กก ผือ ภูมิปัญญาสร้างรายได้เลี้ยงชุมชน

กก ผือ ภูมิปัญญาสร้างรายได้เลี้ยงชุมชน

ต่อยอดอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ “กก -ผือ”
ภูมิปัญญาสร้างรายได้เลี้ยงชุมชน

“กก” และ “ผือ” ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของ จ.บึงกาฬ ซึ่งพบได้ตามธรรมชาติทั่วไปในพื้นที่ โดยที่ผ่านมาชาวบ้านมักจะนำกกและผือมาสานเป็นเสื่อเพื่อใช้ในครัวเรือนและออกวางจำหน่ายเพื่อหารายได้เสริม แต่ระยะหลังภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบสานกันมายาวนานกำลังจะเริ่มเลือนหายไป

นำมาสู่ความพยายามที่จะอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่และเป็นอีกหนทางช่วยสร้างรายได้ให้กับสังคมในวันที่เศรษฐกิจเริ่มฝืดเคือง รวมทั้งสร้างโอกาสให้กับกลุ่มผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่

จนเกิดเป็นโครงการพัฒนาอาชีพผลิตภัณฑ์จากกกและผือพื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง จ.บึงกาฬ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 74 โครงการ ในโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือ ทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ของ กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)​​

 

รายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

นางรัศมี อืดผา ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าย้อนให้ฟังถึงที่มาของโครงการว่า  จากเดิมที่คนในพื้นที่นำกกและผือมาทอเสื่อใช้ในครัวเรือน เราก็พยายามจะทำให้เป็นอาชีพเสริมสำหรับแรงงานด้อยโอกาสด้วยการนำกก และ ผือ มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งกระเป๋า หมวก ที่ใส่กระดาษทิชชู ที่ใส่โทรศัพท์มือถือ ไดอารี อีกด้านก็พยายามคงอัตลักษณ์ของชุมชนเอาไว้ด้วย

 “ปกติหากเรานำกกมาทอเป็นเสื่อปกติก็จะขายผืนละ 100 บาท หรือหากทอแบบมีลวดลายหมี่ขิดก็อาจจะตกผืนละ 200-400 บาท แต่หากเราฝึกทักษะ ฝึกฝีมือให้มีความละเอียดประณีตมากขึ้น พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่นกระเป๋าก็จะสามารถขายได้ถึง 1,000-2,000 บาท”

 

แบ่งงานกันตามความถนัด ​

ปัจจุบันผู้ด้อยโอกาสที่เข้าร่วมโครงการมีประมาณ 50 กว่าคน มีทั้งผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส แรงงานนอกระบบ คนว่างงาน ​ซึ่งแต่ละคนมีพื้นฐานการทอเสื่อเป็นอยู่แล้ว ก็นำมาฝึกทักษะเพิ่มเติมคัดกรองดูว่าแต่ละคนถนัดกระบวนการไหนในการผลิต บางคนถนัดออกแบบ บางคนถนัดประกอบ บางคนถนัดเย็บ สอย ก็จะแบ่งกันไปทำตามความถนัดของแต่ละคน

 สินค้าที่ผลิตออกมาก็จะนำไปวางจำหน่ายในพื้นที่ มีการประชาสัมพันธ์ซึ่งคนเริ่มให้ความสนใจสินค้าท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งเมื่อเริ่มต้นทำได้แล้วก็จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ออกแบบใหม่ให้มีความหลากหลายมากขึ้น และสอดรับกับความต้องการของลูกค้า ​ซึ่งลายที่กำลังได้รับความนิยมคือหลายขันหมากเบ็งที่เป็นลายประจำจังหวัดบึงกาฬที่เอาไว้ทอผ้าก็ดัดแปลงมาทำเป็นเสื่อกก

 

ผู้ด้อยโอกาสมีรายได้ เลี้ยงตัวเอง

นางรัศมี อธิบายเพิ่มว่า จากโครงการนี้จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ผู้ด้อยโอกาสมีงานทำ มีรายได้ บางคนเคยทำเกษตร กรีดยาง ทำนา แต่ปัจจุบันไม่มีงานทำ หรือบางคนไม่มีอาชีพก็สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว อีกด้านก็พยายามสอนให้ปลูกกกเพิ่มเพื่อจะได้นำมาขายให้กับกลุ่มเมื่อต้องทำผลิตภัณฑ์จำนวนมาก เพราะปัจจุบันยางก็ราคาตก ตรงนี้จะได้เป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

 “จากที่เริ่มโครงการมาเราเห็นถึงความตั้งใจของกลุ่มเป้าหมาย จากที่เราเคยไปฝึกบรมที่อื่นบางที่เขาก็อยากรีบจบรีบเลิก แต่ที่นี่มีความตั้งใจสูงมากฝึกถึง 6 โมง ทุ่มหนึ่ง อบรมเสร็จก็ขอเอางานกลับไปทำต่อที่บ้าน เราเห็นก็ภูมิใจที่เห็นเขาสนใจ ตั้งใจทำ เชื่อว่าจะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายช่วยกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่สามารถมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้” นางรัศมีกล่าว