ดูละครแล้วย้อนดูบทเรียน ครูรัก-ผู้สร้างความเสมอภาคผ่านละครเวที

ดูละครแล้วย้อนดูบทเรียน ครูรัก-ผู้สร้างความเสมอภาคผ่านละครเวที

“ครูรัก – ศรัทธา ศรัทธาทิพย์”
บทเรียนผ่านบทละคร

หลายคนอาจคุ้นเคยกับ​ “ครูรัก” ในฐานะนักแสดงตลก หรือ ผู้กำกับอารมณ์ดีที่ฝากฝีไม้ลายมือผ่านผลงานการแสดงมากมาย แต่อีกมุมหนึ่งน้อยคนจะรู้ว่า​เขายังเป็น หัวหน้า “คณะละครนกกระจิบของพ่อ”

คณะละครจิตอาสาที่เปิดการแสดง​มอบความสุขสอดแทรกความความคิดดีๆ ให้เด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ต่างๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ด้วยเป้าหมายที่อยากทำให้สังคมดีขึ้น

“ผมตั้งคณะละครขึ้นมาวัตถุประสงค์จริงๆ แล้วเพื่อช่วยเหลือ เล่นให้กับเด็กด้อยโอกาสในสถานสงเคราะห์ เด็กกำพร้าหรือเด็กที่อยู่ในถิ่นธุระกันดารที่เชื่อได้เลยว่า ชีวิตเขาคงไม่มีโอกาสได้ดูละครเวที​” ครูรักเล่าถึงที่มาของเส้นทางนี้ 

เรา​จะเลือกเรื่องราวเนื้อหาที่เหมาะกับเด็ก เข้าใจง่าย ไม่ยาวเกินไป มีเทคนิคการร้อง การเต้น มีแอคชั่น​ สอนเขาแบบให้สนุกไปด้วย เพราะถ้าเรามาทำเป็นละครแบบจำไว้นะเด็กๆ อย่าทำแบบบนี้เพราะเรื่องแบบนี้มันไม่ดี มันก็เหมือนกลับไปสู่การสอนแบบไม่มีชั้นเชิง เทคนิค ไม่มีศิลปะ ทำให้เด็กเบื่อ ไม่รับ เกิดการผลักดันออกไป” โดยจะเปลี่ยนหัวข้อการเล่าเรื่องทุกเดือน ภายใต้แนวคิด  “มอบความสุข ปลูกฝังสิ่งดีงาม” 

เรื่องการเชื่อมโยงละครกับการเรียนนั้น ครูรักเปรียบเทียบให้ฟังว่า หากย้อนกลับไปที่ห้องเรียนแล้วมีครูที่สอนจากหนังสือก็จะน่าเบื่อและจำยาก แต่การที่เด็กเห็นเป็นภาพเป็นเรื่องราวว่าคนนั้นคนนี้พูดหรือทำแบบนี้ สุดท้ายต้องรับผลกรรมอย่างไร หรือคนทำดีสุดท้ายแล้วจะมีสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิตอย่างไร ​มันเป็นเรื่องที่เวลาจำเขาจะจำจากภาพที่มองเห็นเป็นหลัก ฟังจากเสียงที่ได้ยิน มันก็จะเข้าใจง่าย จำได้ง่ายกว่าการที่อ่านแล้วจินตนาการไปตามประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งอาจเข้าเป้าบ้างฟุ้งออกไปบ้าง​​​

 

ละครจบแต่เราไม่จบ
ครูรัก - ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ หัวหน้า “คณะละครนกกระจิบของพ่อ”

 

“สิ่งที่ได้รับกลับมาจากการทำละครไม่ใช่เรื่องของ “เงิน” แต่เป็น ​“ความสุข” เราจะดีใจมีความสุขที่เขาดูละครแล้วไม่เบื่อ ยิ่งเขาดูรู้เรื่องเรายิ่งดีใจขึ้นไปอีก”

 

“เมื่อเด็กๆ ดูละครจบ เด็กๆ ก็จะมีมุมมองความคิดที่ต่างกัน โดยเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่ “ทัช” กับเขา อย่างบางคนก็จะบอกว่าได้ข้อคิดคืออย่ารังแกคนที่อ่อนแอกว่า อีกคนบอกว่าต้องขยันไม่ขี้เกียจ  ส่วนอีกคนบอกว่าเราต้องรักกัน มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น โดยแต่ละมุมเป็นสิ่งที่เขาสัมผัสได้เอง เราไม่ได้ไปยัดเยียดแบบว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่างนั้นอย่างนี้เท่านั้น เพราะแต่ละคนก็ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน บางคนก็มองจากมุมพระเอก บางทีก็มองจากมุมนางเอก”

“เมื่อเด็กดูได้ดูละครแล้วก็จะมีความสุข สนุก ขำ และได้รับการปลูกฝังทัศนคติที่ดี ผ่านเนื้อหาสาระ จากเรื่องง่ายๆ เช่น  อย่าโกหก อย่า Bully กัน เพราะเคยมีข่าวที่เด็กเอาปืนพ่อไปยิงคนที่มาล้อ โดยดูก่อนว่าตอนนี้ขาดอะไรบ้าง ก็หยิบไปเสริม อย่างเรื่องคนไม่แคร์จิตใจคนที่ถูกรังแก ซึ่งจะค่อยๆ ไล่ไปทีละเรื่อง เช่น เรื่องเด็กเลี้ยงแกะ สอนให้ไม่โกหก เรื่องลูกหมูสามตัวสอนว่าอย่าทำอะไรลวกๆ ยิ่งตั้งใจทำอะไรยิ่งปลอดภัย มั่นคงแข็งแรง”

 

สิ่งที่ได้มากกว่าการทำละครเวที

“ระหว่างการแสดง บางทีเด็กเขาจำแม่นกว่าเราอีก สมมติว่าในเรื่องสั่งไว้ว่าต้องกระโดดน้ำก่อนแล้วค่อยเปิดห่อผ้า พอเราจะเปิดห่อผ้าตอนยังไม่ได้กระโดดน้ำ​เด็กก็ร้องห้ามให้กระโดดน้ำก่อนแล้วค่อยเปิดทีหลัง เราก็เรียนรู้จาก Feedback ดูแล้วเขามีปฏิกิริยาตอบรับอย่างไร เพื่อให้เขาได้มีส่วนร่วม ไม่ใช่นั่งดูเป็น One Way Communication รับสารอย่างเดียว เราต้องคอยถามให้เขาตอบ​และมีสิทธิ์เลือกด้วย”

“สิ่งที่ได้รับกลับมาจากการทำละครไม่ใช่เรื่องของ “เงิน” แต่เป็น ​“ความสุข”  เราจะดีใจมีความสุขที่เขาดูละครแล้วไม่เบื่อ ยิ่งเขาดูรู้เรื่องเรายิ่งดีใจขึ้นไปอีก  ปัจจุบันคณะละครนกกระจิบของพ่อจะเล่นให้กับเด็กที่มูลนิธิเด็ก บ้านทานตะวัน และมูลนิธิบ้านพระ บางครั้งเราเล่นเดือนที่แล้วเดือนนี้กลับไปใหม่เด็กยังจำและร้องเพลงของละครเรื่องที่แล้วได้อยู่ ตรงนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราทต่อไปด้วยแนวทางจิตอาสา” 

“คณะทำงานนักแสดงทุกคนมาช่วยกันทำฟรี มาจากหลากหลาย บางคนเป็นนักดนตรีอาชีพ บางคนพ่อแม่เปิดร้านขายอาหารอยากให้ลูกเล่นละคร บางคนเรียนจบศิลปกรรมมาโดยตรง ทุกคนที่มาเริ่มจากมาร่วมกัน เริ่มแรกเขายังอาจเห็นอะไรเท่าไหร่  แต่พอได้มาสัมผัสน้องที่ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีของเล่น ไม่มีอาหารกิน เขาก็เริ่มอยากแบ่งปัน พอเราเล่นจบ น้องๆ ปรบมือดีใจ หัวเราะนั่นคือความสุขที่พวกเราได้รับกลับไป”

“นอกจากจะไม่ได้เงินแล้วผมจะบอกกับเด็กที่มาทำละครด้วยกันเลยว่า จะไม่ได้ส่งเสริมให้เข้าวงการนะ ไม่ได้พาไปเล่นหนัง ไปเล่นละครเป็นอาชีพ แต่สิ่งที่จะได้คือการทำงานเป็นทีมเวิร์ค รู้จักรับผิดชอบหน้าที่ ซ้อมเพลง ซ้อมบท และรู้จักความสุขจากการเป็นผู้ให้ตั้งแต่เด็ก  หลายคนที่มาก็มีความสุข ​พอมาเล่นละครที่มูลนิธิเป็นครั้งที่สองเขาก็คัดของเล่นของตัวเองที่ดีๆ มาให้กับน้องๆ ที่มูลนิธิ ทั้งที่เราไม่ได้บอกเลยว่าให้เขาหามา ซี่งเขาบอกว่ามีอีกก็ให้ชวนอีก แถมยังมีอีกหลายคนขอสมัครเป็นสมาชิกถาวรขอร่วมด้วยทุกงาน ยกเว้นมีธุระไม่ว่างจริงๆ ค่อยว่ากัน นี่คือความสุของการรู้จักให้​”

 

ความสุขที่หาไม่ได้จากที่ไหน

“สิ่งสำคัญคือเรามีของที่เราทำได้ เป็นประโยชน์กับส่วนเราก็รวมกันลุกขึั้นมาทำ อย่าไปบอกว่าฉันไม่รวยฉันทำไม่ได้ ฉันไม่ถนัดฉันทำไม่ได้ ฉันไม่มีทักษะฉันทำไม่ได้ เพราะไม่จริง มันจะต้องมีความสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้  คนไม่รู้จะทำอะไรแค่ไปวัดเขามีงานไปช่วยเขาล้างจานก็เป็นความดีแล้ว  ไปช่วยกวาดเก็บขยะข้างทาง ชายหาด สถานที่ท่องเที่ยว”

“คือคุณไม่ต้องเก่งอะไร แค่ใจมาก่อน พร้อมจะให้นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ  แล้วทำตามความถนัดของคุณ ทักษะอะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวมทำเลย อย่างน้อยๆ คุณจะภูมิใจในตัวเองรู้สึกว่าคุณมีคุณค่า หรือเมื่อผู้รับเขาเห็นเราทำแล้วรู้สึกได้รับการช่วยเหลือแล้วมาขอบคุณเรา นั่นคือสุดยอดความฟิน”

ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหน ทำงานอะไร ก็สามารถ “คุณค่าและความแตกต่าง” ให้กับสังคมได้ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็คุ้มแล้วที่ได้ทำ

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค