กสศ.จับมือ ฟินแลนด์ พัฒนาคุณภาพครูและโรงเรียนไทย สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในห้องเรียน วางหลักสูตรการศึกษาเชิงบวก เป็นกุญแจสำคัญ พร้อมเปิดรับโรงเรียนนำร่องร่วมกันพัฒนาหลักสูตรในประเทศไทย พร้อมเดินหน้าอย่างเต็มตัวในช่วงปี 2020
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ที่โรงแรมอารีย์ฮิลล์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) จัดการประชุมเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เรื่อง ‘การพัฒนาคุณภาพครูและโรงเรียน: บทเรียนจากประเทศฟินแลนด์’ เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตร และถอดบทเรียนการจัดการศึกษาจากประเทศฟินแลนด์ โดยเฉพาะการนำเครื่องมือที่เรียกว่า ‘Positive Learning CV’ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับนักเรียนที่จะบันทึกและติดตามผลการเรียนด้วยตัวเอง ช่วยให้นักเรียนค้นพบความสามารถเฉพาะตัว ทั้งยังชี้แนะช่องทางเพื่อการปรับปรุงพัฒนาความสามารถของนักเรียนแต่ละคนได้แบบเรียลไทม์
นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักการมีส่วนร่วม นวัตกรรม และทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสศ. ได้มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือในการนำความรู้จากต่างประเทศ รวมถึงนวัตกรรมทางการศึกษาใหม่ๆ เข้ามาใช้พัฒนาคุณภาพครูและโรงเรียนอยู่เสมอ สำหรับการศึกษาเชิงบวก หรือ positive education นับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ดังนั้นเมื่อเรารับเอาเครื่องมือและถอดบทเรียนจากประเทศฟินแลนด์มาแล้ว ก็เป็นโจทย์ที่จะต้องคิดกันต่อไปว่าเราจะจัดการเรียนรู้ในเชิงบวก อันเป็นหัวใจสำคัญของหลักสูตรนี้ ให้เกิดขึ้นในห้องเรียนได้อย่างไร ปัจจุบันในแวดวงการศึกษาไทยมีการพูดกันมากเกี่ยวกับการสร้างทักษะด้านสังคม (soft skill) ให้เด็ก ซึ่งสิ่งที่บ้านเรายังขาดคือการปลูกฝังทักษะดังกล่าวให้เด็กได้ตั้งแต่ในระดับห้องเรียน บทเรียนจากประเทศฟินแลนด์ที่เราจะได้รับนี้ จึงเป็นเหมือนการสาธิตให้เห็นว่า การเรียนการสอนในห้องเรียนที่ส่งเสริมเด็กทั้งในด้านวิชาการและทักษะทางสังคม สามารถทำได้ด้วยวิธีใด
ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักการมีส่วนร่วม นวัตกรรม และทุนการศึกษา กสศ.
“ความร่วมมือระหว่าง กสศ. กับ Positive Learning เป็นโครงการที่มีเป้าหมายในระยะยาว คือสิ่งที่ต้องใช้เวลา เบื้องต้นเราได้รับเอาเครื่องมือมาใช้ พร้อมกับบทเรียนจากต้นแบบที่เขาทำสำเร็จมาแล้ว และในปีหน้าเอกสารหรือตำราฮาวทูต่าง ๆ จะได้รับการถอดความเป็นภาษาไทย ซึ่ง กสศ. จะมีหน้าที่สนับสนุนให้ครูและอาจารย์มหาวิทยาลัยทุกแห่งได้เข้าถึงหลักสูตรและทดลองนำไปใช้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาได้จริงๆ” นางสาวธันว์ธิดา กล่าว
ทางด้าน ไคซา เวอริเนน(Kaisa Vuorinen) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัท Positive Learning กล่าวว่า จากประสบการณ์หลายปีที่ได้ทำงานเป็นครูพิเศษสอนนักเรียนที่มีปัญหาต่างๆ กัน ทำให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการสอนแนวใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ในปี 2014 ไคซา และ ลอตตา อูสซิทาโล(Lotta Uusitalo) นักวิจัยเรื่องการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ร่วมกันศึกษาวิจัยในสาขาความรู้ที่เรียกว่า ‘การศึกษาเชิงบวก’ จากนั้นได้ตีพิมพ์หนังสือและคู่มือสำหรับครูใช้ในการปลูกฝังทักษะทางสังคมและอารมณ์แก่เด็กๆ โดยสอดแทรกเข้ากับเนื้อหาวิชาการที่มีอยู่ แล้วจึงเริ่มเผยแพร่ความรู้แก่ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ทั้งในประเทศฟินแลนด์และกระจายไปในอีกหลายประเทศทั่วโลก
ไคซา เวอริเนน (Kaisa Vuorinen) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัท Positive Learning
“การได้สอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ทำให้พบว่า การศึกษาเชิงบวก ทั้งในด้านคำพูด การค้นหาจุดแข็งในตัวของนักเรียนและส่งเสริมให้เขาพัฒนาตนเองจากตรงนั้น รวมถึงความรัก ความเอาใจใส่ที่ครูมีต่อศิษย์ สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในหลายด้านของเด็ก ในการศึกษาแบบเก่า ครูมักมองไปที่ปัญหาของเด็กโดยมองข้ามส่วนที่ดีของเขา ขณะที่ในการศึกษาเชิงบวก เราจะมองไปที่ความดีหรือสิ่งที่พิเศษที่อยู่ในตัวเด็กทุกคน ส่งเสริมให้เขาเกิดความเชื่อมั่น มีสุขภาพจิตที่ดี รู้สึกดีกับตนเอง นั่นจะทำให้เขารักที่จะมาโรงเรียนและพร้อมเรียนรู้ รวมถึงสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครูได้เป็นอย่างดี” ไคซา กล่าว
ไคซา กล่าวว่า การเริ่มต้นของความร่วมมือนี้ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่างไทยกับฟินแลนด์ ในภารกิจเพื่อสร้างการศึกษาที่เสมอภาคให้เกิดขึ้น โดยที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น กสศ. บริษัท Positive Learning รวมถึงครูอาจารย์ทุกระดับที่เข้าร่วมกับเรา จะต้องช่วยกันสร้างบทเรียนเฉพาะสำหรับการศึกษาในแต่ละรูปแบบของประเทศไทยไปด้วยกัน โดยขณะนี้ทางเราได้เปิดรับโรงเรียนนำร่องที่จะมาร่วมกันพัฒนาหลักสูตรในประเทศไทย และพร้อมเดินหน้าอย่างเต็มตัวในช่วงปี 2020
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ.
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า การศึกษาเชิงบวก ไม่ใช่การเลือกส่งเสริมด้านใดด้านหนึ่งระหว่างวิชาการหรือทักษะสังคม แต่จะต้องทำให้สองสิ่งดำเนินไปควบคู่กัน การสนับสนุนเด็กให้ค้นพบความสามารถของตัวเอง ให้เด็กได้มีสุขภาพจิตที่ดี จะเป็นรากฐานให้เด็กพร้อมเรียนรู้ทั้งวิชาการแลพัฒนาทักษะทางสังคมไปด้วย แล้วสองอย่างนี้จะก่อให้เกิดผลการเรียนรู้ที่ดีในองค์รวม ซึ่งวิธีการศึกษาเชิงบวกนี้จะเป็นทั้งการช่วยให้เด็กค้นพบเป้าหมายไปพร้อมกับการเรียนรู้ทางวิชาการ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สามารถจัดทำได้ในโรงเรียนทุกขนาดและทุกระดับ การศึกษาเชิงบวกจึงเป็นอีกวิธีการหนึ่ง ที่จะมาช่วยเปลี่ยนแปลงภาพรวมของการศึกษาในอนาคต และเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทย” ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ กล่าว