จากที่เป็นครูสอนหนังสือมากว่า 20 ปี ครูวิรัตน์ ไชยชนะ ครูชั้น ป. 4 โรงเรียนบ้านทรายขาว จ.สงขลา
เริ่มค้นพบว่า สิ่งที่สอนอยู่อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับนักเรียนในเวลานี้ เมื่อได้รับการถ่ายทอดรูปแบบการเรียนการสอนทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เข้ามาช่วยอบรมรูปแบบการสอน แบบใหม่ที่เน้นให้เด็กหาคำตอบด้วยตัวเอง โดยครูทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชี้แนะกระตุ้นให้เด็กรู้จักคิด
ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
หรือ TSQP ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ต้องการพัฒนารูปแบบเรียนการสอนในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมีคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นหนึ่งในทีมงานที่จะเข้ามาช่วยพัฒนารูปแบบการเรียนแบบแอคทีฟเลิร์นนิ่ง ควบคู่ไปกับจิตศึกษา และ บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย
ครูวิรัตน์ อธิบายว่า การสอนแบบใหม่ที่ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาโค้ชชิ่งให้จะช่วยทำให้เด็กเกิดทักษะในกระบวนคิด การสังเกต โดยครูมีหน้าที่เป็นผู้กระตุ้นตั้งคำถามเพื่อให้เด็กเกิดทักษะในการตั้งคำถามมากกว่าเดิม แทนที่การสอนแบบเดิมซึ่งครูจะบอกองค์ความรู้ทั้งหมด ที่สำคัญคือมีการนำจิตปัญญามาใช้ทำให้นักเรียนมีสติ มีสมาธิในการเรียนมากขึ้นก่อนจะนำหลักคิดเข้าไปสอดแทรกก่อนเข้าประเด็นเรียนรู้เนื้อหาแต่ละเรื่อง
การสร้างจิตปัญญาให้กับผู้เรียนจะใช้วิธี เช่น เพลงนิทานบ้าง เกมบ้าง เพื่อทำให้เด็กมีสมาธิ มีสติ
และเริ่มสอดแทรกจริยธรรม คุณธรรมเข้าไป ควบคู่กับการกำหนดข้อตกลงการเรียนรู้ อีกส่วนหนึ่งจะมีโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยที่ให้เด็กได้ทำการทดลอง สังเกตจากการทดลอง เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์สิ่งที่เด็กต้องการทราบแก้ปัญหา
ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการปลูกพืชในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เด็กก็จะเสนอว่าใช้วิธีการปลูกแบบไหน
ใช้ปุ๋ยอะไร สภาพดินแบบไหน ต้องทดสอบสภาพดิน ไปจนถึงเรื่องแมลงมารบกวนจะแก้ไขด้วยวิธีไหน นำสมุนไพรในพื้นที่อย่างสะเดาเทียม ข่า หรืออะไรบ้างมาใช้ อันไหนได้ผลดีกว่ากันเขาต้องทดลองเอาเอง เรียนรู้จากประสบการณ์ ของตัวเอง
“วิธีการสอนแบบนี้มันยากกว่าเดิมที่เราเคยบอกคำตอบให้เด็กรู้ไปเลย แต่วิธีใหม่ครูจะต้องเตรียมกรอบประเด็นหลักๆ ไว้ต้องเป็นคนที่มีทักษะเรื่องการตั้งคำถามและมีความอดทนพอสมควร คุณครูมักจะไม่อดทนอกต่อการได้คำตอบของนักเรียน อยากบอกนักเรียนไปตรงๆ กระบวนการเหล่านี้ อาจขัดใจครู กว่าจะได้คำตอบแต่ละเรื่องต้องใช้ความพยายามอดทน กระตุ้นด้วยคำถามต่าง แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้เกิดความยั่งยืนกว่าแค่การบอกให้เขาจำเพื่อไปสอบ แต่พอจบกระบวนการแล้วให้สถานการณ์ใหม่ขึ้นมา เขาจะไม่สามารถคิดได้ แต่ถ้าเขามีทักษะในกระบวนการคิดแล้ว เมื่อมีสถานการณ์ใดเกิดขึ้นก็สามารถใช้ทักษะแก้ไขหรือนำไปใช้ชีวิตประจำวันได้” ครูวิรัตน์ กล่าว
สอดคล้องกับ ครูรัชนีกร กายอ โรงเรียนบ้านนาแก้ว จ.สตูล ซึ่งเห็นว่ารูปแบบการเรียนแบบ Active
Learning มาช่วยสอนทำให้เกิดผลดีกับนักเรียนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการนำเรื่องจิตปัญญามาช่วยสอนผสมผสานได้กับพหุวัฒนธรรม มีเรื่องหลักเมตตา ความรัก ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ รู้จักตนเองมากขึ้น ทั้งเด็กพิเศษ เด็กด้อยโอกาส ก็จะมีความเสมอภาคเหมือนกันหมด ในโครงงานฐานวิจัยนักเรียนจะถูกปลดล็อคให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียม
ทั้งนี้ หลังจากเปลี่ยนวิธีการสอนเห็นว่าจากเด็กหลังห้องจากที่ไม่กล้าแสดงออกก็จะเริ่มกล้าแสดงออกมากขึ้น เริ่มมีความคิดเห็นเมื่อมีการชวนคุย ชวนสร้างสถานการณ์ เขาจะเริ่มภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่ถูกตีตรา ไม่ถูกบูลลี่ ซึ่งทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานที่ว่ามนุษย์ทุกคนพัฒนาได้ ทำให้เห็นว่าเรามาถูกทาง ไม่ต้องไปเน้นเรื่องติวเพื่อสอบ ไม่ใช่สอนเพื่อให้จำ แต่เป็นทักษะที่ใช้ได้ไปจนตายแต่ครูต้องใจเย็นไม่เร่งเร้าเอาคำตอบเด็ก ไม่ตีตราเด็ก ทำให้เขามีความสุขกับการเรียน