ขวดพลาสติกบรรจุ “น้ำสี” ไล่เรียงปริมาณตั้งแต่ติดก้นขวดเล็กน้อย ไปจนถึงเต็มขวด จำนวน 10 ใบ ถูกนำมาจัดวางอยู่หน้าชั้นเรียน เพื่อเป็นอุปกรณ์การประเมินผลให้คะแนนนักเรียน ของโรงเรียนวัดกู่คำ(เมธาวิสัยคณาทร) อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นของตัวเอง
ที่สำคัญ “นักเรียน” จะเป็นคนให้คะแนนตัวเองไม่ใช่คุณครูเหมือนที่อื่น
โดยในช่วงสุดท้ายหลังเสร็จกิจกรรมในชั้นเรียนนวัตกรรม เด็กแต่ละคนจะไปยืนอยู่หน้า “ขวด” ที่คิดว่าสะท้อนคะแนนตัวเองที่จะได้รับ เช่น เด็กที่คิดว่าตัวเองควรจะได้คะแนนเต็ม 10 ก็จะไปยืนอยู่หน้าขวดที่บรรจุน้ำสีเต็มขวด ส่วนคนที่คิดว่าตัวเองควรจะได้ 5 คะแนนก็จะไปยืนอยู่หน้าขวดที่บรรจุน้ำสีครึ่งขวด
จากนั้นคุณครูจะเปิดให้เด็กๆ ได้สะท้อน เหตุผลของพวกเขาว่าทำไมตัวเขาเองถึงควรได้คะแนนเท่านั้น เท่านี้ก่อนจะเปิดให้มีการประเมินกลุ่มให้เพื่อนๆ ช่วยให้ความเห็น และปิดท้ายด้วยคุณครูที่จะช่วยสรุปผลคะแนนและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์
ทั้งหมดนี้ถือเป็นการประยุกต์ใช้เทคนิคการประเมินตัวเองซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการเรียนการสอนของ OECD ซึ่งปัจจุบัน มี 75 โรงเรียนในโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กำลังใช้รูปแบบการเรียนการสอนลักษณะนี้
การประเมินตัวเองมีคุณค่ากว่าคะแนนที่เป็นนามธรรม
รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ หนึ่งในเครือข่ายร่วมพัฒนาโรงเรียน TSQP และผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม อธิบายให้ฟังว่า ตามปรัชญาการศึกษาที่ถูกต้องควรจะมีการประเมินตัวเอง แต่ที่ผ่านมาระบบการศึกษาไทยไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งเหล่านี้ เพราะเห็นว่าเป็นนามธรรม จนถูกมองข้ามไป ทั้งที่สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์และมีคุณค่ากว่าการประเมินที่เป็นคะแนนตัวเลขที่เป็นนามธรรม
“ธรรมชาติของมนุษย์ มักจะเอาง่ายเข้าว่ามองเห็นอะไรที่ชัดเจน ไม่ต้องตีความ แต่การที่เราจะพัฒนามนุษย์สักคนหนึ่งซึ่งมนุษย์มีชีวิตจิตใจไม่สามารถใช้การประเมินแบบเป็นตัวเลขที่เป็นเกณฑ์เดียวมาตัดสิน เหมือนที่คนชอบล้อเลียนกันว่าจะวัดทักษะของปลาโดยให้ปลาปีนต้นไม้เหมือนลิง ซึ่งสะท้อนระบบการวัดผล”
สำหรับการประเมินตัวเองมี 3 คุณลักษณะคือ
- Formative Assessment การประเมินผลเพื่อให้เกิดการพัฒนา เพราะการประเมินตัวเองของผู้เรียนจะทำให้ได้มาทบทวนตัวเองว่าสิ่งที่ได้ทำไปนั้น ดีตรงไหน ไม่ดีตรงไหน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่การที่เราจะรู้ว่าต้องแก้ไขปรับปรุงตรงไหน หรือทำให้เราได้รู้ว่าตัวเองถนัดตรงไหน และนำไปสู่การพัฒนาตรงจุดนั้น ทั้งหมดเป็นการนำไปสู่การพัฒนาตัวเอง
- Authentic Assessment การประเมินตามสภาพจริง ไม่ได้ดูแค่สิ่งที่เคลือบแฝงหรือเกิดขึ้นเฉพาะกาลในเวลานั้น เช่น ในการทำข้อสอบมีการติวหนึ่งคืนก่อนก็ทำได้ แต่คำถามคือ ครบตามวัตถุประสงค์ พฤติกรรมที่เราคาดหวังให้เด็กได้ไหม โดยเฉพาะทักษะเชิง จิตพิสัย พุทธพิสัย เจตคติ ซึ่งทำไม่ได้ ทั้งที่เราคาดหวังว่าการทำกิจกรรมของเขาจะต้องมีสิ่งที่พึงได้ระหว่างทาง แต่เราไม่รู้จะวัดผลอย่างไร แต่การประเมินตัวเองจึงช่วยได้เพราะเขาจะสะท้อนให้เราฟังในมุมที่เราอาจไม่ทันได้เห็นเขา เป็นการสะท้อนตัวเองซึ่งครูที่มีประสบการณ์จะรู้ว่าเขาพูดจริง ไม่จริง และมีเพื่อนๆ เป็นพยาน
- Curriculum Embedded Assessment คือ การประเมินเป็นกิจกรรมหนึ่งของการพัฒนาและการเติบโตของนักเรียน ยกตัวอย่างเช่นเขาจะต้องพูดถึงสิ่งที่เขาได้รับทั้งในแง่องค์ความรู้ สาระวิชาการ และพฤติกรรมที่เขากระทำระหว่างเรียน การทบทวนสิ่งเหล่านี้คือการตกผลึกความรู้ บางครั้งถ้าเราไม่ได้มาตกผลึก หรือพูดคุยกันสิ่งที่ควรจะได้ก็จะหายไป แต่ถ้ามีการตกผลึกด้วยบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ พูดคุยแลกเปลี่ยน หักล้างก็จะทำให้เขาเข้าใจเนื้อหาที่ลึกลงไปเรื่อยๆ
การประเมินตัวเองพระเอกของ Active Learning
ดังนั้น ทั้งสามประการจะทำให้มองได้ว่าการประเมินตัวเอง หรือ Self-Assessment จะเป็นพระเอกของการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งมีออกมาในรูปวาทกรรมใหม่ เช่น Reflection, After Action Review (AAR), Crystalize, ชวนแชร์ ซึ่งทั้งหมดก็คือการประเมินตัวเอง
รศ.ดร.ธันยวิช กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการทำงานด้านการศึกษาของ OECD ที่ทำมากว่า 20 ปี ซึ่งเน้นเรื่องที่ทำน้อยแต่ได้ผลมาก ในปีแรกเขาเน้นไปที่เรื่องของการประเมินตัวเองเพราะเชื่อว่าจะส่งผลไปถึงทุกเรื่อง คล้ายเป็นการลองผิดลองถูกในช่วง 2 ปีแรก ที่จะเห็นว่าการเรียนรู้แบบดั้งเดิม การเรียนรู้โดยใช้วิธีการบบรรยาย หรือ แบบพาสซีพ เด็กจะไม่ได้แสดงพฤติกรรมที่แท้จริงออกมา อย่าว่าแต่ครูจะมองเห็นแล้วประเมินได้ แม้แต่เด็กเองเขาก็ไม่รู้ว่าตัวเขาเองเป็นแบบไหน ต่อมา OECD จึง ทำเรื่องการเรียนรู้ที่เป็นแอคทีฟ เลิร์นนิ่ง
ทั้งนี้ หากยังจัดการเรียนแบบ lecture base, passive learning, traditional ซี่งเป็น fixed mindset ไม่ใช่ Growth mindset ไม่มีทางที่จะเห็นพฤติกรรมของผู้เรียนที่แท้จริง ทำให้เราไม่สามารถจะประเมินแบบ Formative Assessment, Authentic Assessment, Curriculum Embedded Assessmentได้
ผลลัพธ์ที่ได้คือพัฒนาการของผู้เรียนในเชิงคุณภาพ
สำหรับรูปแบบ “ขวดน้ำ” ที่โรงเรียนวัดกู่คำ(เมธาวิสัยคณาทร) ใช้เป็นรูปแบบหนี่งของการประเมินตัวเองของผู้เรียน เป็นหนึ่งรูปแบบที่แต่ละโรงเรียนจะไปคิดต่อเองจากแนวคิดเรื่องการประเมินตัวเองของ OECD ว่าจะทำให้มีรูปแบบกิจกรรมอย่างไรให้เกิดสีสัน ความสบายใจ เกิดการเปิดใจ ซึ่งมีวิธีมากมาย
บางการประเมินจะเป็นแบบ Linear เช่นมีคำถามว่าเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ไม่แน่ใจ ให้เด็กเลือกแบ่งพื้นที่หน้าห้อง กลางห้อง หลังห้อง หากเด็กรู้สึกอย่างไรก็ให้เดินไปอยู่จุดนั้นข้อดีคือไม่ต้องคิดมาก เด็กมีปฏิกริยาอย่างไรก็ทราบผลได้ทันที หรือแบบ Spidergram ให้ผู้เรียนประเมินตัวเองในแต่ละแกนหัวข้อการประเมินว่าตัวเองอยู่ระดับไหน จากนั้นจะให้รวมกลุ่มและนำกราฟใยแมงมุมที่ได้มาแปะรวมกันเพื่อให้เพื่อนในกลุ่มช่วยสะท้อนการประเมินตัวเองของเพื่อนที่จะได้เปรียบเทียบมุมมองของแต่ละคน ซึ่ง 75 โรงเรียนอาจจะมี 75 วิธีในการประเมินก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องของแก่นที่เป็นเรื่องของกระบวนการที่ครูจะต้องสืบค้นให้เด็กได้พูด ได้คิด ได้วิเคราะห์ ออกมา
รศ.ดร.ธันยวิช กล่าวว่า รูปแบบการประเมินตัวเองไม่มีอะไรตายตัวอยู่ที่การออกแบบ แต่องค์ประกอบคือจะต้องมีการประเมินตัวเอง ให้เพื่อนได้ร่วมประเมิน และครูจะเป็นคนประเมินให้ความเห็นข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งที่ประเมินออกมาได้ไม่ใช่แค่คะแนนที่เป็นตัวเลข แต่เป็นพัฒนาการของผู้เรียนในเชิงคุณภาพ
“ผลลัพธ์ที่ได้อาจเป็นคะแนนตัวเลขแต่ก็ไม่ใช่คะแนนที่จะไปตัดสินความดี ความชั่ว ความเก่ง ความอ่อนของผู้เรียน แต่เป็นไปเพื่อดูพัฒนาการของแต่ละทักษะว่ามีขึ้นมีลงอย่างไร ในอนาคตจะมีหลักสูตรเป็นฐานสมรรถนะคือไม่ได้สอบวัดผลแต่จะเป็นการวัดว่าทำได้ไม่ได้ เหมือนสอบเลื่อนขั้นของเทควันโดจากสายเหลืองไปจนถึงสายดำ ที่จะต้องแสดงความสามารถที่แท้จริงออกมา การประมินแบบนี้จะเข้ามามีบทบาทในการเรียนรู้ แบบฐานสมรรถนะมากขึ้น” รศ.ดร.ธันยวิช กล่าว
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค