‘ซะนะ’ หรือ กัลยาภรศ์ เตาวะโต นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ.
สำหรับเด็กมัธยมปลายส่วนใหญ่ ช่วงใกล้จะเรียนจบ ม.6 คงไม่มีเรื่องไหนสำคัญไปกว่าการลุ้นว่าอนาคตจะเดินไปทางใด จะได้เรียนในสถาบันที่คิดไว้ หรือต้องทำใจยอมรับความผิดหวัง มองหาทางเลือกอื่นๆ ที่เหมาะสมกับตัวเอง
‘ซะนะ’ หรือ กัลยาภรศ์ เตาวะโต นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ. และนักพูดสร้างแรงบันดาลใจจากสาขาวิชาการท่องเที่ยว อนุปริญญา ปี 1 วิทยาลัยชุมชนสตูล จังหวัดสตูล เพราะเมื่อย้อนกลับไปทบทวนประสบการณ์ในช่วงนั้น แม้ว่าเป้าหมายเดียวที่เธอต้องฝ่าฟันทำให้สำเร็จคือการดิ้นรนทุกทางเพื่อให้ได้เรียนหนังสือต่อ แต่เหมือนไม่ว่าจะพยายามอย่างไร โอกาสทางการศึกษาก็ไม่ยอมเปิดรับเธอสักที ทั้งที่ซานะเชื่อว่า ถ้าไม่ได้เรียนต่อ ความหวังที่จะกำจัดความยากลำบากออกไปจากครอบครัวคงยิ่งริบหรี่ และอนาคตก็คงไม่หยิบยื่นอะไรให้เธอและน้อง ๆ อีก นอกจากวงจรความยากจนที่ส่งต่อมาจากคนรุ่นพ่อแม่
กัลยาภรศ์ เล่าถึงชีวิตของตัวเองว่า มีพี่น้อง 6 คน พ่อแยกไปสร้างครอบครัวใหม่ แม่ต้องทำงานตระเวนค้าขายไปตามจังหวัดต่างๆ ส่วนพี่สองคนแต่งงานออกจากบ้านไปแล้ว ในฐานะพี่คนที่ 3 ซานะจึงกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องคอยดูแลน้อง 3 คนให้ได้รับความอบอุ่น อิ่มท้อง และให้ได้รับการศึกษา ด้วยเงินรายได้น้อยนิดเท่าที่แม่พอจะส่งเสียได้
ช่วงที่กำลังจะเรียนจบ ม.6 ซานะรู้ว่าหนทางที่จะได้เรียนต่อนั้นแทบมองไม่เห็น นั่นเพราะน้องๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นมาพร้อมค่าใช้จ่ายในการเรียนที่สูงขึ้น แต่เธอยังเชื่อว่าด้วยความตั้งใจและผลการเรียนที่ดีมาตลอด จะช่วยให้มีโอกาสดีๆ ผ่านเข้ามาบ้างสักครั้ง
ตอนที่เห็นเพื่อนๆ ตื่นตัวเรื่องสมัครเรียนมหาวิทยาลัยกัน เรารู้ว่าชีวิตกำลังจะวิกฤติ เข้าใจดีว่าการเรียนต่อมีค่าใช้จ่ายเยอะมาก ซึ่งที่บ้านเราไม่มีทางหามาได้ แต่เรายังหวังว่าจะได้เรียน ยังให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอ จึงเอาเงินเก็บที่พอมีทั้งหมดไปสมัครสอบรอบ Portfolio มั่นใจว่าเรามีผลงานดี เลือก 3 มหาวิทยาลัยในสาขาวิชาที่อยากเรียนที่สุด คือภาษาอังกฤษธุรกิจ การโรงแรม และการท่องเที่ยว แล้วผลออกมาว่าเราสอบได้ทั้ง 3 แห่ง
“แม้จะสอบได้ แต่หนูไม่มีสิทธิ์ดีใจด้วยซ้ำ ตอนนั้นไม่ได้คิดเลยว่าเราไปสอบได้แล้วจะยังไงต่อ จนใกล้ถึงวันรายงานตัว ความจริงมันก็ค่อยๆ บอกเราว่าแค่เงินใช้จ่ายรายวันครอบครัวเรายังมีไม่พอเลย ค่ารถค่าข้าวให้น้องไปโรงเรียนก็มีบ้างไม่มีบ้าง แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายค่าเทอม สุดท้ายหนูก็ต้องยอมสละสิทธิ์ไปทั้งหมด” กัลยาภรศ์ เล่าปัญหาวันนั้น
กัลยาภรศ์ ยังไม่หยุดความพยายามแค่นั้น ลองติดต่อหาทุนจากโครงการต่างๆ ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมเมื่อครั้งเรียนมัธยม แต่เมื่อได้รับข้อเสนอ เธอก็จำต้องปฏิเสธอีกครั้ง เพราะเป็นทุนเรียนในต่างประเทศที่ช่วยเธอได้เฉพาะค่าเล่าเรียน
“ตอนนั้นหนูเริ่มคิดแล้วว่าคงหมดหวังกับการเรียนจริงๆ มันเป็นช่วงที่รู้สึกท้อแท้ที่สุดในชีวิต หนูได้รับติดต่อให้รับทุนหนึ่งที่ต้องไปเรียนในประเทศมาเลเซีย ซึ่งมันไกลตัว แล้วหนูรู้ว่ายังไงก็ต้องดูแลน้องๆ ไม่สามารถไปเรียนไกลๆ ได้ ที่สำคัญคือเขามีเงินให้แค่ค่าเล่าเรียน แต่ค่าใช่จ่ายอื่นๆ เราต้องออกเอง ซึ่งสำหรับหนูคงหมดสิทธิ์” กัลยาภรศ์ ปรารภถึงโอกาสแต่คว้าไม่ได้
ช่วงเวลาเดียวกัน กัลยาภรศ์ ได้รับข้อเสนอจากครอบครัวให้แต่งงาน เพราะว่ามันเป็นหนทางที่คนในครอบครัวเชื่อว่าชีวิตจะดีขึ้นได้ แต่ในความคิดมันเหมือนเส้นทางไปสู่อนาคตของเธอกำลังจะจบลงโดยสมบูรณ์ต้องใช้ความพยายามมากเพื่ออธิบายให้ที่บ้านเข้าใจ ว่าการแต่งงานคือการตัดอนาคต ที่บ้านเขาคิดว่าเราคงหมดโอกาสเรียนแล้ว และถ้าไม่เรียนก็ต้องแต่งงาน แต่มีความตั้งใจเดียวคือจะเรียนต่อ นอกจากตัวเองแล้วยังคิดไปถึงน้องๆ หนูไม่อยากให้ที่บ้านของเรามีคนเรียนจบสูงสุดแค่ชั้น ม.3 คิดว่าถ้าน้องไม่มีแบบอย่างที่ดี ทุกคนในบ้านเราก็จะมีอนาคตเหมือนกันทั้งหมด
ถึงจุดนั้น กัลยาภรศ์ ตั้งใจแล้วว่าจะทำงานเพื่อเก็บเงินส่งตัวเองเรียน จึงเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับวิทยาลัยที่เหมาะสมกับตัวเอง ที่มีสาขาวิชาที่สนใจ มีราคาค่าเทอมที่จ่ายไหว จนได้พบประกาศจากเว็บไซต์ของวิทยาลัยชุมชนสตูลว่ามีทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของกสศ. ในระดับอนุปริญญา
“ตอนที่เห็นรายละเอียดของทุน ว่าจะได้เงินเดือนละ 7,500 บาท แล้วยังไม่ต้องจ่ายค่าเทอมด้วย หนูก็คิดว่ามีด้วยเหรอทุนแบบนี้ แล้วยิ่งเป็นสาขาวิชาการท่องเที่ยว หนูก็ยิ่งสนใจ จึงสมัครไปทันที แล้วหลังจากนั้นเป็นช่วงที่ต้องผ่านขั้นตอนการคัดเลือก มีอาจารย์ไปเยี่ยมที่บ้านและต้องรอผล จำได้ว่ามันเป็นความรู้สึกที่ทั้งตื่นเต้น เครียดและกดดัน มันมากยิ่งกว่าตอนเราลุ้นผลสอบเสียอีก เพราะสำหรับหนูนี่คือโอกาสที่แทบจะสุดท้ายแล้ว ถ้าไม่ได้ทุนนี้ ก็คงต้องหยุดคิดเรื่องเรียนไปก่อน” กัลยาภรศ์ กล่าว
จนถึงวันประกาศผลออกมาว่าได้รับเลือกให้เป็น นศ. ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของกสศ. กัลยาภรศ์ เล่าทุกสิ่งที่อัดอั้นใจว่า วันนั้นเป็นวันที่พูดได้เต็มปากว่า ‘มีความสุข’ ได้บอกทุกคนว่ามีที่เรียนแล้ว และชีวิตจะไม่ได้ดีขึ้นแค่ตัวคนเดียว แต่ยังหมายถึงว่าสามารถแบ่งเบาภาระของแม่ และช่วยให้น้องๆ ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย
การได้เรียนหนังสือสำหรับซานะยังมีความหมายมากกว่านั้น เพราะหลังจากที่เธอได้เข้าเรียน ซานะได้นำเอาประสบการณ์ในฐานะพิธีกร ผู้ดำเนินรายการในหลากหลายเวทีที่เข้าร่วมมาตั้งแต่เรียนชั้นประถม การันตีความสามารถด้วยเกียรติบัตรและรางวัลมากมาย มาใช้ต่อยอดในสิ่งที่เธอรัก นั่นคือความหลงใหลในการเล่าเรื่องผ่านการพูดสร้างแรงบันดาลใจ กัลยาภรศ์ เปิดรับทุกโอกาส เสนอตัวไปทุกงาน ทุกเวที ทั้งงานเล็กงานใหญ่ งานจิตอาสา ด้วยเชื่อว่าเธอสามารถส่งต่อแรงบันดาลใจไปยังเพื่อนๆ และน้องๆ ที่ต้องเผชิญเรื่องราวคล้ายกับเธอ ให้มีกำลังใจลุกขึ้นสู้ ผ่านพ้นช่วงเวลาท้อแท้ และให้ยึดมั่นในความคิดเสมอว่า การศึกษาจะเปลี่ยนแปลงชีวิตและอนาคตของพวกเขาได้
“สิ่งที่หนูคิดมาตลอดและจะพยายามถ่ายทอดให้ทุกคนได้รับฟัง คือเรื่องความสำคัญของการศึกษา โดยเฉพาะกับน้อง ๆ ที่เขายังเรียนในชั้น ม.ปลาย ว่าถ้าจบแค่ ม.6 โอกาสเลือกงานที่เราอยากทำจริง ๆ แทบไม่มีเลย หรือไม่ก็ต้องไปทำงานที่ไม่เหมาะกับวัยของเรา เช่นเดียวกับที่หนูใช้บอกกับน้อง ๆ ของตัวเองอยู่เสมอ ว่าเราจะไปได้ไกลกว่านี้ถ้าได้เรียนหนังสือ ให้เขาเชื่อมั่นในการเรียน เป็นความจริงที่ว่าวันนี้เราอาจจะยากจน แต่ถ้าเรามีการศึกษา ได้ทำงานดีๆ วันหนึ่งสภาพที่ครอบครัวเราเป็นอยู่มันจะเปลี่ยนไปได้ ในทางกลับกันถ้าไม่เรียน สิ่งที่เป็นอยู่นี้มันก็จะเหมือนเดิมต่อไป หนูไม่ได้บอกให้เขาคิดฝันถึงความร่ำรวย แต่การที่เราได้มีวุฒิการศึกษา มีอาชีพที่มั่นคงเลี้ยงดูตัวเองได้ตามความเหมาะสม เราจะมีอนาคตที่ดีอย่างที่เราเคยฝันถึงได้ หนูอยากเป็นแรงบันดาลใจให้น้อง ทำให้เขาดูเป็นตัวอย่าง ให้เขาเห็นผลสำเร็จของการเรียนหนังสือ” กัลยาภรศ์ กล่าว