ชุมชนอ่าวบ้านดอน สร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานทรัพยากรทางทะเล

ชุมชนอ่าวบ้านดอน สร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานทรัพยากรทางทะเล

ความไม่แน่นอนของท้องทะเล เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านในชุมชนอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี ประสบกับปัญหาความมั่นคงทางอาหาร บางวันออกเรือไปได้กุ้ง หอย ปู ปลา กลับมาพอได้กินกันในครอบครัว เหลือก็นำไปขายต่อ แต่บางวันออกเรือไป สุดท้ายกลับต้องกลับบ้านมือเปล่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของธรรมชาติที่ไม่อาจควบคุม

ยิ่งกว่านั้น “กลไก” การค้าขายสัตว์น้ำที่นี่ต้องทำผ่าน “คนกลาง”  ทำให้ถูกกดราคา และเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นก็ต้องยอมรับสภาพ โดยไม่สามารถไปเจรจาต่อรองตามระบบการแข่งขันทางการตลาดใดๆ ได้

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ ทำให้น้ำพักน้ำแรงของชาวบ้านที่ทุ่มเททำงานอย่างหนัก ต้องล่องเรือหาปลาตั้งแต่เช้ามืด  กลับได้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินเล็กน้อย เพียงพอแค่ซื้อของใช้ในแต่ละวันเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์แก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารและรายได้ให้กับชุมชนอ่าวบ้านดอน”  การหาทางออกด้วยองค์ความรู้การถนอมอาหารทะเล เพื่อแก้ปัญหาความไม่แน่นอน ของฐานทรัพยากร ที่เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนของชาวบ้านได้ 

 

สร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานทรัพยากรที่มี

กลุ่มเป้าหมายของโครงนี้คือ  50 คน  ประกอบไปด้วย แรงงานนอกระบบอย่างประมงพื้นบ้าน คนว่างงาน ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้สูงอายุ

“กลุ่มที่เราไปเจอเป็นชาวประมงพื้นบ้านที่ไม่มีเงิน เพราะมีบางช่วงที่เขาหาเงินไม่ได้หรือหาได้ จับมาก็เอาไปขายก็ได้เงินนิดหนึ่งซื้อของอย่างหนึ่งก็หมดแล้ว บางคนจะส่งลูกเรียนยังยากลำบากเลย หรืออย่างบางคนเป็นคนว่างงาน เป็นแม่บ้าน รอสามีออกเรือกลับมา เอาของที่ได้ไปขายก็จบ เราก็เลยคิดว่าตัวผลิตภัณฑ์ถ้าแปรรูปมันจะสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น” อ.มโนลี ศรีเปารยะ เพ็ญพงษ์ มหาวิทยาลัยสุราษฎร์ธานี ผู้รับผิดชอบโครงการ บอกเล่าถึงที่มาโครงการ

 

ปรับรสชาติให้ถูกปากเป็นมาตรฐานเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนในชุมชนจะมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปอาหารทะเลอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่พบคือ สูตรของการแปรรูปไม่มีมาตรฐานที่ตายตัว ทำให้การแปรรูปแต่ละครั้งรสชาติแตกต่างกันไม่คงที่  การแก้ปัญหาคือการเข้าไปคิดค้น ปรับปรุงสูตรให้มีความเป็นมาตรฐาน และทำให้ถูกปากผู้บริโภคให้มากขึ้น

โดยเมนูที่ผู้เข้าร่วมโครงการตั้งใจที่จำแปรรูปนั้น ประกอบไปด้วย ปูจ๋า น้ำพริกปู ปลาตากแห้ง แต่ทว่ากระบวนการผลิตกำลังจะเริ่มขึ้น กลับเจอกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ก่อน ซึ่งคาดว่าในช่วงเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคมจะสามารถวางขายผลิตภัณฑ์นี้ได้

 

ปรับดีไซน์บรรจุภัณฑ์ดึงกลุ่มลูกค้าออนไลน์

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ทางโครงการกำลังเดินหน้าพัฒนาคือ  คือ “ช่องทาง” การขาย ที่จะต้องพยายามผลักดันให้ขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ได้ ซึ่งการที่จะดึงดูดกลุ่มลูกค้าได้นั้น บรรจุภัณฑ์จะต้องมีความน่าสนใจ โดยทั้งการพัฒนาการแปรรูป และ ออกแบบบรรจุภัณฑ์นั้น ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี รวมถึงผู้มีความรู้ในท้องถิ่น

“ตั้งเป้าว่าอย่างน้อยต้องขายผ่าน Shopee ให้ได้ ไม่ใช่แค่เพียงขายผ่านเฟซบุ้กเท่านั้น ส่วนทุนที่ได้มาเราจะนำไปซื้ออุปกรณ์ และเครื่องทำบรรจุภัณฑ์ เช่น เครื่องซีล  ตัวทำ packaging เพราะวัตถุดิบการผลิต เขามีต้นทุนทางธรรมชาติอยู่แล้ว หรือถ้าใครอยากจะต่อยอดให้เป็นธุรกิจของตัวเองต่อไปก็ได้ ”

นอกจากนี้จะยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยการขอเครื่องหมาย อย. เพื่อรับรองคุณภาพสินค้า กับอุตสาหกรรมจังหวัดด้วย

 

แรงบันดาลใจสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แม้ว่าจะยังไม่ได้ลงมือในภาคปฏิบัติ แต่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้เข้าอบรมทางวิชาการแล้วหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น  การอบรมให้คิดต้นทุนสินค้าตามหลักเศรษฐศาสตร์ และ เศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการจัดทำบัญชีครัวเรือน

“เขาตั้งใจจริงๆเราสัมผัสได้ อย่างตอนเรียนบัญชีครัวเรือน เขาไม่รู้จริงๆว่าบัญชีครัวเรือนอย่างไร และทำไมต้องทำ แต่พอเขาทำบัญชีครัวเรือนได้ เขาก็แฮปปี้ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จากแรงงานบันดาลใจที่เราสร้างให้กับเขา แนวคิด ทัศนคติของเขาเปลี่ยนในทางที่ดี คนกลุ่มนี้เขาพร้อมที่พัฒนาชีวิตของตัวเอง แต่ที่ผ่านมาไม่มีโอกาส”

 

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค