แก้สมการ COVID-19 กับแรงงานด้อยโอกาส

“การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะส่งผลให้แรงงานด้อยโอกาส ต้องออกจากงานและกลับถิ่นฐานถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่รับจ้างรายวันตามหัวเมืองใหญ่”  คือ การประเมินสถานการณ์ของ “อ.สมพงษ์ จิตระดับ” ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส 

ศ.ดร.สมพงษ์ อธิบายว่า แรงงานด้อยโอกาส แรงงานนอกระบบ จะมีปัญหาซับซ้อนมากกว่าแรงงานในระบบ ประมาณ 2-3เท่า  ทั้งจากการประคับประคองของนายจ้าง รวมถึงการเข้าถึงระบบบริการ และสวัสดิการของรัฐค่อนข้างยาก เพราะแรงงานเหล่านี้ค่อนข้างมีปัญหาในเชิงคุณภาพ ทั้งศึกษาพื้นฐาน การเรียนรู้ตลอดชีวิต ทำให้การเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาของพวกเขาเหล่านี้ค่อนข้างที่จะอยู่คงที่  เพราะเข้าถึงโอกาสที่จะพัฒนาทักษะของตัวเอง

 

แรงงานด้อยโอกาส เป้าหมายแรกของการให้ความช่วยเหลือ

ด้วยเหตุนี้แรงงานด้อยโอกาสจึงอยู่ในสถานะล่างสุดของกลุ่มแรงงานทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มของภาคเกษตร กลุ่มผู้หญิง แรงงานที่สูงอายุ  แรงงานการที่ได้รับศึกษาน้อยระดับมัธยมลงมา จะได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ

ยังรวมไปถึงกลุ่มคนที่ตกงานในชุมชนดั้งเดิม ซึ่งที่เป็นกลุ่มไร้การเหลียวแล และถูกสังคมมองว่า “เป็นภาระ”  โดย ศ.ดร.สมพงษ์ เชื่อว่าในแต่ละชุมชนจะมีคนกลุ่มนี้ 5-6 คน

แต่กระนั้นคนกลุ่มนี้ ถือเป็น “Priority”  หรือ ผู้ที่ถูกจัดลำดับความสำคัญแรกสุดของกสศ.

“เราเห็นความสำคัญของคนกลุ่มนี้ ว่าเป็นคนที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยา และจะต้องช่วยให้เขาได้ค้นหาตัวตนชีวิตที่แท้จริงของเขาให้เจอให้ได้

 

Back to community สู่ความเท่าเทียมจากทุนของชุมชน

“ฐานชุมชน” จะเป็นคำตอบในเรื่องนี้

“ชุมชนจะสามารถจัดการและดูแลคนกลุ่มนี้ได้ ทุนของชุมชนจะยังมีการส่งต่อ ยังมีการสร้างใหม่ และมีการประยุกต์ ในขณะนี้จึงเป็นโอกาสที่การใช้ชุมชนเป็นฐาน กลับไปสู่ Back to community ให้ชุมชนเป็นแหล่งการเรียนรู้ในการให้โอกาส เสริมสร้าง และพัฒนาชุมชนเป็นตัวซึมซับคนเหล่านี้อย่างมีคุณค่า รับเขาเข้ามาในชุมชน เราจะดูแลคุณบนความเท่าเทียมกันจากทุนของชุมชนที่มีอยู่”

 

หยุดกงล้อการดิ้นรนในเมืองหลวง กลับบ้านมีความสุข

หากชุมชนทำได้จุดนี้จะกลายเป็นจุดเปลี่ยน ที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยหยุดเดินเข้าสู่กงล้อของการดิ้นรนในเมืองหลวง

“ชีวิตในเมืองหลวง เมืองใหญ่ ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน และรายได้ที่ไม่มั่นคง เมื่อมีผลกระทบเกิดขึ้น เช่นที่เจอ COVID-19 อยู่ตอนนี้  คุณกลับถูกทิ้ง แต่เมื่อคุณกลับมาที่ชุมชนของคุณ เจอชุมชนที่จัดการได้ดี เป็นศูนย์การเรียนรู้ ให้โอกาส และพัฒนาได้ ผมคิดว่าแรงงานนอกระบบจะเข้าใจสัจธรรมมากขึ้น จะรับรู้ถึงปัญญาของชุมชน สิ่งที่จะเกื้อกูลพวกเขา ทรัพยากรในชุมชน ซึ่งจะมีคนจำนวนไม่น้อย จะมองเห็นลู่ทางและแนวทางที่เขาอยู่ในชุมชนได้ดีขึ้นในแง่ของความเป็นตัวตน ความมีอาชีพที่พอเพียง และมีความสุขได้ ไม่ต้องตะเกียกตะกายในเมืองใหญ่”

 

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ประเทศจะยืนอยู่ได้ด้วยคนกลุ่มนี้

โดยแรงงานด้อยโอกาสนี้ จะได้รับการเพิ่มทักษะ ต่อยอด และประยุกต์ได้ ในหลายองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนนั้นๆ เช่น ความรู้ในระบบตลาด และต่อยอดการใช้ Social Media การออกแบบการสื่อสาร การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ การพัฒนาระบบเครือข่ายตลาดการซื้อขายการ เพื่อให้เงินไหลเข้าชุมชน

“ชุมชนกำลังผลิตกำลังคนในภาคที่เชื่อมโยงระหว่างโลกของเศรษฐกิจกับสังคม เรากำลังผลิต Smart Farmer  ผลิตนักการตลาดออนไลน์ ผลิตผู้ผลิตแบบ SME หรือ OTOP  ซึ่งประเทศที่มีอัตราส่วนหรือมีสัดส่วนคนกลุ่มนี้สูง ไม่ว่าคุณจะเผชิญกับปัญหา COVID-19 หรือ หรือเศรษฐกิจที่ล้มตัว หรือสถานการณ์โลกจะลำบากหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ประเทศไทยจะยืนได้ด้วยคนกลุ่มนี้”

 

70 ทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐานคือต้นแบบ

ศ.ดร..สมพงษ์ ระบุว่า สิ่งที่กศส.กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ทั้ง  70 โครงการยึดชุมชนเป็นฐาน จะเป็น “ต้นแบบ” ในการพัฒนาชุมชนอื่นๆ เพื่อทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น

“ชุมชนจะมีชีวิตมากขึ้น เป็นการวางรากฐานสิ่งที่สำคัญของชีวิตมนุษย์ และสามารถเยียวยาประเทศได้มากในขณะนี้ ถ้ารัฐบาลมองว่างานการใช้ชุมชนเป็นฐานตอบสนองให้แรงงานกลับมาในชุมชนของตัวเอง ให้เห็นถึงประโยชน์คุณค่าและรูปแบบของมัน ผมคิดว่ามันจะเป็นการพัฒนาครั้งใหญ่ของประเทศเรา ที่จะเติบโตทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งการพัฒนาชนบทคำตอบที่ดีที่สุดคือการใช้ชุมชนเป็นฐาน” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค