จำเป็นต้องอบรมเนื้อหาเหมือนกันทั้งหมด  บางส่วนอาจเรียนการบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ บางส่วนอาจเน้นไปที่เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อนำมาขายในออนไลน์

“เราไม่ได้เน้นว่าคนทุกคนจะต้องฝึกแบบเดียวกันทั้งหมด เพราะแต่ละคนมีความถนัดที่แตกต่างกัน และโครงการนี้ก็มีงานหลากหลายอย่างให้เลือกตามสิ่งที่ตัวเองถนัด”

อย่างกลุ่มเด็กนักเรียน ส่วนใหญ่จะสนใจการบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ และการสื่อสาร ว่าต้องทำอย่างไร หรือ กลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะถนัดเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่มาจากภูมิปัญญาของท้องถิ่น

 

เฟ้นหาคุณค่าภูมิปัญญาในชุมชนเพื่อพัฒนาเป็นสินค้า

“ครูนิด” มองว่า ความยั่งยืนของโครงการนี้จะอยู่ที่กลุ่ม​เด็กๆ ซึ่งจะถูกสร้างให้เป็นผู้ประกอบการสังคมรุ่นใหม่ในพื้นที่ ซึ่งพวกเขาสามารถเฟ้นหาคุณค่าหรือภูมิปัญญาในชุมชน ขยายต่อให้เป็นสินค้าที่จะขาย ในขณะเดียวกันก็เป็นแกนในการเชื่อมโยงความต้องการของผู้บริโภคภายนอก กับผู้ผลิตภายในชุมชนได้  

สำหรับสินค้าที่ชุมชนผลิต และจะถูกนำไปขายในร้านค้าออนไลน์นั้น มาจาก 3 ส่วน คือ ศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า ศูนย์การเรียนมอวาคี จ.เชียงใหม่ และศูนย์การเรียนม่อนแสงดาว จ.เชียงราย

โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะยึดโยงกับวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมตามวิถีของ “ปกาเกอะญอ” ไม่ว่าจะเป็น เสื้อ กระเป๋าย่าม ที่ทำจากผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ  หรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น น้ำผึ้ง หรือ ข้าว รวมถึงของที่ระลึกอย่างโปสการ์ด ปฏิทิน พวงกุญแจ และสมุดบันทึก

โดยทั้งหมดถูกทดลองขาย “ชิมลาง” บนเพจ “JOA IDEE” ก่อนที่จะมีการเปิดร้านค้าออนไลน์จริงในเว็บไซต์ “Joaidee.org” ซึ่งเปิดตัวไปแล้วในวันที่ 18 พฤษภาคม

 

สมุนบันทึกดีไซน์เก๋ สินค้าขายดีถูกใจต่างชาติ

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดของ “โจ๊ะไอดี”  คือ “สมุดบันทึก” ที่มีจุดแข็งในตัวผลิตภัณฑ์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น “ปก” ที่ทำจากผ้าทอมือ ย้อมสีธรรมชาติ “สันสมุด” ทำจากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นดีไซน์ที่แปลกตา ถูกใจลูกค้าโดยเฉพาะชาวต่างชาติอย่างมาก นอกจากนี้เมื่อใช้สมุดหมดเล่มแล้ว ยังสามารถเปลี่ยนกระดาษใหม่เข้าไปได้ ซึ่งถือเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ขณะเดียวกันในสมุดนี้ยังมีปฏิทินฉบับวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ ที่บอกเล่าถึงประเพณีของชนเผ่าในแต่ละช่วงเดือนด้วย

ยังมีอีกหนึ่งสินค้าขายดี คือ “น้ำผึ้งอุ้มป่า” จากธรรมชาติ” ที่มีสรรพคุณทางยาสูงมาก เพราะเป็นน้ำผึ้งจาก “ผึ้งหลวง” ซึ่งเจ้าผึ้งชนิดนี้จะอาศัยอยู่เฉพาะป่าที่บริสุทธิ์ที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น โดยสามารถเก็บได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ช่วงกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 

 

ปลูกฝังความภูมิใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตัวเอง

“ตั้งแต่เริ่มโครงการเราเห็นการเปลี่ยนแปลงของพวกเขา และมีเสียงตอบรับดีทีเดียว เพราะสร้างทั้งการศึกษา และอาชีพ ทั้งกลุ่มจากชุมชนและตัวเด็กๆ เองดูมีความสนใจในเรื่องเหล่านี้กว่าที่ได้ประเมินเอาไว้ อย่างไอเดียของสมุดบันทึกที่เราขาย ก็ได้มาจากการที่เด็กทำสมุดใช้เอง และมีเด็กคนหนึ่งที่เห็นว่าสันแฟ้มแบบรูด คล้ายกับกระบอกไม้ไผ่ จึงนำปล้องไม้ไผ่ขนาดเล็กมาเหลาให้เป็นสันแฟ้ม ซึ่งเราก็เห็นว่าไอเดียดี น่ารักดี จึงช่วยกันพัฒนาต่อมาเป็นสันสมุดบันทึกและทำให้สามารถใช้งานได้จริง ที่สำคัญยังให้พวกเขารักและภาคภูมิใจต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตัวเองมากขึ้น”

ปลายทางของโครงการนี้หวังว่าจะสามารถ “สร้างคน” ที่มีศักยภาพ มีทักษะติดตัว พัฒนาตัวเองจนต่อยอดกับเรื่องอื่นๆ ได้ คู่ขนานไปกับสร้างงาน สร้างรายให้กับคนในชุมชนบนฐานของทรัพยากรที่มีอยู่รอบตัว โดยไม่ต้องกลับไปใช้ชีวิตรับจ้างรายวันนอกพื้นที่อีกต่อไป

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค