ถอดมุมมองความคิดผู้มากประสบการณ์อย่าง ผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองกลางดง ตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ผ่านการทำงานจากโครงการดังกล่าวที่ใช้ชุมชนเป็นฐานถือเป็นหัวใจหลักที่ยึดโยงกลุ่มเป้าหมายเข้าด้วยกันอย่างลงตัว
ผู้ใหญ่โชคชัย เปิดบทสนทนาอย่างกันเองว่า โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อดูแลคนกลุ่มเป้าหมายทั้งคนพิการ ผู้สูงอายุ คนด้อยโอกาส ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้เขามีโอกาสได้ดูแลชีวิตตัวเอง ให้ได้เรียนรู้เรื่องฝีมือแรงงาน ให้สามารถไปรับจ้างได้ค่าแรง สามารถมีชีวิตอยู่ได้
จากผู้ขอโครงการที่เสนอเข้ามา 100 กว่าโครงการ แต่ผ่านการคัดเลือกเหลือเพียงราว 70 กว่าโครงการ ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินงานโดยมีประเด็นสำคัญคือเรื่องของการใช้ชุมชนเป็นฐาน ส่วนตัวมีประสบการณ์เรื่องชุมชนเข้มแข็งผ่านการทำสภาผู้นำชุมชน ให้เกิดการจัดการตัวเอง รวมไปถึงดูแลคนด้อยโอกาสให้เข้าโอบอุ้มเลี้ยงดูกันเองได้ สอดรับกับการประเมินที่คาดว่าจะมีคนตกงานจำนวนมากปี 2563-2564 จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ธุรกิจขนาดกลางได้รับผลกระทบ เราจึงให้ความสำคัญกับการสร้างฐานชุมชนให้เข้มแข็ง
“หากจำได้เมื่อปี 2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้วหลายประเทศเกิดปัญหาวุ่นวาย คนไทยตกงานหลายแสนคน แต่ไม่เกิดเหตุการณ์วุ่นวายเพราะคนไทยกลับบ้าน ส่วนใหญ่มีบ้านมีไร่ มีนา สามารถมีอาหารกิน ดังนั้นถ้าเราใช้ชุมชนเป็นฐานจัดการตัวเองได้ก็สามารถรองรับภาวะวิกฤติจากข้างบน และยังดูแลผู้ด้อยโอกาส ซึ่งมีวิธีการดำเนินการผ่านกิจกรรมฝึกอบรม อาชีพ ตัดผม ทอผ้า หรืออะไรก็ตามที่มีกระบวนการการมีส่วนร่วม มีการจัดการถอดบทเรียน มีสภาผู้นำ สภาชุมชนระดับหมู่บ้าน ผู้นำท้องที่ ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต.รวมกลุ่มอาชีพ ชาวไร่ ชาวสวน ผู้เลี้ยงสัตว์ กลุ่มลูกจ้างใช้แรงงาน สตรี เยาวชน ผู้สูงอายุเข้ามาเป็นคลังสมองของหมู่บ้าน” ผู้ใหญ่โชคชัย เปรียญเทียบกับอดีตครั้งเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง
ผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ
ผู้ใหญ่โชคชัย ยังบอกอีกว่า แนวคิดเรื่องชุมชนเป็นฐานเป็นแนวคิดที่ไม่มีใครเก่งอยู่คนเดียว หรือรู้เรื่องทั้งหมด ต้องมาคิดทำร่วมกัน เป็นสภาผู้นำ เพราะสภาคือพื้นที่พูดคุยกัน คนในหมู่บ้านก็จะมาประชุมกันทุกเดือน เมื่อรู้ปัญหาก็หาทางวางกติกาแก้ไขปัญหากำหนดกติกา เสร็จแล้วถ้าชุมชนเห็นด้วยก็เดินหน้า เป็นระบอบประชาธิปไตยทางตรงที่เปลี่ยนจากผู้นำเดี่ยวมาเป็นผู้นำทีม เป็นเหมือนรัฐบาลชุมชน
อย่างไรก็ตาม หลายเรื่องสามารถ “ทำเอง” หลายเรื่องต้อง “ทำร่วม”กับหน่วยงานอื่น เช่น กรณีขาดเครื่องมือ ความรู้ เรื่องปุ๋ยหมัก ก็จะเชิญเกษตรอำเภอมาช่วย เกษตรกรออมทรัพย์ พัฒนาชุมชน หรือ เรื่องยาเสพติดที่ต้องประสานตำรวจ และ เรื่องที่ต้อง “ทำขอ” เช่น โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ทำเองไม่ได้ต้องทำเรื่องขอ ซึ่งทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น “ทำเอง” “ทำร่วม” “ทำขอ” เกิดจากชาวบ้านที่ร่วมกันคิดทั้งหมด เกิดการจัดการตัวเอง ไม่ทอดทิ้งผู้ยากไร้ ผู้หญิง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ซึ่งระบบนี้จะนำไปติดตั้งในโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยการพยายามทำให้เกิดการสร้างสภาผู้นำขึ้นในพื้นที่
ผู้ใหญ่โชคชัย กล่าวว่า ในส่วนของพี่เลี้ยงก็จะไปสนับสนุนให้ชุมชนทำสภาชุมชนให้เขาคิดทำในสิ่งที่เขาต้องการ ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่ไปกำหนดให้เขาแต่ไปดูว่าเขาอยากทำเรื่องอะไรแล้วเราก็สนับสนุน เหมือนกับโครงการปลูกส้มจุก ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นการพัฒนาอาชีพ เกิดการสร้างแรงงาน ขยายพันธุ์ คนแก่มีความสุขได้ปฏิสัมพันธ์ลูกหลาน ชุมชนมีรายได้ สังคมก็จะร้อยรัดกัน เป็นสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ทั้งทุนทรัพยากร ทุนสังคม นั่นคือคำว่าชุมชนเป็นฐาน
“ชุมชนเป็นฐานเกิดขึ้นได้จริง มีตัวอย่างให้เห็นแต่ต้องใช้เวลา ที่สำคัญคือต้องมีผู้นำที่จะพูดยังไงให้เกิดกระบวนการ เกิดการสร้างสภาผู้นำ ต้องกระจายอำนาจให้คนไปทำงาน เราต้องเปิดใจ สร้างทีม สร้างคลังสมองเป็น Think tank ที่พูดคุยกันกับตัวแทนทุกคนทุกลุ่มอาชีพในหมู่บ้าน เมื่อมีปัญหาก็มาพูดคุยหาข้อมูลตรงกัน ใช้เหตุผลเป็นตัวตั้งในที่สุดก็จะเป็นฉันทามติที่ทุกคนพูดกันจนเป็นที่เข้าใจ เรื่องบางเรื่องตกลงกันไม่ได้ก็พักไว้ก่อนไปหาข้อมูลให้ใจเย็นก่อนแล้วมาตัดสินใจกัน คนมีเหตุผลมากขึ้นดังนั้นเมื่อมีชุมชนเป็นฐาน ถ้าฐานเข้มแข็งก็รองรับทุกเรื่องได้” ผู้ใหญ่โชคชัย กล่าว
ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค