นักเรียนทุน กสศ.ขอบคุณนายกฯ รัฐบาล และทุกภาคส่วน ให้โอกาส สานฝันเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่น แม้ลำบากไม่หวั่น ขอพัฒนาบ้านเกิด ก่อนมอบภาพวาดสีน้ำและปลากือเลาะห์ ของหายากและขึ้นชื่อ อ.ศรีสาคร เป็นที่ระลึก เด็กๆ หวังอยากให้นายกฯ กลับมานราธิวาสอีก
ด้านกสศ.เดินหน้าช่วยเด็กๆ ด้อยโอกาสใน 3 จังหวัดมากกว่า 53,000 คน
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แวะกล่าวทักทายเด็กนักเรียนโครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือนักเรียนทุนเสมอภาค จากโรงเรียนบ้านคอลอกาเว อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส และนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่มารอต้อนรับ
โดยมีนายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวรายงานสถานการณ์การช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ว่า กสศ.ดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส ในพื้นที่3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ผ่านโครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข โดยมีนักเรียนจาก 3 จังหวัด ได้รับทุนเสมอภาค จำนวน 53,763 คน จาก 937 โรงเรียน จำแนกเป็น จังหวัดนราธิวาส 23,783 คน จังหวัดปัตตานี 14,148 คน จังหวัดยะลา 15,832 คน
“ เด็กๆ จะได้รับเงินอุดหนุน 3,000 บาทต่อคนต่อปีการศึกษา เพื่อบรรเทาอุปสรรคในการมาเรียน เช่น เป็นค่าอาหารเช้าสำหรับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาและค่าอาหารเช้า/อาหารกลางวันสำหรับชั้นมัธยมศึกษา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเรียน ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพระหว่างเรียน รวมถึงเพื่อเป็นค่ากิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ โดยข้อมูล ระบบ iSEE ของกสศ. พบว่า เด็กกลุ่มนี้ อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคน/เดือน 957 บาท หรือราว 32 บาทต่อวัน เท่านั้น”
นายสุภกร กล่าวว่า ความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัด ยังรวมไปถึงการแก้ปัญหาครู ไม่ครบชั้นและโยกย้ายบ่อย ผ่านโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่กสศ.ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ช่วยสร้างโอกาสให้นักเรียนช้างเผือกในพื้นที่ห่างไกล ที่มีใจรักในวิชาชีพครู และมีศักยภาพในการเรียนรู้ ได้เรียนครูจนจบปริญญาตรีอย่างมีคุณภาพ และได้รับการบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนขนาดเล็กพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นบ้านเกิดของตนเอง โดยในพื้นที่ 3 จังหวัด กสศ.ทำงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาในการเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่ ในปี 2563 มีนักเรียนชั้น ม.6 ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และยะลา ได้รับทุนจำนวน 19 คน หลังสำเร็จการศึกษาจะบรรจุในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กของ สพฐ. ทั้ง 2 จังหวัด จำนวน 16 แห่ง
ทั้งนี้ โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มีพื้นที่ดำเนินงานจำนวน 282 โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล สังกัดสพฐ. รวม 45 จังหวัด ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยผลิตครูจำนวน 5 รุ่น รวมทั้งสิ้น 1,500 คน
(กลาง) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเด็กนักเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลเอกประยุทธ์ ใช้เวลาสั้นๆ พบปะนักเรียน และให้กำลังใจว่าให้ตั้งใจเรียนเป็นคนดีของสังคม จากนั้น ตัวแทนนักเรียนทุนเสมอภาคได้มอบของที่ระลึกเป็นปูนปั้น ‘ปลากือเลาะห์’ และภาพเขียนสีน้ำจากฝีมือเด็กๆ นักเรียนทุนเสมอภาคที่ช่วยกันวาดขึ้นเพื่อแสดงความขอบคุณสำหรับโอกาสทางการศึกษาที่ได้รับ ก่อนจะถ่ายภาพร่วมกัน
ด.ญ.วารัส สาแมง นักเรียนชั้น ป.5/2 นักเรียนทุนเสมอภาค โรงเรียนบ้านคอลอกาเว กล่าวว่า ของที่ระลึกที่นำมามอบให้กับท่านนายกฯเป็นเสมือนคำขอบคุณจากใจเด็กทุนเสมอภาคทุกคน ที่รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย มองเห็นความสำคัญของการศึกษา และได้มอบทุนการศึกษาช่วยสนับสนุนให้เด็กๆ ที่มาจากครอบครัวยากจนได้เรียนหนังสือเหมือนกับเด็กคนอื่น สำหรับของขวัญที่นำมามอบให้ คือปูนปั้นปลากือเลาะห์ หรือ ปลาพลวงชมพู ซึ่งเป็นปลาประจำอำเภอศรีสาคร ได้รับสมญาว่าเป็นราชาแห่งแม่น้ำสายบุรี และหายากที่สุด และอีกชิ้นเป็นภาพวาดสีน้ำ แสดงถึงธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของอำเภอศรีสาคร จากฝีมือเด็กๆ กลุ่มฝึกทักษะอาชีพ ที่ช่วยกันวาดขึ้นเพื่อตั้งใจนำมามอบให้กับนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะ ทั้งนี้นอกจากแทนคำขอบคุณแล้ว เด็กๆ หวังว่านายกรัฐมนตรีจะได้เดินทางกลับมาที่จังหวัดนราธิวาสอีกครั้ง
ด.ญ.สีตีนูรูลอาดีลลาท์ บินอูมา นักเรียนชั้น ม.2/2 โรงเรียนบ้านคอลอกาเว กล่าวว่า ก่อนจะได้รับทุนการศึกษาจาก กสศ. ต้องมาเรียนบ้าง หยุดเรียนบ้าง เพราะไม่มีเงิน แต่พอได้รับทุนของกสศ. ได้ช่วยลดภาระในครอบครัวทำให้ชีวิตดีขึ้น และทำให้มาโรงเรียนได้ทุกวัน ส่วนตัวเป็นคนชอบเรียนหนังสือ อยากเรียนจบชั้นสูงๆ ก็หวังว่าจะมีโอกาสได้ทำตามฝันที่อยากเป็นครูมาสอนในพื้นที่บ้านเกิด
น.ส.นิยดา จรัสวงษ์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสุคิรินวิทยา จ.นราธิวาส ผู้ผ่านการคัดเลือกในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กล่าวว่า หากเรียนจบตั้งใจจะกลับบ้านมาพัฒนาอำเภอสุคิริน ในจังหวัดนราธิวาส ที่วันนี้แม้เป็นพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนบุคลากร หรือไม่มีความสะดวกสบายหลายด้าน หนูก็ไม่หวั่น ความหวังของหนู คือการได้กลับมาพัฒนาน้องๆ หรือคนรุ่นต่อไปให้เขามีความรู้ที่มากขึ้น ซึ่งโครงการนี้จะช่วยสานฝันการเป็นครูให้สำเร็จได้จริง หากไม่มีโครงการนี้ก็คงหมดโอกาสที่จะได้เป็นครูกลับมาพัฒนาท้องถิ่นอย่างแน่นอน
น.ส.สุธิดา ทองราช นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ จ.ยะลา ผู้ผ่านการคัดเลือกในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น กล่าวว่า ความตั้งใจของการเป็นครูรักษ์ถิ่น คือจะกลับมาพัฒนาชุมชน โดยตนมองว่าจะกลับไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น คือสะพานข้ามทะเลสาบป่าฮาลา-บาลา โดยสร้างอาชีพให้เด็ก ๆ เป็นมัคคุเทศน์นำเที่ยว เกิดแหล่งรายได้สำหรับคนในชุมชน ส่วนสินค้าโอทอปจะเป็นพวกปลา ทั้งปลาส้มหรือปลากระโดด ซึ่งมีอยู่มากในทะเลสาบ
ครูสุนิดา อุมา ครูโรงเรียนบ้านคอลอกาเว กล่าวว่า ขอบคุณที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของนักเรียนยากจนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เพราะมีจำนวนมาก ซึ่งเด็กยากจนพิเศษหรือนักเรียนทุนเสมอภาคของ กสศ. ที่โรงเรียนมีประมาณ 333 คน จากจำนวนนักเรียนประมาณ 1,200 คน ส่วนใหญ่มีฐานลำบากยากจน อีกทั้งที่ผ่านมาโรงเรียนแทบไม่เคยได้รับโอกาสดีๆ เช่นนี้ เนื่องจากโรงเรียนอยู่ไกลและยังเคยอยู่ในพื้นที่สีแดง ที่มีการก่อเหตุความรุนแรงบ่อยครั้งทำให้การช่วยเหลือต่างๆ อาจมาไม่ถึง และต้องขอบคุณกสศ.ที่มอบทุนการศึกษาให้กับเด็กๆ อีกครั้ง
“เงินที่เด็กๆ ได้รับสามารถลดปัญหาอุปสรรคการมาโรงเรียนได้อย่างดี จากเดิมเด็กบางคนต้องหยุดเรียนไปเพราะไม่มีค่าใช้จ่ายเดินทางมา เมื่อพอมีทุนจากสศ.กลับทำให้เด็กๆ สามารถมาโรงเรียนและไม่ขาดเรียนอีก” ครูสุนิดา กล่าว