กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดอบรมส่งเสริมอาชีพโครงการพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน
อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส นำกลุ่มเป้าหมายฝึกทักษะการตัดเย็บหน้ากากอนามัยใช้เอง พร้อมแจกจ่ายคนในชุมชนและมอบความช่วยเหลือยังพื้นที่ขาดแคลน มุ่งพัฒนาสู่การสร้างรายได้ในช่วงวิกฤติการณ์โควิด-19
หลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความกังวลให้กับผู้คนทั่วโลก ทั้งกระจายความเสี่ยงไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ทำให้สินค้าจำเป็นโดยเฉพาะหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือกลายเป็นสินค้าขาดตลาด ในภาวะเช่นนี้ โครงการพัฒนาอาชีพการตัดเย็บเสื้อผ้า อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งจากการระบาดของโรคและในทางเศรษฐกิจ จึงได้ปรับแผนงานโดยนำกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการพัฒนาทักษะอาชีพ เข้ารับการอบรมทำหน้ากากอนามัย เพื่อใช้ป้องกันตนเองและแจกจ่ายให้ผู้มีความจำเป็น รวมถึงยังใช้การฝึกอบรมทำหน้ากากอนามัยให้เป็นหลักสูตรปูพื้นฐานการตัดเย็บ โดยความร่วมมือของ กสศ. วิสาหกิจชุมชน Hand in Hand และวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส
สาคร ปานจีน อาจารย์ วชช. นราธิวาส และเป็นผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน อ.รือเสาะ กล่าวว่า จากความร่วมมือของ กสศ. ในการส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชน โดยมีแผนพัฒนาผู้มีทักษะทางการตัดเย็บ และผู้ว่างงานที่สนใจพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อส่งต่อไปยังวิสาหกิจชุมชน ให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ ขณะที่ในระยะเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องประสบปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนในชุมชนทั้งการขาดแคลนหน้ากากอนามัย รวมถึงมีคนว่างงานมากขึ้น ทางโครงการฯ จึงเห็นว่าจำเป็นต้องปรับแผนการพัฒนาทักษะโดยดึงกลุ่มเป้าหมายเข้ามาฝึกอบรมทำหน้ากาก ซึ่งนอกจากจะเป็นการปรับตามสถานการณ์แล้ว การทำหน้ากากยังเหมือนการฝึกฝีมือเบื้องต้นก่อนไปสู่การตัดเย็บระดับสูง ที่คนไม่มีความรู้และไม่มีประสบการณ์ก็สามารถทำได้
ในส่วนขั้นตอนดำเนินงาน ทางโครงการฯ ได้ประสานกับวิสาหกิจชุมชน Hand in Hand ซึ่งมีเครื่องมืออุปกรณ์พร้อม ให้เป็นสถานที่ฝึกอบรม จากนั้นแบ่งผู้เข้าอบรมเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือคนที่มีพื้นฐานตัดเย็บหรือทำงานด้านนี้อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีความเข้าใจระบบและกระบวนการ กับอีกกลุ่มคือผู้ว่างงานที่ไม่มีทักษะติดตัวมาก่อน รวมถึงผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐ สองกลุ่มนี้จะเข้ารับการฝึกอบรมจากวิทยากรตั้งแต่ความรู้เรื่องผ้า การใช้เครื่องมือ พอเริ่มคุ้นเคยจึงเข้าสู่ขั้นตอนการตัดเย็บ ซึ่งในช่วงแรกที่เราเปิดอบรมมาตั้งแต่ประมาณกลางเดือนมีนาคม บทเรียนแรกที่เป็นเสมือนการทดลอง ทุกคนจะได้เย็บหน้ากากอนามัย โดยหลังจากที่กลุ่มเป้าหมายเริ่มมีฝีมือคงที่ ก็จะมีรายได้เข้ามาทันที
“เรามองว่าตรงนี้เหมือนกับเราสร้างโอกาสจากวิกฤติ เพราะการจะพัฒนาทักษะกลุ่มเป้าหมายทุกคนให้สามารถตัดเย็บ จนถึงขึ้นไลน์เย็บเสื้อผ้าจริงๆ ได้ มันไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ ขณะที่การทำหน้ากากอนามัยใช้ทักษะน้อยกว่า มีความต้องการจากตลาดมากกว่าในช่วงนี้ เราจึงตั้งใจให้เขาสามารถฝึกตัดเย็บพื้นฐานไปทีละขั้นพร้อมกับหารายได้ได้ทันที เพราะเมื่อเขาทำได้ดีในระดับหนึ่ง วิสาหกิจชุมชนก็จะจ้างงานต่อ”
อาจารย์จาก วชช. นราธิวาส กล่าวต่อไปว่า อย่างแรกสุดของการทำหน้ากากอนามัย กลุ่มเป้าหมายจะได้เรียนรู้เรื่องชนิดของผ้า ว่าผ้าที่นำมาตัดเย็บเสื้อผ้าแต่ละชนิดแตกต่างทางคุณสมบัติอย่างไร อย่างในส่วนของหน้ากากอนามัยจะต้องใช้ผ้ามัสลิน หรือผ้าฟูยี จะไม่ใช้ผ้าฝ้ายหรือผ้าชนิดอื่นๆ เนื่องจากไม่สามารถกรองเชื้อได้ อีกประการหนึ่งคือทักษะการใช้เครื่องจักร โดยจักรบางชนิดต้องใช้เวลาสร้างทักษะ ทำความคุ้นเคย จึงจะสามารถใช้ผลิตงานให้มีคุณภาพได้ เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาและต้องมีวิทยากรเข้ามาสอนอย่างใกล้ชิด
“หลังจากผลิตหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานออกมาชุดแรก เราจะส่งมอบหน้ากากจำนวนหนึ่งให้กับบุคลากรในวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส รวมถึงมอบให้ กสศ. เพื่อใช้ในหมู่บุคลากรและส่งผ่านไปยังกลุ่มคนที่ขาดแคลน สำหรับกลุ่มผู้เข้ารับการอบรม เราวางแผนว่าเมื่อเขามีทักษะแล้ว เขาจะสามารถเข้าทำงานกับวิสาหกิจชุมชนได้ในช่วงเวลานี้ที่หน้ากากอนามัยกำลังขาดตลาด อย่างน้อยเขาจะมีรายได้เบื้องต้น หรือหลังจากนี้หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อต่อไป เขาก็ยังทำหน้ากากต่อไปได้เพราะหลายพื้นที่ทั่วประเทศยังต้องการอีกมาก แล้วพอถึงวันที่สถานการณ์ดีขึ้น หรือความต้องการหน้ากากถึงจุดที่เพียงพอแล้ว เราก็จะส่งเสริมด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าต่อไป”