วันนี้ค่านิยมเรื่องการศึกษากำลังเปลี่ยนไป…จากสมัยก่อนที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ต่างจังหวัด ต่างพยายามส่งบุตรหลานให้มีโอกาสได้เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ด้วยความเชื่อที่ว่าสถานศึกษาในเมืองหลวงจะเป็นแหล่งวิชาความรู้ให้เด็กๆ สามารถเรียนจบออกไปมีอาชีพการงานที่ดี และใช้ชีวิตได้สะดวกสบายในอนาคต
แต่ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวไปไกล ข้อมูลความรู้สามารถหาได้จากหน้าจอมือถือ พ่อ แม่ หลายคน จึงเริ่มปรับเปลี่ยนความคิด เลิกส่งลูกไปโรงเรียนกวดวิชาเพื่อปูทางเข้าสู่มหาวิทยาลัย เมื่อทักษะการใช้ชีวิตอาจสำคัญกว่าใบปริญญาในยุค 4.0
คล้ายกับ สุดาดวง นาคะสุวรรณ อดีตอาจารย์คณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานจากกรุงเทพฯ มาอยู่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อให้น้องนนทิ ลูกชายได้เข้าเรียนที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ด้วยรู้สึกประทับใจในแนวคิดของครูใหญ่ วิเชียร ไชยบัง ซึ่งนำเรื่องจิตศึกษามาใช้ในการสอนร่วมกับการสร้างพลังงานเชิงบวกในโรง เรียน หลังจากที่ได้ลองหาหนังสือที่ครูใหญ่เขียนเกี่ยวกับรูปแบบการสอน
สุดาดวง นาคะสุวรรณ อดีตอาจารย์คณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ก่อนหน้านี้เราก็อ่านหนังสือมาแทนทุกแนว Montessori Waldorf รุ่งอรุณ ดรุณสิกขาลัย แต่ก็ยังรู้สึกเฉียดๆ ยังไม่โดนเท่าไหร่ พอมาอ่านหนังสือของครูใหญ่แล้วดีเลย ทำให้อยากไปดูโรงเรียน พอขับรถไปดูปรับใจในบรรยากาศ พลังเชิงบวกในโรงเรียน รู้สึกว่าเด็กเป็นอิสระ แต่พอถึงเวลาที่เขาจะต้องเข้าห้องเรียน ทุกคนก็รู้หน้าที่ ตอนไปดูเป็นช่วงพักเที่ยง เด็กเจี๋ยวจ๊าว วุ่นวาย แต่พอถึงชั่วโมงจิตศึกษาโดยไม่มีเสียงประกาศทั้งโรงเรียนก็เงียบหมดเหลือแต่เสียงใบไม้ เสียงลม เสียงนก ดูแล้วอเมซซิ่งมาก ที่เด็กรู้ตัวได้ขนาดนี้” สุดาดวง เล่าก่อนเผยต่อไปว่า
ทว่าตอนที่ไปดูโรงเรียนตอนนั้นน้องนนทิยังไม่สามขวบก็เลยไม่ได้ตัดสินใจจะว่ามาเรียนที่โรงเรียนลำปลายมาศเลยไหม แต่พอไปดูเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็ตัดสินใจย้ายน้องมาเรียนที่นี่ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทั้งตัวเองและสามีอยู่กรุงเทพฯ ตัวเองจากที่เคยเป็นอาจารย์พอคลอดลูกเสร็จก็ลาออกมาเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ ตอนนั้นก็คิดว่าถ้าหาโรงเรียนที่เข้ากับลูกไม่ได้ก็ตั้งใจจะทำโฮมสคูลเอง
“ตอนแรกต้องเตรียมตัวจัดระเบียบวิธีการทำงานใหม่เพราะเราเริ่มทำธุรกิจส่วนตัว ต้องเข้ามากรุงเทพฯ ดีลงานก็ต้องผลัดให้แฟนไปอยู่ที่นู่น เราก็เริ่มจากไปเช้าบ้านที่นู่น เราไม่มีญาติพี่น้องอยู่ที่นู่นเลยมีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง แฟนก็อยู่กรุงเทพฯ มีธุรกิจครอบครัวไม่เคยไปอยู่ต่างจังหวัดเลยก็ไม่แน่ใจว่าจะปรับตัวได้ไหม” สุดาดวงเผย
อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย มองว่า เป้าหมายในการเลี้ยงลูกไม่ได้อยู่ที่ต้องกวดวิชาทำให้เขาเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ เพราะจากที่เคยสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเราสอนวิชา Design Thinking ต้องลงไปเก็บข้อมูล มาวิเคราะห์สังเคราะห์เพื่อออกแบบ แต่เราเห็นว่าทักษะการวิเคราะห์สังเคราะห์ของเด็กไทยแย่ลงเรื่อยๆ เป็นกราฟดิ่งจากที่เราสอนในปีแรกๆ มันจึงอาจไม่ใช่ทางที่ถูกสำหรับกระบวนการศึกษาปัจจุบัน
“เราสอนมหาวิทยาลัยมาก่อนเรารู้ว่าการเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้แปลว่าเด็กจะ ไปได้ดีเสมอ บางครั้งมา ดร็อปปีสุดท้าย ออกไปเรียนทำอาหารก็มี ออกไปอยู่เฉยๆ ปีสองปีก็มี เพราะไม่รู้จะเอายังไงก็ชีวิต ดังนั้นจึงไม่อยู่ในมายด์เซ็ตเราเลยว่าลูกจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย เราอยากให้เขารู้ตัวว่าเขาอยากทำอะไรเราก็แค่สนับสนุน เราไม่รู้ว่าจะอยู่ลำปลายมาศเขาถึงอายุ เท่าไหร่” สุดาดวงระบุ
ถามว่าคุ้มไหมกับการต้องย้ายมาอยู่บุรีรัมย์ คุณแม่น้องนนทิ กล่าวว่า คุ้มยิ่งกว่าคุ้มอีก ได้กำไรหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ช่วยให้ครอบครัวเราในทุกๆ ด้าน ไม่ใช่แค่ลูก พ่อ แม่ก็ได้ การที่เราวางลูกไว้กับคนที่เราไว้ใจ เราเดินออกมาจากโรงเรียนปุ๊บ ไม่มีอะไรต้องกังวล เราก็มีสมาธิกับงานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อลูกกลับมาจากโรงเรียนเราก็อยู่กับเขาได้ไม่ต้องกังวลเรื่องงาน ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น
ไม่ต่างจาก ปิยะนุช แสงสว่าง คุณแม่น้อง นะมะ นะโม ซึ่งย้ายมาจากกรุงเทพฯ เพราะเริ่มจากปรึกษาคุณหมอว่าควรให้ลูกเรียนแบบไหนดี ก็มารู้ว่ามีโรงเรียนที่นี่ไม่มีแบบเรียน ใช้วิธีแบบเล่น ก็เริ่มหาข้อมูลเพิ่ม เผอิญแฟนเป็นคนบุรีรัมย์ได้จังหวะมาเยี่ยมบ้านก็เลยแวะมาดูโรงเรียนด้วยสุดท้ายก็ย้ายมาแต่อยู่ที่ อ.หนองกี่ ห่างจากโรงเรียน 60 กม. ขับรถไปกลับรับส่ง 4 รอบ รวมวันละ 200 กว่ากิโลเมตร
“พอมาเรียนแล้วเราก็เห็นเขาแฮ็ปปี้อย่างที่เราต้องการ เห็นพัฒนาการตามวัยเติบโตเป็นขั้นๆ เรามาคลุกคลีกับโรงเรียนบ่อยๆ ตัวเราเองก็ได้ซึมซับวิถีไปด้วย ได้ปรับนตัวทั้งแม่ทั้งลูก หากเรียนที่กรุงเทพฯ สิ่งที่ลูกเราจะไม่ได้ก็คือเรื่องทักษะชีวิต การช่วยเหลือตัวเอง การดูแลคนอื่น เรื่องจิตศึกษา รับรู้ตัวเอง ยับยั้งชั่งใจ หากเป็นที่กรุงเทพฯ โรงเรียนแนวนี้ก็จะราคาสูงนิดหนึ่ง แต่ที่นี่เรียนฟรีก็จะมีความหลายกหลายตั้งแต่ลูกคนงาน ลูกชาวนา ลูกหมอ ลูกทนาย เขาน่าจะได้เรียนรู้ความแตกต่างไม่ได้อยุ่แค่เรื่องเงินหรือเทคโนโลยีอย่างเดียว” ปิยะนุช ยกเหตุผลอธิบาย
คุณแม่น้อง นะมะ นะโม กล่าวว่า ค่านิยมที่ต้องให้ลูกเรียนสูงๆ ต้องเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ให้ได้นั้น เราเองเรียนมาเยอะก็ยังไม่ได้ใช้ เดี๋ยวนี้เราอยากรู้อะไรก็แค่กดคลิกเดียวก็รู้แล้ว แล้วเขามีความสามารถในการค้นหามากกว่าเราอีก เลยมองว่าไม่จำเป็นต้องไปสอบเหมือนสมัยเรา ขอให้เขาคิดเป็น ตัดสินใจเป็นดีกว่า
“วันนี้เราเห็นเขาสามารถปรับตัวมาเป็นโหมดรู้ตัวเองได้ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญ ถ้ารู้ตัวปุ๊บก็ตอบได้ว่าสิ่งที่เขาทำไม่ว่าจะผิดหรือจะถูกแล้วจะเกิดผลอะไรต่อไป หากผลที่ออกมาไม่โอเคก็ต้องยอมรับในผลที่เขาเลือก ซึ่งเด็กที่ไม่ได้รับการปลูกฝังเรื่องพวกนี้ ก็ยากต่อการเติบโตทางความคิด” ปิยะนุชกล่าว
ปัจจุบันโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาหรือโรงเรียนนอกกะลา ได้ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) เพื่อปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนให้กับโรงเรียนอื่นในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับโรงเรียนขนาดกลางหลายแห่ง