ระดมความคิดครูทั่วประเทศ ออกแบบงานวิจัย เติมศักยภาพเด็กนร.ทุนเสมอภาค

ระดมความคิดครูทั่วประเทศ ออกแบบงานวิจัย เติมศักยภาพเด็กนร.ทุนเสมอภาค

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.), ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำโครงการวิจัยเพื่อศึกษาและติดตามพฤติกรรมและความมุ่งมั่นของนักเรียนยากจนพิเศษ หรือนักเรียนทุนเสมอภาค ในมิติของผู้ปกครองและนักเรียน พร้อมระดมความคิดและประสบการณ์ครูอาจารย์จากทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาแนวทางและประสิทธิภาพการมอบเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข มุ่งส่งเสริมทัศนคติที่ดีและชี้ให้เห็นถึงคุณค่าจากการศึกษา หวังลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน

การระดมความคิดครูอาจารย์ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งมอบเงินอุดหนุน นักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข ในโครงการวิจัยเพื่อศึกษาและติดตามพฤติกรรมและความมุ่งมั่นของนักเรียนยากจ นพิเศษ มีวัตถุประสงค์หลัก 4 ข้อ คือ

1.ศึกษาปัจจัยด้านพฤติกรรมของนักเรียนและครอบครัวที่มีผลต่อผลลัพธ์ทางการศึกษาของนักเรียนยากจนพิเศษ โดยใช้กรอบแนวคิดและเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics)

2.ศึกษาติดตามและประเมินผลจากมาตรการเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขของ กสศ.ที่มีผลต่อนักเรียน

3.จัดทำแนวทางเสนอ เพิ่มประสิทธิภาพและมาตรการสำหรับกองทุนเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขต่อความเสมอภาคของนักเรียนยากจนพิเศษ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

4.จัดทำข้อเสนอแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข ต่อความมุ่งมั่นทางการศึกษาของนักเรียนยากจนพิเศษ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จากพื้นฐานความคิดที่ว่าเงินไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการสร้างเด็กนักเรียนยากจน พิเศษกลุ่มนี้ ให้พัฒนาตัวเองจนมีศักยภาพและมีการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น โครงการฯ จึงมีหน้าที่ในการค้นหาปัจจัยและกระบวนการมาช่วยในการจัดสรรเงินทุนของกสศ. ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยทีมงานคณะอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เบื้องต้น หลังจากที่ กสศ. ได้เริ่มจัดสรรเงินอุดหนุนเด็กนักเรียนยากจนพิเศษไปแล้วในหลายแห่งทั่วประเทศ ในขั้นแรก ทางโครงการจึงได้รู้ว่าเด็ก ๆ อันเป็นกลุ่มเป้าหมายอยู่ตรงไหนบ้าง และการมอบเงินอุดหนุนในเบื้องต้นจะช่วยประคองให้เขายังอยู่ในระบบการศึกษา ได้ต่อไปไม่ตกหล่นไปเสียก่อน
แต่การจะผลักดันโครงการให้ดำเนินไปอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นจะต้องสร้างแรงจูงใจทางการศึกษาให้เด็ก
โดยเริ่มจากทำความเข้าใจพื้นฐานครอบครัวของเขา ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือตัวเด็กเอง ซึ่งจะทำให้ได้รู้ว่าการจะส่งเสริมเด็กแต่ละคนให้เขาเดินต่อไปได้ถูกจุดต้องทำอย่างไร

วัตถุประสงค์หลักของงานวิจัยคือ นอกจากมอบเงินอุดหนุนแล้ว เราต้องใช้ปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาส่งเสริมให้เด็กเห็นความสำคัญของการศึกษา มองไปถึงภาพความสำเร็จในอนาคต ทำให้เขามีความมุ่งมั่นที่จะเรียน
มีความคาดหวัง อดทน และพร้อมทุ่มเทพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาว ซึ่งนั่นจะช่วยเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตเขาได้อย่างแท้จริง

รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ หัวหน้าโครงการ ฯ กล่าวต่อไปว่า มีกรณีศึกษาในหลายพื้นที่พบว่า ในกรอบสังคมที่เด็กมีการรับรู้เพียงแค่สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเขา เช่นในชุมชนที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ประสบปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน
ประกอบอาชีพรับจ้างเล็กน้อย ๆ เป็นหลัก เด็ก ๆ ที่เติบโตขึ้นมาก็จะมีความคาดหวังต่ออาชีพในอนาคตเท่าที่เขามองเห็น เขาจะมองถึงหนทางหาเลี้ยงชีพเพียงแค่งานรับจ้างรายวัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือเปิดโลกการมองเห็นให้เขา ว่าในระดับสังคมที่กว้างขึ้นนั้นยังมีอาชีพหรือช่องทางเดินอื่น ๆ ในชีวิตอีกมากมาย

“ข้อจำกัดที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถมองเห็นอนาคตทางการศึกษา คือหลักจิตวิทยาที่ว่า ถ้าเขาออกจากโรงเรียนมาทำงาน เขาจะได้ค่าตอบแทนจากการทำงานทันที แต่การลงทุนด้วยเวลาและความพยายามเรียนในระดับที่สูงต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เป็นสิ่งที่ยังมองไม่เห็นผลลัพธ์ในระยะสั้น มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องศึกษาพื้นฐานครอบครัวของเด็กแต่ละคน
ว่าผู้คนในสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ และที่สำคัญคือผู้ปกครองของเด็ก ให้ความสำคัญกับการศึกษาแค่ไหน เรื่องนี้เป็นขั้นตอนแรกที่เราต้องทำความเข้าใจ ยิ่งลงลึกได้มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งออกแบบวิธีการที่อาจไม่ต้องใช้เงินมากในการทำให้เขาอยู่ในระบบการศึกษาต่อไป จนสามารถสัมฤทธิ์ผลในการยกระดับครอบครัวด้วยการศึกษา” รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ กล่าว

ผศ.ดร.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู จากคณะเศรษฐศาสตร์ Universidad de Carlos III

ทางด้าน ผศ.ดร.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู จากคณะเศรษฐศาสตร์ Universidad de Carlos III หนึ่งในคณะผู้วิจัยร่วมในโครงการ ระบุว่า งานวิจัยลักษณะนี้นับว่าค่อนข้างใหม่ ยังมีฐานข้อมูลน้อย โดยเฉพาะการจะมองไปที่ปัจจัยอื่นนอกจากเงินทุนเพื่อส่งเสริมให้เด็กมีความมุ่งมั่นทางการศึกษา ไม่สามารถทำโดยไม่มีข้อมูลพื้นฐานได้ ดังนั้นการระดมความรู้และประสบการณ์จากครูอาจารย์ผู้ลงพื้นที่สำรวจและจัดสรร
เงินอุดหนุนในขั้นตอนสุดท้ายก่อนถึงมือเด็ก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้เห็นข้อจำกัดในตัวเด็กแต่ละคน
อันจะนำไปสู่การจัดสรรเงินอุดหนุนหรือสร้างรูปแบบที่เหมาะสมในการปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาในตัวเด็ก

โครงการวิจัยเพื่อศึกษาและติดตามพฤติกรรมและความมุ่งมั่นของนักเรียนยากจนพิเศษ ใช้วิธีการศึกษาที่มุ่งสำรวจความมุ่งมั่นและความคาดหวังทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ โดยวัดจากลักษณะสำคัญเชิงเศรษฐศาสตร์และพฤติกรรม โดยกลุ่มเป้าหมายของการสำรวจ จะมีกลุ่มตัวอย่างนักเรียน 50, 000 คน และผู้ปกครอง 12, 000 คน จากครอบครัว 3 สถานะ คือ สถานะปานกลาง สถานะยากจน และสถานะยากจนพิเศษ ในจังหวัด เชียงใหม่ ขอนแก่น นครปฐม นนทบุรี ชลบุรี นครศรีธรรมราช ลำปาง อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี

โดยแบบสอบถามจะเก็บข้อมูลปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อความสำเร็จทางการศึกษา ทั้งของนักเรียนเอง บุคคลที่เกี่ยวข้อง และมีอิทธิพลในการตัดสินใจด้านการศึกษาของเด็ก เพื่อเก็บความคิดด้านความมุ่งมั่นและคาดหวังกับการเรียนและการประกอบอาชีพ รวมทั้งมุมมองด้านข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ เช่น การจัดสรรค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การจัดสรรเวลากับการเรียน และการมีส่วนร่วมในการเรียนของผู้ปกครอง ทั้งลงลึกไปถึงบทบาทของกลุ่มเพื่อนในโรงเรียนอันเป็นสังคมที่เด็กมีความใกล้ชิด และมีส่วนกำหนดการตัดสินใจของเด็กในระดับสูง

โดยในแบบสอบถามจะมีการสำรวจโดยตรงไปยังความคาดหวังส่วนบุคคลต่อเงินค่าตอบแทนจากการเรียนในแต่ละระดับ ทั้งจากเด็กและผู้ปกครอง การตัดสินใจในการเลือกใช้จ่าย การเลือกใช้เวลาของบุคคลในแต่ละบทบาทและสถานการณ์ รวมถึงทัศนคติด้านการมองบทบาทของปัจจัยภายนอกและภายในตนเอง (Locus Of Control) ต่อผลลัพธ์ทางการศึกษา ซึ่งจะช่วยสะท้อนให้เห็นทัศนคติด้านความเชื่อมั่นในความอดทน ความพยายาม หรือความตั้งใจของเด็กและผู้ปกครอง

“แบบสำรวจดังกล่าว จะทำให้เราได้ข้อมูลพื้นฐานที่จะสะท้อนว่าเด็กและผู้ปกครองในสถานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน อยู่ในพื้นที่ต่างกัน มีบริบทเฉพาะครอบครัวที่ต่างกัน เขาจะมีเป้าหมายตั้งต้นต่อการศึกษาในระดับไหน มองเห็นตัวเองจะประกอบอาชีพใด คาดหวังผลตอบแทนจากการทำงานเท่าไหร่ ซึ่งในเบื้องต้นเราอยากได้ความรู้จากครูผู้ผ่านประสบการณ์ลงพื้นที่ เพื่อชี้ให้เห็นข้อจำกัดในการทำงาน และเสนอแนะเพิ่มเติมในส่วนที่จะทำให้แบบสำรวจสามารถเก็บข้อมูลได้ครอบคลุม หลายมิติ” ผศ.ดร.เนื้อแพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางโครงการจะนำข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้เองไปเป็นโจทย์ตั้งต้น ในการออกแบบกระบวนการเสริมสร้างทัศนคติให้เขามองเห็นผลสัมฤทธิ์ที่จะได้รับจากการศึกษา อีกทั้งเมื่อเรารู้แล้วว่ากลไกของพฤติกรรมและความมุ่งมั่นของเด็กมาจากไหน แตกต่างกันอย่างไร เมื่อนั้นโอกาสที่เราจะเก็บเด็กให้อยู่ในการศึกษาไปได้จนถึงระดับสูงก็จะได้ผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น นั่นเพราะเราเชื่อว่าการศึกษาคือกุญแจดอกสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ดีที่สุด