อีกก้าวของการเปิดโลกสายอาชีพหลังวิทยาลัยชุมชนสตูล จังหวัดสตูล จับมือวิทยาลัยชุมชนลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ในด้านการศึกษาและการฝึกอบรม เดินหน้าโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การจัดการศึกษา ระหว่างกันซึ่งบริบทด้านสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึง รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สาขาวิชาการท่องเที่ยว ได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์จากวิทยาลัยชุมชนลังกาวี
สำหรับวิทยาลัยชุมชนลังกาวี ถือว่ามีมาตรฐานหลักสูตรการเรียนการสอนและการฝึกงานระดับสูงในสาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม ด้วยความเป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของภูมิภาค และเป็นเครือข่ายพันธมิตรกับโรงแรมระดับโลกหลายแห่ง จึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่จะได้ต่อยอดด้านความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งยังเป็นช่องทางในการสร้างงานสร้างอาชีพเมื่อสำเร็จการศึกษาในอนาคต
ผศ.ดร.วรรณดี สุธาพาณิชย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสตูล กล่าวถึงโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างสองวิทยาลัยชุมชนว่า ทางวิทยาลัยชุมชนสตูล และวิทยาลัยชุมชนลังกาวี ได้มีการพูดคุยจนเกิดข้อตกลงร่วมกันในด้านของการดูงานและจัดการศึกษาจนมาถึงในปีการศึกษา 2562 จึงได้เริ่มต้นโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร โดยทางวิทยาลัยชุมชนลังกาวีจะส่งนักศึกษาและคณะครูมาที่วิทยาลัยชุมชนสตูลก่อนในช่วงเดือนมกราคม 2563 จากนั้นวิทยาลัยชุมชนสตูลจะส่งนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรอนุปริญญา สาขาวิชาการท่องเที่ยว เข้าไปฝึกฝนเรียนรู้งานที่วิทยาลัยชุมชนลังกาวี เป็นเวลา 10 วัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563
(ขวามือ) ผศ.ดร.วรรณดี สุธาพาณิชย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสตูล
“เราตกลงว่าจะมีการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับวิทยาลัยชุมชนลังกาวี ปีละ 1 ครั้ง และในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นครั้งแรกซึ่งถือเป็นการเริ่มต้น เราจึงจัดหลักสูตรคล้ายการเรียนรู้ระยะสั้นเป็นเวลา 10 วันก่อน จากนั้นจึงกลับมาประเมินผลในภาพรวม ก่อนที่ในปีถัด ๆ ไปเราจะเพิ่มระยะเวลาการเรียนรู้นานขึ้น” ผศ.ดร.วรรณดี ระบุ
นอกจากเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านภาษา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตที่สตูลและลังกาวีมีทั้งความคล้ายและแตกต่าง ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นหัวใจหลักที่ต้องเรียนรู้ของการทำงานด้านบริการ เป้าหมายสำคัญของเราคือการมอบโอกาสให้นักศึกษาทุนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ได้เข้าไปเรียนรู้งานในวิทยาลัยชุมชนที่มีหลักสูตรการฝึกสอนและสถานที่รองรับนักศึกษาในสาขาเกี่ยวกับการบริการด้วยมาตรฐานระดับสูง
“ความที่เกาะลังกาวีเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และมีการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนมีทักษะด้านงานบริการเพื่อนำความรู้ความสามารถมาพัฒนาเมืองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ทางวิทยาลัยชุมชนลังกาวีจึงได้สร้างศูนย์ฝึกนักศึกษาขนาดใหญ่ขึ้นภายในวิทยาลัย มีส่วนที่เป็นโรงแรมจริง ๆ สำหรับผู้เรียนด้านงานบริการที่ครบวงจร อาทิ งานด้านอาหาร การต้อนรับ การจัดการด้านซักรีด งานพับผ้าบนโต๊ะอาหาร การปูเตียง การดูแลห้องอาหาร รวมถึงงานด้านการบริหารจัดการโครงสร้างงานบริการ ซึ่งครอบคลุมทุกทักษะที่ควรมีของผู้เรียนสาขาด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมทั้งหมด” ผศ.ดร.วรรณดี กล่าว
ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสตูล กล่าวต่อไปว่า ทางวิทยาลัยมองว่าการจะส่งเสริมให้นักศึกษาทุนฯ สาขาการท่องเที่ยวสามารถเข้าใจกระบวนการทำงานด้านบริการได้รอบด้าน เราต้องผลักดันให้เขามีประสบการณ์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงานด้านการท่องเที่ยว เขาจะได้ไปทำงานจริงในโรงแรมชั้นนำ ได้พบเจอผู้คนที่แตกต่างทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม หรือวิถีชีวิต ได้ฝึกฝนงานบริการกับนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายจากทั่วโลก นั่นคือสิ่งที่เป็นเหมือนบทเรียนพิเศษซึ่งเขาต้องเรียนรู้ ทั้งยังเป็นโอกาสดีที่อาจหมายถึงการได้ไปทำงานในต่างแดนในอนาคต
“โครงการนี้นอกจากเด็กจะได้ไปศึกษาเรียนรู้จากการทำงานจริงแล้ว เมื่อกลับมาเขาจะได้รับเกียรติบัตร แล้วเรายังมองต่อเนื่องถึงโอกาสในอนาคตของเขา ซึ่งเขาอาจจะได้รับสิทธิ์ในการทำงานที่ลังกาวี หรือโรงแรมชั้นนำอื่น ๆ ที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรกับวิทยาลัยชุมชนลังกาวีอีกด้วย” ผศ.ดร.วรรณดี กล่าวย้ำ
ผศ.ดร.วรรณดี ระบุถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับตัวนักศึกษาต่อโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับวิทยาลัยชุมชนลังกาวี ว่าสิ่งที่เราอยากให้เด็กได้รับประการแรก คือให้เขาได้มีทักษะจากการปฏิบัติจริงในงานด้านการท่องเที่ยวที่ครบวงจร ซึ่งเมื่อเรียนจบสิ่งที่เรียนรู้จะสามารถแตกแขนงออกไปได้ในหลากสาขาอาชีพ ตั้งแต่การต้อนรับ การโรงแรม การขายทัวร์ การนำเที่ยว ซึ่งอยู่ในองคาพยพของการท่องเที่ยว ประการที่สอง เขาจะได้ฝึกภาษา ได้นำไปใช้จริง เพราะการออกไปเรียนรู้ในต่างถิ่นเขาต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเรียนรู้
ประการที่สาม เขาจะได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในโรงแรมชั้นนำของลังกาวี โดยเฉพาะวิทยาลัยชุมชนนี้เขาดีลกับโรงแรมชั้นนำของโลกหลายแห่ง ซึ่งเป็นโอกาสที่เด็กของเราจะได้ไปต่อในการฝึกงานในโรงแรมชั้นนำระดับโลก และประการสุดท้ายคือ ได้แลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา โดยครูของเราจะได้ไปเรียนรู้การเรียนการสอนหรือหลักสูตรที่น่าสนใจซึ่งสามารถนำกลับมาพัฒนา วชช. ของเราได้ด้วย นี่คือพื้นฐานและสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลักสูตรการเรียนการสอนที่พยายามพัฒนาต่อเนื่อง