กสศ.เปิดตัวโครงการพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน รองรับกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลังพบแรงงานจำนวน 7 ล้านคนเสี่ยงตกงาน ชี้เป็นโอกาสสร้างเศรษฐกิจฐานราก และเกิดนวัตกรรมชุมชน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความยั่งยืน จะมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯอย่างน้อย 10,000 คน
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในงานแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี2563” โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ และที่ปรึกษา กสศ. กล่าวว่า กสศ.ได้สนับสนุนโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2563 ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ในปีที่ผ่านมา ยังคงเน้นการช่วยเหลือกลุ่มแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้อยโอกาส รายได้ต่ำ รวมถึงผู้ว่างงาน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะวัยแรงงานรุ่นใหม่ กลุ่มประชากรผู้หญิง และกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่ถูกเลิกจ้างมากที่สุด
ศ.ดร. สมพงษ์ กล่าวว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว บริการ การผลิต และทำให้เกิดการย้ายกลับถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก คนกลุ่มนี้ กสศ. ควรช่วยเหลือเร่งด่วน ทั้งนี้พบว่า ปัญหาของประชากรวัยแรงงานมี 4 ด้าน คือ 1.แรงงานฝีมือต่ำจำนวนมาก เสี่ยงถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ 2.ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เนื่องจากประชากรวัยแรงงานมากกว่า 16.1 ล้านคน มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า และส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบที่ทำงานลักษณะกึ่งฝีมือหรือไร้ฝีมือ 3.ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ พบว่า แรงงานระดับ 1.0 และ 2.0 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพียง 6,500 บาท หรือต่ำกว่า 4.รูปแบบการพัฒนาอาชีพและหลักสูตรอาชีพไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจชุมชนและตลาดแรงงาน
“โครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน จะช่วยยกระดับทักษะให้กลุ่มแรงงานสามารถประกอบอาชีพ มีรายได้หาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ และเป็นต้นแบบการพัฒนาและถ่ายทอดทักษะ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ก่อนจะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นการยกระดับชีวิตและคุณภาพการศึกษา สังคม วัฒนธรรม ที่ค่อยๆถูกยกขึ้นอย่างเป็นระบบระเบียบ ค่อยๆเติบโต เกิดความเข้าใจและการเรียนรู้ได้ ไม่ใช่เป็นลักษณะการเติบโตแบบทุนนิยม เพราะทุนนิยมจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ แต่การใช้ชุมชนเป็นฐานจะไม่ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ แต่จะเกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรม และทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า กสศ.มีงบประมาณกว่า 131 ล้านบาท ที่จัดสรรให้โครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานปี 2563 โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ1.ทุนนวัตกรรมเพื่อสังคม และ2.ทุนพัฒนาทักษะอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ที่สำคัญอย่างน้อยโครงการนี้จะทำให้มีกลุ่มเป้าหมายได้รับประโยชน์กว่า 10,000 คน ซึ่งจะเป็นการดำเนินโครงการภายในระยะเวลาประมาณ 7 เดือน และเชื่อมั่นว่าจะสามารถพัฒนากลุ่มเป้าหมายได้จริงภายในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากที่ผ่านมาเรามีบทพิสูจน์และตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าสามารถพัฒนากลุ่มเป้าหมายได้ภายในระยะเวลาสั้น อย่างไรก็ตามจะเปิดให้ผู้ที่สนใจจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ สามารถยื่นขอรับทุนผ่านระบบออนไลน์ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ส่วนเกณฑ์การรับสมัคร กสศ.เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เอ็นจีโอ รวมถึงชุมชนสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ ภายใต้เงื่อนไข ต้องมีทักษะการสร้างอาชีพโดยการใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ/แรงงานฝีมือในชุมชน ผ่านหลักสูตรระยะสั้น 3 ด้าน ได้แก่ 1.ทักษะเฉพาะอาชีพโดยปฏิบัติงานจริงในชุมชนหรือสถานประกอบการ 2.ทักษะการบริหารจัดการ 3.ทักษะชีวิตด้านเศรษฐศาสตร์ครัวเรือน
“สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการนี้จะเป็นประชากรวัยแรงงานนอกระบบที่มีมากกว่าร้อยละ 55 หรือประมาณ 21ล้านคนของแรงงานทั้งหมด ที่สำคัญแรงงานกลุ่มนี้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและรายได้ รวมถึงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิท-19 ส่งผลให้แรงงานจำนวน 7 ล้านคนเสี่ยงตกงาน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพฯ กลุ่มแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่า ม.6 และกลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวและบริการ” นางสาวธันว์ธิดา กล่าว
นางสาวธันว์ธิดา กล่าวว่า ความคาดหวังต่อกลุ่มเป้าหมายคือประชากรกลุ่มเป้าหมายร้อยละ 90 มีทักษะสูงขึ้นและมีแผนประกอบอาชีพของตนเอง และร้อยละ 80 มีงานทำ จำนวนรวม 10,000 คน ในรูปแบบที่มีประสิทธิภาพในการยกระดับการประกอบอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐานเสนอต่อหน่วยงานนโยบายและบทเรียนสำหรับสาธารณะ นอกจากนี้ยังเกิดนวัตกรรมชุมชน ในรูปแบบต่างๆ เช่น เทคโนโลยีในการประกอบการ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ แหล่งเรียนรู้ และผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ รวมถึงบทเรียนการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมทักษะและอาชีพที่สามารถนำเสนอและแลกเปลี่ยนกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันเกิดระบบฐานข้อมูลอาชีพในท้องถิ่น และองค์ความรู้ในการบริหารจัดการ
ขณะที่ ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาเราทำโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยเริ่มจากปัญหาของกลุ่มประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ไม่จำกัดอายุ และเปิดกว้างไปยังผู้ด้อยโอกาส ได้แก่ ผู้ที่ว่างงาน คนพิการ คนเร่ร่อน เยาวชนในสถานพินิต ผู้ต้องขัง ที่มีการศึกษาขั้นพื้นฐานและรายได้ต่ำกว่า 6,500 บาทต่อเดือน และรับการคัดเลือกมาทั้งหมด 6,055 คน ครอบคลุมพื้นที่ 42 จังหวัด ทั้งสิ้น 74 โครงการ ผลการดำเนินงานพบว่าพื้นที่ปฏิบัติการระดับตำบลหรือเทศบาล มีทักษะสูงขึ้นและเป็นโมเดลทางธุรกิจโดยมีชุมชนเป็นฐาน คนในชุมชนมีงานทำ มีรายได้สูงขึ้น รวมทั้งเป็นการขับเคลื่อนเชิงรุกเพื่อเสนอต่อหน่วยงานนโยบายและเป็นบทเรียนสำหรับสาธารณะ